ข่าว

เชื่อมสัญญาณวงจรปิด 3,263 ตัว ป้อง 611 จุดเสี่ยง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กทม.แก้ไขจุดเสี่ยง 611 จุด ดูแลความปลอดภัยประชาชน ติดวงจรปิดบริเวณชุมนุมชนและจุดเสี่ยงอาชญากรรม 3,263 กล้อง

 

               กทม.บูรณาการแก้ไขจุดเสี่ยงดูแลความปลอดภัยประชาชน ประสานขอข้อมูล 611 จุดเสี่ยง จากตำรวจนครบาลและเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง เข้าสำรวจพื้นที่เพื่อแก้ไขเบื้องต้น เผยติดวงจรปิด บริเวณชุมนุมชนและจุดเสี่ยงอาชญากรรม 3,263 กล้อง เชื่อมโยงสัญญาณภาพไป บช.น. สน. และ 50 สำนักงานเขต

 

อ่านข่าว เปิดพื้นที่เสี่ยงถูกคุกคามทางเพศ

 

               กรณีเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง เปิดเผยข้อมูล 611 จุดเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภายใต้แคมเปญ First Pin “ปักหมุดจุดเผือก” ซึ่งพบลักษณะพื้นที่ที่มีคนปักหมุดจุดเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศมากที่สุด 7 อันดับ

 

               ประกอบด้วย จุดที่ขาดการบำรุงรักษา บริเวณที่ไฟสว่างไม่เพียงพอ จุดอับสายตา ทางเปลี่ยว ทางแคบทางตัน พื้นที่ที่ไม่มีป้ายบอกทางและไกลจากสถานีตำรวจ

 

               นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำนักเทศกิจ กทม. ร่วมกับฝ่ายเทศกิจสำนักงานเขตออกตรวจตราจุดเสี่ยงภัยต่ออาชญากรรมหรือภัยอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น ที่เปลี่ยว ที่มืดหรือแสงสว่างไม่เพียงพออย่างต่อเนื่อง

 

               นอกจากนั้น ยังได้ดำเนินโครงการที่สนับสนุนนโยบายการดูแลความปลอดภัย อาทิ โครงการตรวจจุดเสี่ยงภัย (จุดตู้เขียว) สำรวจจุดเสี่ยงภัยในพื้นที่และติดตั้งตู้เขียว จำนวน 673 จุด โดยเจ้าหน้าที่เทศกิจและฝ่ายเทศกิจสำนักงานเขต จะเข้าไปตรวจจุดดังกล่าวทั้งเวลากลางวันและกลางคืนเป็นประจำทุกวัน

 

               โครงการกลับบ้านปลอดภัยไปกับเทศกิจ จัดรถสายตรวจเทศกิจ พร้อมเจ้าหน้าที่เทศกิจ สำนักงานเขตละ 2 จุด บริการรับ - ส่งประชาชนในเวลากลางคืนในบริเวณที่ไม่มีบริการรถสาธารณะ , โครงการเทศกิจห่วงใยใส่ใจนักท่องเที่ยว โดยจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจลงพื้นที่ตรวจตรา อำนวยความสะดวก ประชาสัมพันธ์ แนะนำเส้นทาง และดูแลความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว 

 

               รวมทั้งโครงการดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยว (HAPPY BANGKOK) โดยร่วมกับสำนักงานเขตพระนคร ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว ขณะเดียวกันได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมดูแลความปลอดภัยให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นสถานีตำรวจนครบาลพื้นที่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ อปพร. มูลนิธิ อาสาสมัคร ตำรวจบ้าน เป็นต้น 

 

อ่านข่าว นำร่องติดกล้องจับปรับขี่จยย.บนทางเท้า

 

               ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนการแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงจากแสงสว่างไม่เพียงพอ สำนักการโยธา กทม. ได้กำหนดแนวทางการจัดซ่อมไฟฟ้าชำรุด โดยจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการจัดซ่อมเองกรณีชำรุดไม่มากหรือดำเนินการจ้างซ่อมหากเกิดกรณีชำรุดมาก และแจ้งการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ให้ประเมินราคาค่าซ่อม

 

               ซึ่งภายหลังจาก กฟน. ประเมินราคาค่าซ่อมและส่งให้สำนักการโยธา หากสำนักการโยธาตอบตกลง กฟน. จะเข้าดำเนินการจัดซ่อมต่อไป ทั้งนี้ ในการแจ้งเหตุไฟฟ้าชำรุดไปยัง กฟน. อาจมีขั้นตอนที่ทำให้เกิดการล่าช้า ซึ่งขณะนี้ กทม. และ กฟน. อยู่ระหว่างร่วมกันปรับปรุงบันทึกข้อตกลง เพื่อให้การดำเนินการจัดซ่อมไฟฟ้าส่องสว่างเป็นไปตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พ.ศ.2560 

 

               นอกจากนี้ สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ได้ประสานความร่วมมือกับกองบังคับการตำรวจนครบาล สำนักเทศกิจ กทม. และสำนักงานเขต ในการลงพื้นที่สำรวจจุดเสี่ยง รวมทั้งยังได้ดำเนินการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) บริเวณชุมนุมชนและจุดเสี่ยงอาชญากรรม จำนวน 3,263 กล้อง พร้อมเชื่อมโยงสัญญาณภาพไปยังกองบังคับการตำรวจนครบาล สถานีตำรวจนครบาล และสำนักงานเขต 50 เขต

 

               อีกทั้ง ในปี 2563 ได้รับงบประมาณติดตั้งกล้อง CCTV บริเวณชุมนุมชนและจุดเสี่ยงอาชญากรรมเพิ่มเติมอีก จำนวน 3,342 กล้อง ทั้งนี้ กทม. จะประสานขอข้อมูลจุดเสี่ยง 611 จุด จากตำรวจนครบาลและเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง เพื่อมอบหมายให้หน่วยงานของ กทม. เข้าสำรวจพื้นที่เพื่อแก้ไขในเบื้องต้นก่อน และจะขอจัดสรรงบประมาณดำเนินการติดตั้งกล้อง CCTV เพิ่มเติม เพื่อดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชนต่อไป

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ