ข่าว

ปธ.ศาลฎีกา-ยธ.เห็นพ้องใช้ EM แก้นักโทษล้นคุก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"สมศักดิ์"เผยหลังนำทีมผู้บริหารยธ. แลกเปลี่ยนข้อมูลการทำงานปธ.ศาลฎีกาคนใหม่ เห็นพ้องใช้กำไล EM ลดปัญหานักโทษล้นคุก แยกผู้เสพออกมาบำบัดไม่ใช่จับขัง


 

 

              “สมศักดิ์”เผยหลังนำทีมผู้บริหารยธ. แลกเปลี่ยนข้อมูลการทำงานปธ.ศาลฎีกาคนใหม่ เห็นพ้องใช้กำไล EM ลดปัญหานักโทษล้นคุก แยกผู้เสพออกมาบำบัดไม่ใช่จับขัง ส่วนสถานการณ์จังหวัดชายแดนแนะออกหมายจับ-ค้นให้ไว ช่วยเซฟเจ้าหน้าที่


 

            30 พ.ย.2562-นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยภายหลังนำคณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม เข้าเยี่ยมคารวะ นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ในโอกาสที่เข้ารับตำแหน่งประธานศาลฎีกา ว่า ตนได้พูดคุยเพื่อประสานความร่วมมือด้านกระบวนการยุติธรรมระหว่าง 2 หน่วยงาน ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันตามธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติ ที่เมื่อมีการเข้ารับตำแหน่งประธานศาลฎีกาคนใหม่ทางรัฐมนตรีจะเข้าไปแสดงความยินดีและแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการทำงานร่วมกันในฐานะฝ่ายบริหารกับฝ่ายตุลาการ ทางประธานศาลฎีกา

 

 

 

 

 

ปธ.ศาลฎีกา-ยธ.เห็นพ้องใช้ EM แก้นักโทษล้นคุก

 

              ได้พูดถึงการใช้อุปกรณ์ควบคุมตัวอิเล็กทรินิกส์ หรือกำไล EM กับผู้ต้องขังเพื่อลดปัญหาความแออัดในเรือนจำ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงยุติธรรม ส่วนเรื่องสเป็คนั้น​ ทางศาลจะกำหนดตามมาตรฐานที่ทั่วโลกใช้กัน นอกจากนี้ประธานศาลฎีกายังให้ความเห็นถึงปัญหานักโทษยาเสพติดที่เป็นผู้เสพว่า คนติดยาคือผู้ป่วย ควรนำมารักษาแบบจริงจังดีกว่าปล่อยให้อยู่ในเรือนจำ ซึ่งไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ควรจะเป็น ดังนั้นควรหาวิธีการในการบำบัดผู้ป่วยเหล่านั้นให้เลิกยาและไม่กลับไปเสพอีกไม่ใช่การจับไปขังในเรือนจำ


 

ปธ.ศาลฎีกา-ยธ.เห็นพ้องใช้ EM แก้นักโทษล้นคุก

 

              นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ประธานศาลยังได้หารือเรื่องการพิจารณาการปล่อยตัวผู้ต้องหาชั่วคราวหรือการประกันตัวในวันหยุด ทางประธานศาลได้ให้แนวนโยบายว่า ในวันหยุดราชการควรที่จะปล่อยตัวชั่วคราวได้ เพราะจะทำให้ภาระไม่ไปตกกับกรมราชทัณฑ์ เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการลดปัญหาความแออัดในเรือนจำได้ และยังมีการหารือเกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยในเรือนจำให้มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น ผู้คุมจะต้องมีความเข้มงวดในการควบคุมผู้ต้องหา ไม่ให้เกิดเหตุชิงตัวนักโทษ รวมทั้งการทำงานร่วมกันระหว่างตำรวจ เจ้าหน้าที่กระทรวงและเจ้าหน้าที่ตำรวจศาล บูรณาการร่วมกัน ในการรักษาความปลอดภัย ไม่ให้เกิดเหตุรุนแรงและอันตรายเหมือนที่ผ่านมา

 




              “ประธานศาลฎีกาและทีมผู้บริหารกระทรวงยุติธรรมยังได้หารือถึงสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ในการออกหมายจับหรือหมายค้น อยากให้เน้นย้ำไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ ให้ขออกหมายด้วยความรวดเร็ว เพราะพื้นที่ดังกล่าวมีความอันตรายและมีความเสี่ยงมาก ดังนั้นจะทำอะไรต้องรวดเร็วเพื่อประสิทธิภาพในการทำงานและความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่” นายสมศักดิ์กล่าว

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ