ข่าว

ชุมชนเข้มแข็งทางรอดระบบสุขภาพในอนาคต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วงเสวนา ประชาชนสุขภาพดี ภาคีมีสุข เห็นพ้องปฐมภูมิ บริการสุขภาพชุมชนเข้มแข็ง ทางรอดระบบสุขภาพอนาคต

 

23 พฤศจิกายน 2562 "ประชาชนสุขภาพดี: ภาคีมีสุข" เป็นหัวข้อเรื่องที่ถูกอภิปราย ในการประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2563 ซึ่งจัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  

 

นั่นเพราะความหวังของการผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้มีความยั่งยืน นอกจากประชาชนจะสามารถเข้าถึงและได้รับบริการด้วยความมั่นใจแล้ว ผู้ให้บริการยังจะต้องได้รับความสุขจากการทำงาน รวมถึงภาระงานต่างๆ ที่น้อยลง

 

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. ระบุว่า แม้คำว่าประชาชนสุขภาพดีจะดูเป็นนามธรรม และอาจได้รับคำตอบที่แตกต่างกันว่าการพัฒนาจนถึงวันนี้สุขภาพประชาชนดีแล้วหรือยัง แต่ในเชิงรูปธรรมนั้นมีสิ่งที่ประจักษ์ให้เห็น ไม่ว่าเรื่องของอายุขัยเฉลี่ย การได้รับวัคซีน หรืออัตราการตายต่างๆ เป็นตัวชี้วัดที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนไทยมีสุขภาพดีขึ้น

 

ส่วนภาคีมีความสุขหรือไม่นั้น หากดูจากผลสำรวจเมื่อไม่นานมานี้ก็พบว่าประชาชนกว่า 97-98% มีความพึงพอใจที่ได้รับประโยชน์จากระบบด้านสุขภาพ เช่นเดียวกับภาคีอื่นๆ ที่สูงขึ้นอย่างชัดเจนเป็น 89% รวมถึงผู้ให้บริการเองที่ขึ้นเป็น 75% ด้วยเช่นเดียวกัน

 

หนึ่งในนโยบายที่ได้มีการเขียนไว้ถึง "หลักประกันทางสังคม" นพ.ศักดิ์ชัย ระบุว่าเป็นสิ่งที่จะต้องตีความและมองต่อไปในอนาคต เพราะมิติทางสุขภาพหลังจากนี้จะต้องมองให้ครบถึงมิติทางสังคม ซึ่งสังคมในอนาคตเรากำลังจะต้องเตรียมรองรับ คือสังคมสูงวัยภายใต้เทคโนโลยี disruptive

 

 

ชุมชนเข้มแข็งทางรอดระบบสุขภาพในอนาคต

 

 

เลขาธิการ สปสช. ฉายภาพสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงภายใต้สังคมนี้ อันดับแรกคือโครงสร้างประชากร ที่ผู้สูงอายุมากขึ้น เด็กลดลง มีเด็กที่เกิดจากความไม่พร้อม เด็กที่อีคิวต่ำกว่ามาตรฐาน และเมื่อคนกลุ่มนี้จะโตเป็นคนทำงานในอนาคต ประเทศจะเผชิญกับแรงงานที่ลดน้อยลง แรงงานที่ไร้คุณภาพ หรือลักษณะของแรงงานที่จะไม่เข้าระบบแต่ทำงานอิสระมากขึ้น

 

ขณะเดียวกันภายใต้เทคโนโลยี disruptive ที่ข้อมูลข่าวสารรวดเร็ว หากประชาชนไม่มีความเท่าทันในการรับสารไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหารการกิน สุขภาพต่างๆ หรือข่าวสารที่ทำให้เผชิญหน้ากับผู้ให้บริการ รวมไปถึงลักษณะของโรคที่เปลี่ยนแปลงไป จากอดีตโรงพยาบาลสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับรูปแบบของโรคที่เป็นเฉียบพลัน (acute) ปัจจุบันลักษณะเป็นโรคเรื้อรัง (chronic) ที่ต้องอาศัยการดูแลมากขึ้น ฉะนั้นระบบบริการแบบเก่าจะรองรับได้หรือไม่

 

 

"คำถามคือทำอย่างไร ยังเป็นเรื่องน่าหนักใจพอสมควรว่าเราจะเตรียมอะไร ขณะนี้เรามีระบบรองรับอย่างไรบ้าง ยังคงเป็นโปรเจค แผนงาน หรือยุทธศาสตร์อยู่หรือไม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ในระดับกระทรวง หรือ สปสช. ก็ได้มีการพูดคุยกับฝ่ายการเมือง เพื่อจำลองภาพอนาคตระบบบริการที่ควรจะเป็น เพิ่มเติมจากระบบที่มีอยู่" นพ.ศักดิ์ชัย ระบุ

 

ทั้งนี้ นพ.ศักดิ์ชัย ได้กล่าวถึงข้อเสนอสำคัญ 2 เรื่องที่จะต้องเกิดขึ้นหลังจากนี้ คือระบบปฐมภูมิ ที่จะต้องสร้างฐานให้เข้มแข็ง และอีกส่วนคือระบบสุขภาพชุมชน เนื่องจากรูปแบบของโรคในอนาคตคือโรคที่เกิดจากพฤติกรรม ไม่ใช่เชื้อโรคหรือการติดเชื้อ ซึ่งโรคจากพฤติกรรมนั้นไม่ได้อาศัยเรื่องทางสุขภาพ แต่อาศัยเรื่องทางสังคม

 

 

ชุมชนเข้มแข็งทางรอดระบบสุขภาพในอนาคต

 

 

"เรื่องพฤติกรรมใครควรจะต้องดูแล รัฐบาลคงไปดูแลไม่ถึง ฉะนั้นผู้ที่จะช่วยได้คือท้องถิ่น ระบบบริการสุขภาพชุมชนจะเป็นอีกคำตอบในการเสริมระบบให้มีความแข็งแกร่ง สามารถทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งทั้งหมดจะเดินไปได้คงไม่ใช่คนเดียว หรือหน่วยงานใดหน่วยงานเดียว แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องช่วยกันทำวันนี้" นพ.ศักดิ์ชัย สรุป

 

สอดคล้องกับ นพ.พิทักษ์พล บุณยมาลิก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เขต 11 ที่มองว่าเป็นเรื่องสำคัญ และต้องยกเป็นทศวรรษของระบบปฐมภูมิ นั่นเพราะปัญหาสำคัญของระบบสุขภาพคือ ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จในการรักษามากกว่าการป้องกัน มุ่งเน้นระบบการรักษาเฉพาะทาง หมออยู่ตามโรงพยาบาลขนาดใหญ่แต่ไม่มีใครอยากไปอยู่โรงพยาบาลชุมชน จึงขาดการดูแลแบบปฐมภูมิ

 

"กลไกหรือยุทธศาสตร์ตรงนี้ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันทำงาน ในอนาคตประชาชนเองก็ต้องเปลี่ยนความคิด เจ็บป่วยเล็กน้อยเลิกไปหาหมอ แต่เรามีหมอครอบครัว มีหมอประจำบ้าน ที่สามารถดูแลได้ ถ้าเปลี่ยนระบบไปแบบนี้ค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็จะลดลงไปอีกมาก อันนี้จะเป็นทางรอด เพราะเชื่อว่าในอนาคตเราจะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากสังคมผู้สูงอายุอีกเยอะ" นพ.พิทักษ์พล ระบุ

 

เขาระบุว่า สิ่งที่พิสูจน์ได้ว่าการรักษาในโรงพยาบาล โดยเฉพาะด้านเฉพาะทางจะประสบความสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากปฐมภูมิและท้องถิ่น เช่นตัวอย่างของเขตสุขภาพที่ 11 ซึ่งพบว่าเคสคนไข้ที่เป็นสโตรกมักเสียชีวิตก่อนมาโรงพยาบาล เนื่องจากเป็นอาการหนัก รวมถึงส่วนของครอบครัวหรือชุมชนนั้นขาดความรู้ว่าจะต้องเร่งรีบอย่างไร แต่เมื่อมีการให้ความรู้ มีความร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่น ทำให้ประสิทธิภาพของการดูแลดีขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ลดลงอย่างชัดเจน

 

 

ชุมชนเข้มแข็งทางรอดระบบสุขภาพในอนาคต

 

 

นพ.พิทักษ์พล ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการบูรณาการทำงานด้านสุขภาพกับภาคสังคม ในประเด็นที่งบประมาณการดูแลด้านสุขภาพนั้นมีจำกัด ซึ่งความจริงในส่วนของการดูแลชุมชนยังสามารถใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามาร่วมด้วย

 

ในส่วนของ นพ.สําเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มองเช่นกันว่าสิ่งที่ประเทศไทยยังขาดคือระบบปฐมภูมิ แต่ปัญหาที่ยังต้องสะท้อนอีก 3 เรื่อง อันดับแรกคือเรื่องเงินกองทุนค้างท่อ ที่จะให้ท้องถิ่นและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมขอกันมากขึ้นได้อย่างไร ซึ่งในส่วนของระเบียบนั้นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้เปิดกว้างขึ้นแล้ว โดยระบุว่าจะดูจากความตั้งใจและเป้าหมายมากกว่ารายละเอียดเล็กน้อย

 

ถัดมาคือการร่วมประสานกับหน่วยงานอื่น โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย ซึ่งควรจะต้องมีการใช้การดำเนินงานของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ให้เป็นประโยชน์ ในการร่วมแก้ไขปัญหาต่างๆ

 

สุดท้ายคือเรื่องของความแออัดในโรงพยาบาล ซึ่งความแออัดเรื่องเดียวเป็นสิ่งที่ยังสะท้อนให้เห็นอีกหลายปัญหา ตั้งแต่ความล้มเหลวของระบบการส่งต่อ การเข้าถึงโรงพยาบาลขนาดใหญ่อย่างไม่ปิดกั้น ทำให้ผู้ที่ทำงานเองก็ไม่สบายใจ รวมถึงคนไข้ก็เสียเวลาเดินทาง เสี่ยงติดเชื้อต่างๆ ดังนั้นการลดความแออัดจึงเป็นหน้าที่ของทุกคน

 

 

ชุมชนเข้มแข็งทางรอดระบบสุขภาพในอนาคต

 

 

"เรามีการเอาคนไข้ออกไปรับยาข้างนอกแล้ว ในส่วนของการทำฟันจะเอาไปอยู่ข้างนอกด้วยได้หรือไม่ การรักษารากฟันบางครั้งรอคิว 1-2 ปี เราจะประสานเอกชนช่วยตรงนี้ได้หรือไม่ รวมถึงจุดสำคัญที่ยั่งยืนในการลดความแออัดก็คือระบบปฐมภูมิ สร้าง รพ.สต. ให้เข้มแข็ง ทำให้เกิด Extended OPD ในทุกแห่ง ก็จะช่วยลดความแออัดที่โรงพยาบาลจังหวัด คนไข้เองปลอดโปร่ง คนทำงานก็มีความสุข" นพ.สำเริง ระบุ

 

ด้าน น.ส.สุนทรี เซ่งกิ่ง กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในกฎหมายระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของไทย มีการออกแบบมาแล้วตั้งแต่ต้นว่าประชาชนไม่เป็นเพียงผู้รับบริการเท่านั้น แต่ยังยกฐานะให้ร่วมเป็นเจ้าของระบบผ่านกิจกรรมหลายอย่าง ทั้งการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบาย มีตัวแทนภาคประชาชนอยู่ในบอร์ดต่างๆ ทั้งยังมีส่วนร่วมในการควบคุมคุณภาพ มาตรฐานการบริการ และเรื่องการคุ้มครองสิทธิ

 

"ที่สำคัญอีกอย่างแม้จะไม่ได้เขียนไว้ชัดเจนโดยตรง คือความคิดเรื่องประชาชนกับการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ประชาชนต้องตระหนักเรื่องดูแลสุขภาพของตัวเอง ไม่รอให้เจ็บป่วยไปโรงพยาบาล ซึ่งประชาชนมีศักยภาพที่จะทำ แต่ยังเห็นว่าเป็นเรื่องยากอยู่นับตั้งแต่มีระบบหลักประกันสุขภาพขึ้นมา เป็นเรื่องที่ต้องเปลี่ยนกระบวนคิด กระบวนทัศน์ ทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ" 

 

น.ส.สุนทรี กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาอาจมีเสียงจากบุคลากรด้านสาธารณสุข ที่มักมองว่าประชาชนไม่ดูแลสุขภาพ ใช้ชีวิตไม่รับผิดชอบ เมื่อป่วยแล้วก็จะมารักษาฟรี เลยยิ่งไม่ใส่ใจสุขภาพ ซึ่งช่วงหลังอาจได้ยินเสียงเหล่านี้น้อยลง เมื่อกระแสการดูแลสุขภาพนั้นมีรูปธรรมมากขึ้น ประชาชนตื่นตัวมากขึ้นทั้งเรื่องการออกกำลังกาย การกิน หรือการรณรงค์ด้านต่างๆ เช่น แบนสารเคมีอันตราย

 

 

ชุมชนเข้มแข็งทางรอดระบบสุขภาพในอนาคต

 

 

ทั้งนี้ แม้จะเห็นว่ารูปธรรมในปัจจุบันนั้นขัดแย้งกับความคิดเดิม เพราะประชาชนมีความใส่ใจเรื่องสุขภาพและการป้องกันโรคมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเป็นที่ประจักษ์ แต่คำถามคือขณะนี้ระบบของเราเพียงพอที่จะรองรับความตื่นตัว ศักยภาพของประชาชนในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคมากน้อยเพียงใด เพราะจะเห็นว่ายังมีอีกหลายเรื่องเป็นข้อจำกัด

 

"อย่างการเข้าถึงกองทุน แม้จะออกแบบให้ประชาชนเข้ามาใช้เพื่อส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค แต่กลับมีข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องของแนวคิดไม่เชื่อว่าประชาชนจะทำได้ ทำให้หลายครั้งเวลาเขียนโครงการขอแล้วอาจไม่ได้รับการอนุมัติสนับสนุน ซึ่งความจริงถ้าไปดูจะเห็นว่าโครงการในส่วนของประชาชนที่ได้ไป เป็นโครงการที่ทำงานได้ครอบคลุมกว้างขวาง มากกว่าที่จะรอให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำเท่านั้น" น.ส.สุนทรี ระบุ

 

 

 


 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ