ข่าว

แนะหลักพัฒนาเด็กไทย 4.0  รับวันเด็กสากล

แนะหลักพัฒนาเด็กไทย 4.0 รับวันเด็กสากล

19 พ.ย. 2562

กรมสุขภาพจิต แนะพัฒนาเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่รองรับประเทศไทยยุค 4.0 เน้น คิดดี คิดให้ คิดเป็น เป็นสุข รับวันเด็กสากล


 19 พฤศจิกายน 2562 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 20 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันเด็กสากล (Universal Children's Day)  


ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ทุกๆ คนร่วมมือกันคุ้มครองดูแลสวัสดิการและสิทธิด้านต่าง ๆ ของเด็ก ให้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่รอดปลอดภัย มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา ให้ได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพและพัฒนาตามวัยให้เติบโตขึ้นเป็นอนาคตของชาติ

 

ตลอดจนได้รับการปกป้องคุ้มครองจากภัยอันตราย อีกทั้งยังเป็นการเฉลิมฉลองให้แก่เด็กๆ ทั่วโลกอีกด้วย เนื่องในโอกาสวันเด็กสากล 20 พฤศจิกายนนี้ กรมสุขภาพจิตขอเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจพัฒนาเด็กและเยาวชนเพื่อรองรับประเทศไทยยุค 4.0 ที่จะเติบโตขึ้นไปเป็นกำลังหลักสำคัญของประเทศชาติในอนาคต โดยเน้นตามหลัก "คิดดี คิดให้ คิดเป็น เป็นสุข" (CPR : Creativity, Positivity, Responsibility to social) ดังนี้

 

1. Creativity (C) หมายถึง การสนับสนุนให้เด็กมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ฝึกให้เด็กวางเป้าหมายอย่างเป็นขั้นตอน รวมทั้งให้เด็กได้ใช้ความสามารถในการแก้ปัญหาด้วยตัวเองผ่านการเล่นและในชีวิตประจำวัน ซึ่งนำไปสู่การสร้างสรรค์สังคม คือ ความสามารถในการผลิตสิ่งใหม่ๆ ให้แก่สังคม

 

2. Positivity (P) หมายถึง การสนับสนุนให้เด็กมีความคิดเชิงบวก ซึ่งความคิดเชิงบวกนี้ จะช่วยให้เด็กรู้จักยืดหยุ่นทางความคิดหรือปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดี สอนให้ลูกเรียนรู้ที่จะสร้างกำลังใจให้ตนเอง และสร้างกำลังใจให้ผู้อื่น รวมทั้งรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเองและวิธีจัดการอารมณ์ เรียนรู้และเข้าใจในอารมณ์ของผู้อื่นด้วย 

 

 

3. Responsibility to social (R) หมายถึง การทำประโยชน์ช่วยเหลือผู้อื่นและสังคม โดยการสนับสนุนให้เด็กมีจิตสำนึกต่อสังคมที่ดี สร้างความรู้สึกการมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ที่บ้าน ชุมชน และสังคม ซึ่งจะทำให้เด็กสามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี

 

นอกจากนี้ แนวทางในการส่งเสริมให้เด็ก "คิดดี คิดให้ คิดเป็น เป็นสุข" นั้น สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองควรมีความพร้อมในการดูแลเด็ก สร้างความผูกพัน ใกล้ชิด ไว้วางใจกัน ระหว่างเด็กและพ่อแม่ผู้ปกครอง เปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นสนุกผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย ยอมรับในความแตกต่างของเด็กแต่ละคน ชื่นชมในความพยายามความตั้งใจของเด็ก และเสริมพลังใจให้ลูกไม่ย่อท้อต่อปัญหาอุปสรรค อีกทั้งผู้ใหญ่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็กและควรกระตุ้นให้เด็กมีส่วนร่วมในการพัฒนาตัวเองในแต่ละด้านด้วย ก็จะก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเด็กไทยได้