ข่าว

ยธ.รับฟังความเห็นร่างพ.ร.บ.ปราบแชร์ลูกโซ่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ยธ.โดยกรมคุ้มครองสิทธิฯเปิดรับฟังความเห็นชาวโคราช ยกร่างพ.ร.บ.ปราบแชร์ลูกโซ่

          เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 22 พฤศจิกายน ณ โรงแรมดิ อิมพิเรียล โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โคราช อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นการยกร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่ พ.ศ. .... โดยมี นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นผู้กล่าวรายงาน และได้รับเกียรติจาก  นางปิยะฉัตร อินสว่าง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วม

          สืบเนื่องจากกระทรวงยุติธรรมได้รับเรื่องร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมจากประชาชนกรณีถูกหลอกลวงเป็นเหตุให้สูญเสียทรัพย์สินจากการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่จำนวนมาก ประกอบกับประชาชนขอความสนับสนุนจากกระทรวงยุติธรรมให้ผลักดันร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่ พ.ศ. .... ที่จัดทำขึ้นโดยภาคประชาชน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการรวบรวมรายชื่อประชาชนไม่น้อยกว่า 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอกฎหมาย 

ยธ.รับฟังความเห็นร่างพ.ร.บ.ปราบแชร์ลูกโซ่

          กระทรวงยุติธรรม ซึ่งได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว ทั้งเป็นเรื่องเร่งด่วนของรัฐบาลที่ได้แถลงนโยบายของท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา คือการแก้ปัญหาการฉ้อโกงประชาชน การลดความเหลื่อมล้ำ การแก้ปัญหาความยากจน ดังนั้น นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จึงมอบหมายให้ นายสามารถ พร้อมกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สำนักงานกิจการยุติธรรม หารือร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อศึกษาแนวทางมาตรการป้องกัน ปราบปราม และช่วยเหลือประชาชนผู้ตกเป็นผู้เสียหายจากการถูกหลอกลวงในความผิดลักษณะแชร์ลูกโซ่ ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่ พ.ศ. .... 

ยธ.รับฟังความเห็นร่างพ.ร.บ.ปราบแชร์ลูกโซ่

          โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฯ ประกอบด้วยการกำหนดองค์ประกอบการกระทำในลักษณะแชร์ลูกโซ่มาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทำอันมีลักษณะแชร์ลูกโซ่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่ การจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนช่วยเหลือแชร์ลูกโซ่และการจัดตั้งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอันมีลักษณะแชร์ลูกโซ่และบทกำหนดโทษ 

ยธ.รับฟังความเห็นร่างพ.ร.บ.ปราบแชร์ลูกโซ่

          ทั้งนี้ ในการจัดทำร่างกฎหมายนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 77 วรรคสอง บัญญัติว่าก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน ก่อนนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จึงได้จัดการประชุมในครั้งนี้ขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญในการส่งเสริมป้องกัน คุ้มครอง ปราบปราม และช่วยเหลือเยียวยาแก่ประชาชนผู้ตกเป็นผู้เสียหายจากการถูกหลอกลวงในความผิดลักษณะแชร์ลูกโซ่ 

ยธ.รับฟังความเห็นร่างพ.ร.บ.ปราบแชร์ลูกโซ่

          อีกทั้งเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยมีการกำหนดจัดรับฟังความคิดเห็นทั้งหมด 5 พื้นที่ ๆ ละ 100 คนได้แก่ จังหวัดชลบุรี จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดชัยภูมิจังหวัดพิจิตร และจังหวัดสงขลา ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน นักวิชาการอิสระและกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย ฯลฯ รวมจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 500 คน

          อย่างไรก็ตาม จากการเปิดรับฟังความคิดเห็น สามารถสรุปสภาพปัญหาและอุปสรรคในการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่ อาทิ กฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบันมีความล้าสมัย ไม่เอื้ออำนวยในการปฏิบัติงาน ขาดกลไกคุ้มครองเจ้าหน้าที่หรือประชาชนในการถูกผู้ต้องหาฟ้องร้องดำเนินคดี กรณีที่เข้าตรวจสอบ จับกุม หรือแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดของผู้ต้องหา ขาดระบบตรวจสอบแจ้งเตือนการลงทุน หรือการซื้อขายเงินตรา หรือการถูกหลอกลวงจากการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึง ประชาชนขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่ ขาดหน่วยงานกลางในการบูรณาการป้องกัน ปราบปราม และช่วยเหลือประชาชนผู้ตกเป็นผู้เสียหายจากการถูกหลอกลวงในความผิดลักษณะแชร์ลูกโซ่ ฯลฯ

ยธ.รับฟังความเห็นร่างพ.ร.บ.ปราบแชร์ลูกโซ่

          นาย สามารถ กล่าวว่า ปัญหาแชร์ลูกโซ่ถือเป็นภัยความมั่นคงที่ร้ายแรง ท่านนายกรัฐมนตรี ได้มีบัญชาให้ทุกหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน เพราะเป็นภัยสังคม ทำลายความอบอุ่นในครอบครัว สร้างความแตกแยก ปลูกฝังวัฒนธรรมที่ไม่ถูกต้องให้กับสังคม สร้างความเหลื่อมล้ำ ทำลายระบบเศรษฐกิจของประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติ คือ มั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน ดังนั้นจึงต้องเร่งแก้ปัญหาแชร์ลูกโซ่ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้แก้ปัญหาแชร์ลูกโซ่แบบเร่งด่วน โดยให้ดำเนินการ 3 ระยะ ระยะแรก คือมาตรการเร่งด่วน ให้บังคับใช้กฏหมายบูรณาการทุกภาคส่วนแก้ปัญหาแชร์ลูกโซ่ ผ่านศูนย์ยุติธรรมสร้างสุข ใช้กฏหมายฟอกเงิน  ระยะกลาง ให้ความรู้กับประชาชน การออกกฏหมายปรับปรุงกฏหมาย ในระยะยาว บรรจุให้ความรู้ลงไปในระดับการศึกษา ปลูกจิตสำนึก จัดตั้งสำนักงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยเฉพาะ เป็นต้น

ยธ.รับฟังความเห็นร่างพ.ร.บ.ปราบแชร์ลูกโซ่

          ขณะเดียวกันในที่ประชุมได้มีผู้เสียหายชื่อนางสมใจ อาชีพแม่ค้า ได้ยกมือถาม ดีเอสไอ และ ปอศ. ว่า คดีของตนศาลตัดสินให้ชดใช้เงินคืนแล้ว ไปคุ้มครองสิทธิ์ ที่ปปง.แล้ว ผ่านมา 4 ปีแล้วยังไม่ได้รับเงินคืน ตนไม่ต้องการให้รัฐมาช่วยเหลือเหมือนเรื่องยางพารา เรื่องอ้อย เรื่องประกันราคาพืชผลอื่น ๆ ตนต้องการเงินตนเองคืน ตนจึงขอถามดีเอสไอ และ ปอศ.ให้ตอบประเด็นนี้

         ด้านตัวแทน ปอศ. ได้ตอบว่า ทุกอย่างต้องรอขั้นตอนของกฏหมาย ตนก็รู้สึกเห็นใจผู้เสียหาย แต่ด้วยขั้นตอนทางกฏหมายจึงต้องรอ การบังคับคดี หรือ รอทาง ปปง. ส่งให้ศาลแพ่งดำเนินการตามกฏหมายต่อไป

ยธ.รับฟังความเห็นร่างพ.ร.บ.ปราบแชร์ลูกโซ่

          นอกจากนี้ ภายหลังการเปิดรับฟังเสร็จสิ้น กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะทั้งหมดมาประมวลเพื่อประกอบการยกร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดใน ลักษณะแชร์ลูกโซ่ พ.ศ. .... ต่อไป

ยธ.รับฟังความเห็นร่างพ.ร.บ.ปราบแชร์ลูกโซ่

          ช่วงท้ายการประชุม ผู้เสียหายกว่า 50 คน ซึ่งเป็นตัวแทนผู้เสียหายกว่า 40,000 คนในจังหวัดนครราชสีมา ขอยื่นร้องทุกข์ให้ท่านนายกรัฐมนตรี ให้ช่วยเหลือเหยื่อแชร์ลูกโซ่ ทั้งคดีหลอกให้ปลูกมันญี่ปุ่น คดีหลอกให้เลี้ยงกุ้งก้ามแดง คดีแชร์ฟอเร็กซ์ คดีโอดีแคปิตอล ในจังหวัดนครราชสีมา โดยมี นายวิเชียร ไชยสอน ยุติธรรมจังหวัดนครราชสีมา ได้เข้าพูดคุยกับผู้เสียหาย พร้อมให้การช่วยเหลือตามอำนาจหน้าที่ และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เพราะผู้เสียหายคดีกุ้งก้ามแดงถูกโกงจนหมดตัว ต้องเสียค่าใช้จ่ายเดินทางมาขึ้นศาลอีก 

ยธ.รับฟังความเห็นร่างพ.ร.บ.ปราบแชร์ลูกโซ่

          กลุ่มผู้เสียหาย บอกว่า ลำบากมากจึงมาร้องทุกข์ให้ท่านนายกฯช่วยเหลือด้วย พวกตนไม่ใช่คนโลภ พวกตนถูกหลอกให้มาเลี้ยงกุ้ง พวกตนเลี้ยงกุ้ง ส่งกุ้งไม่ได้เงิน แบบนี้ตนคือคนโลภหรืออย่างไร จึงฝากให้หน่วยงานรัฐทบทวนปัญหาแชร์ลูกโซ่ด้วย เพราะทุกวันนี้พวกตนเดือดร้อนและลำบากมาก แต่โจรที่โกงพวกตนสุขสบาย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ