ข่าว

ระลึก พล.อ.เปรม พระราชทานเพลิงศพ 8 ธันวาคม 2562

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ร่วมรำลึก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ บุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ที่จะยังคงได้รับการกล่าวขานต่อไปไม่สิ้นสุด

 

               ตามที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ถึงแก่อสัญกรรม เนื่องจากระบบหัวใจล้มเหลว ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม 2562 เวลา 9 นาฬิกา 9 นาที สิริอายุ 99 ปี นั้น

 

 

 

               พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศกุดั่นน้อย ฉัตรเครื่องตั้งประดับ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่กลองชนะประโคมเวลาพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และทรงรับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอด มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมเวลากลางคืน กำหนด 7 คืน ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน และในวันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานในวาระครบ 7 วัน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้บำเพ็ญพระราชกุศล 15 วัน 50 วัน และ 100 วัน และกำหนดพิธีพระราชทานเพลิงศพ วันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม 2562 ณ วัดเทพศิรินทราวาส

 

 

 

ระลึก พล.อ.เปรม พระราชทานเพลิงศพ 8 ธันวาคม 2562

 

 

 

               พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2463 ที่บ้านบ่อยาง ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา

               ชื่อ “เปรม” นั้น พระรัตนธัชมุนี (แบน คณฺฐาภรโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช เป็นผู้ตั้งให้

               ส่วนนามสกุล “ติณสูลานนท์” พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานแก่บิดาของท่าน รองอำมาตย์โทหลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) พะทำมะรง (พัศดี) เมืองสงขลา เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2462 ภายหลังบิดาของท่านได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น หลวงวินิจทัณฑกรรม ถือศักดินา 600 ไร่

               ส่วนมารดาคือ นางวินิจทัณฑกรรม (ออด ติณสูลานนท์) โดยดั้งเดิมแล้ว บิดามารดาของ พล.อ.เปรม นั้นเป็นชาวนครศรีธรรมราช ต่อมาได้มาตั้งรกรากรับราชการอยู่ที่ จ.สงขลา มีบุตรธิดา 8 คน พล.อ.เปรม เป็นบุตรคนที่ 6

 

 

 

               วัยเด็ก พล.อ.เปรม เรียนชั้นประถมถึงมัธยมต้น (ม.6) ที่ โรงเรียนมหาวชิราวุธ จ.สงขลา ต่อมาปี 2479 สอบเข้าเรียนชั้นมัธยมปลาย (ม.7 - 8) ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย แผนกวิทยาศาสตร์

               จบจากวัยขาสั้น ท่านเข้าสู่ชีวิตนักเรียนขายาวในสายทหาร ที่่โรงเรียนเท็ฆนิคทหารบก (ภายหลังรัชกาลที่ 9 พระราชทานนามใหม่ว่า โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เมื่อ พ.ศ. 2491)

               ว่ากันว่าสายทหารนั้นท่านเลือกเรียนตามคำชักชวนของเพื่อนสนิท ทั้งที่เดิมคิดอยากเป็นหมอ แต่ฐานะทางบ้านที่ทุ่มสรรพกำลังให้แก่การเล่าเรียนของลูกๆ ทั้งหมด ก็ร่อยหรอลงเรื่อยๆ จึงไม่เอื้อกับสายอาชีพนี้

               พล.อ.เปรม จึงเบนเข็มมาสายทหาร เป็นรุ่นที่ 5 ติด 1 ใน 55 คนของรุ่น จากเดิมที่ตั้งใจสังกัดทหารปืนใหญ่ แต่เมื่อเกิดสงครามพอดี เข็มจึงเปลี่ยนอีกครั้งไปที่ทหารม้า ระหว่างนั้นท่านก็ซึมซับถึงความมุ่งมาดของตนเองที่จะทำหน้าที่ให้สมกับที่เรียนมา

อ่านข่าว - 8 ปี 5 เดือน ป๋าเปรม บนถนนสายการเมือง

 

 

 

               กล่าวคือในปี 2484 ขณะเรียนชั้นปีที่ 3 ช่วงนั้นเกิดสงคราม ประเทศต้องการกำลังทหาร จึงมีนโยบายให้นักเรียนนายร้อยออกรับราชการก่อนกำหนด

               เป็นอันว่า นักเรียนรุ่นที่ 5 ของโรงเรียนนายร้อยฯ ได้ลงภาคสนามจริงและเป็นรุ่นเดียวที่ออกมาเป็นผู้บังคับหมวดตั้งแต่ยัง ติดตัว “ร” อยู่ คือยังมีสภาพเป็นนักเรียนนายร้อยกันเลยทีเดียว

               แม้เรียนไม่จบ 5 ปีตามหลักสูตร แต่ในสนามแห่งวิชาชีพกลับเต็มเปี่ยม พล.อ.เปรม ในวัย 21 ปี เริ่มรับราชการเป็นผู้บังคับหมวด ประจำกรมรถรบ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2484 ปฏิบัติหน้าที่สมรภูมิปอยเปต ในกรณีพิพาทในอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส และได้รับแต่งตั้งให้เป็น “ว่าที่ร้อยตรี” รับกระบี่ในสนามรบฝั่งปอยเปต เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2484

 

 

 

ระลึก พล.อ.เปรม พระราชทานเพลิงศพ 8 ธันวาคม 2562

 

 

 

               ต่อมาช่วงปี 2485 - 2488 เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา จึงได้รับคำสั่งเป็นกองหนุนของกองทัพพายัพ จ.ลำปาง แล้วย้ายไปขึ้นอยู่กับกองพล 3 ที่เชียงตุง จนได้เลื่อนยศเป็น “ร้อยเอก” และเป็นผู้บังคับกองร้อยที่ลพบุรี

               ที่สุด เมื่อภารกิจราชการสงครามเสร็จสิ้นลง ท่านก็เจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการตามลำดับอย่างงดงามสมศักดิ์ศรี โดยได้รับพระราชทานยศ “พันตรี” ช่วงปี 2492

               ปี 2495 สอบชิงทุนจากกองทัพบก ได้ศึกษาต่อที่ The United States Army Armor School ที่ฟอร์ทนอกซ์ มลรัฐเคนตักกี สหรัฐอเมริกา เรียนจบปี 2497 กลับมารับราชการเป็นอาจารย์ในแผนกวิชายุทธวิธี กองการศึกษา โรงเรียนยานเกราะ กองพลน้อยทหารม้า (กรุงเทพฯ) ต่อมามีการจัดตั้งโรงเรียนทหารม้ายานเกราะ ศูนย์การทหารม้า ที่ จ.สระบุรี

 

 

 

               ปี 2511 ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า ยศพลตรี และช่วงนี้เองที่ว่ากันว่า ฉายา “ป๋าเปรม” ได้เกิดขึ้น เนื่องจากท่านมักเรียกแทนตัวเองต่อผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าว่า “ป๋า” และเรียกผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าอย่างเอ็นดูว่า “ลูก”

               ในปี 2516 ย้ายไปเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 ดูแลพื้นที่ภาคอีสาน และเลื่อนเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 เมื่อปี 2517 ต่อมาได้เลื่อนยศเป็นพลเอก ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เมื่อปี 2520 และเลื่อนเป็นผู้บัญชาการทหารบก ในปี 2521 ทั้งยังปฏิบัติหน้าที่รองผู้อำนวยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ทั่วไปฝ่ายทหาร

               จนกระทั่งเกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2524 ในวัย 61 ปี เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีได้ต่ออายุราชการให้อีก 1 ปี จากปี 2523

อ่านข่าว - คำสั่ง 66/2523 ป๋าเปรม คิด จิ๋ว ทำ

 

 

 

               40 ปี ในชีวิตราชการทหาร คาบเกี่ยวกับที่ได้ใช้ชีวิตบนถนนการเมืองนับจากวันที่ 3 มีนาคม 2523 เมื่อพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 16 ของประเทศไทย

               พล.อ.เปรม ดำรงตำแหน่งนายกฯ จนถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2531 เป็นนายกฯ 3 สมัยภายในเวลา 8 ปี 5 เดือน มี ครม. 5 ชุด สิ่งนี้ย่อมสะท้อนความไม่ธรรมดาในทางการเมืองไทย

               หากที่ผ่านมา รัฐบุรุษผู้นี้ได้รับการยกย่องว่ามีผลงานสำคัญในช่วงที่บริหารประเทศ ทั้งนำพาประเทศฝ่าฟันวิกฤติเศรษฐกิจมาได้โดยใช้นโยบาย “นิยมไทย” หรือการใช้ “การเมืองนำการทหาร” ตามคำสั่ง 66/2523 ในวิกฤติการเมือง ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอ่อนกำลังในที่สุด ขณะที่เหล่านักศึกษาที่หลบหนีเข้าป่าก็ได้กลับบ้าน

 

 

 

ระลึก พล.อ.เปรม พระราชทานเพลิงศพ 8 ธันวาคม 2562

 

 

 

               ที่สุด หลังจากท่านปฏิเสธการรับตำแหน่งนายกฯ อีกสมัย ต่อมาในวันที่่ 23 สิงหาคม 2531 ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี อันเป็นตำแหน่งที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ และตามมาด้วยการยกย่องเป็น “รัฐบุรุษ” ในปีเดียวกัน

               ระหว่างนั้นท่านยังมีบทบาทในการแก้ไขวิกฤติการเมืองปี 2535 โดยท่านและสัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี ได้นำ พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกฯ และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 เพื่อคลี่คลายสถานการณ์

               จนเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2541 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นประธานองคมนตรีในสมัยรัชกาลที่ 9 จนถึง วันที่ 13 ตุลาคม 2559

 

 

 

               จากนั้นดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว) ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม - 1 ธันวาคม 2559 และดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี ในสมัยรัชกาลที่ 10 ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2559 ถึงปัจจุบัน

               กระทั่งในวันที่ 26 พฤษภาคม 2562 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบ ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในวัย 98 ปี

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ