ข่าว

กทม.รับมือโลกร้อน น้ำทะเลสูง หวั่นน้ำท่วม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กทม.เตรียมพร้อมรับมือผลกระทบภาวะโลกร้อน ส่งผลระดับน้ำทะเลสูง เสี่ยงน้ำท่วมกรุงเทพฯ

 

               วันที่ 7 พ.ย.2562 นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวกรณีมีการนำเสนอรายงานผลงานวิจัยในวารสาร Nature Communications เกี่ยวกับผลกระทบของน้ำท่วมจากสภาวะโลกร้อน

 

               คาดในปี 2050 ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอาจกระทบกับประชากรของประเทศไทยร้อยละ 10 หรือประมาณ 6 - 7 ล้านคน ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นผลกระทบแล้วในบางพื้นที่ เช่น บริเวณชายทะเลบางขุนเทียน ว่า

 

               กทม. ได้เตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน ทั้งการดำเนินโครงการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน การตรวจสอบค่าระดับความเสี่ยงจากน้ำท่วมของพื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ รวมถึงการนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการระบบระบายน้ำของ กทม. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะยาว

 

               การจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเมืองในอนาคต รวมทั้งการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดแนวทางเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการทรุดตัวของแผ่นดินในพื้นที่กรุงเทพฯ ตลอดจนการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อน พร้อมส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม

 

               นายสมชาย เดชากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กทม. กล่าวว่า กทม. ได้ดำเนินการปรับปรุงร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาเมือง รวมถึงการป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยพิบัติ การส่งเสริมการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน โดยดำเนินการ ดังนี้

 

               1) กำหนดให้มีการส่งเสริมการพัฒนาเมืองภายในพื้นที่รอบถนนวงแหวนถนนรัชดาภิเษกให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีความหนาแน่นสูง สอดคล้องกับระบบโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค สาธารณูปการ ส่วนในพื้นที่รอบนอกที่ระบบสาธารณูปโภคยังไม่ทั่วถึง การสัญจรไม่สะดวก หรือเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติ เช่น พื้นที่ชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่ง

 

               ได้ควบคุมการพัฒนาเมืองและสิ่งปลูกสร้างที่เบาบาง เช่น เป็นพื้นที่อยู่อาศัยขนาดเล็ก พื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม และพื้นที่สีเขียว เพื่อลดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินหากเกิดภัยพิบัติ

 

               2) กำหนดที่โล่งประเภทต่างๆ ให้มีพื้นที่สีเขียว เพื่อรักษาสภาพการระบายน้ำตามธรรมชาติ และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมชายฝั่งทะเล

 

               3) กำหนดให้มีโครงการกิจการสาธารณูปโภค เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วมให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เช่น โครงการขุดลอกคลอง การก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ การจัดหาพื้นที่แก้มลิง เป็นต้น

 

               นอกจากนี้ ได้กำหนดมาตรการทางผังเมือง เพื่อส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ การกำหนดให้ทุกอาคารหรือโครงการที่จะก่อสร้างใหม่ ต้องจัดให้มีพื้นที่โล่งที่น้ำสามารถซึมผ่านได้และปลูกต้นไม้ เพื่อช่วยระบายน้ำฝนลงสู่ชั้นดิน การจัดให้มีพื้นที่ว่างเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือสวนสาธารณะ จัดให้มีอาคารประหยัดพลังงาน จัดให้มีพื้นที่รับน้ำหรือกักเก็บน้ำฝน เป็นต้น

 

               ด้าน นายณรงค์ เรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. กล่าวว่า ที่ผ่านมา กทม. ได้พัฒนาระบบป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยเสริมความสูงแนวคันป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา จากเดิมที่ความสูงเฉลี่ย 2.50 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นความสูงเฉลี่ย 3.00 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง เพื่อป้องกันน้ำจากทะเลและจากแม่น้ำเจ้าพระยาล้นเข้าท่วมพื้นที่กรุงเทพฯ

 

               นอกจากนี้ กทม. ยังร่วมมือกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) จัดทำแผนแม่บทรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ กทม. โดยมีเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) และจัดทำมาตรการปรับตัวเพื่อรับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น (Adaptation) โดยการจัดทำแผนที่ความเสี่ยง เป็นหนึ่งในมาตรการ Adaptation ของ กทม.

 

               สำหรับมาตรการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ได้จ้างที่ปรึกษาศึกษาออกแบบแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอย่างถาวรร่วมกับชุมชนในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว และมีกำหนดนำเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในเดือน ธ.ค. 2562 เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว คาดจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2564 

 

               ขณะที่ นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวว่า ในส่วนของสำนักสิ่งแวดล้อม ได้รณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง โดยมีแผนแม่บท กทม. ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2556 - 2566 เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานด้านการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้ กทม. มุ่งสู่เมืองคาร์บอนต่ำที่พร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

               ขณะเดียวกันได้มีมาตรการส่งเสริมการมีส่วนร่วมภายในองค์กร ได้แก่ การจัดทำแผนปฏิบัติการลดใช้พลังงาน การใช้รถยนต์ส่งเอกสารร่วมกัน การตรวจควันดำของรถราชการ และกิจกรรมลดใช้พลาสติกและโฟมของหน่วยงานสังกัด กทม. อีกทั้งได้บูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น

 

               กิจกรรมปิดไฟเพื่อลดภาวะโลกร้อนเป็นเวลา 1 ชั่วโมง (Earth Hour) การรณรงค์ ลด ละ เลิก การใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Use Plastic) การแยกบรรจุภัณฑ์ ที่รีไซเคิลขาย การแยกเศษอาหารเลี้ยงสัตว์หรือทำปุ๋ย การแยกขยะอันตรายออกจากขยะทั่วไป และโครงการ “วน” เพื่อลดขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน

 

               นอกจากนี้ ยังได้สร้างความร่วมมือเพิ่มพื้นที่สีเขียวในที่ว่างร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน

 

               นายพลเฉลิม ศรมณี ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน กทม. กล่าวว่า สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน กทม. ได้กำหนดแผนดำเนินการ ประกอบด้วย

 

               1) การฟื้นฟูป่าชายเลน จำนวน 3,000 ไร่ โดยเน้นความร่วมมือระหว่างประชาชนกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และกลุ่มภาคีเครือข่าย เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน

 

               2) จัดทำพื้นที่ปลูกป่าจากชายฝั่งออกสู่ทะเล ด้วยการปักไม้ไผ่กันคลื่นป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง

 

               3) จัดหาพันธุ์กล้าไม้ที่เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น ต้นโกงกาง ต้นแสม และต้นลำพู นำมาปลูกเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง

 

               และ 4) การสร้างภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และกลุ่มมวลชนจากประชาชนทั่วไป เพื่อฟื้นฟูและบำรุงรักษาป่าชายเลนให้คืนสู่สภาพเดิม เกิดความสมดุลของระบบนิเวศ รวมถึงได้ผืนดินกลับคืนมาเป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติ

 

               สำหรับความคืบหน้าการดำเนินการตามโครงการปลูกป่าในใจคน ตามศาสตร์พระราชา ตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค. 2559 จนถึงปัจจุบัน ได้ขยายพื้นที่ปักไม้หไผ่เพื่อทำแปลงปลูกป่าชายเลนและปลูกต้นโกงกาง จำนวน 210 ไร่ การปักไม้ไผ่เพื่อป้องกันความแรงของคลื่นทะเลบริเวณป่าชายเลนบางขุนเทียน จำนวน 165,162 ลำ หลังจากปักไม้ไผ่เพื่อเป็นแนวป้องกันคลื่นกัดเซาะชายฝั่งชายทะเลบางขุนเทียน ปัจจุบันมีการสะสมตะกอนดินเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 50 - 60 เซนติเมตร

 

               นอกจากนี้ ยังได้ทดลองทำกระบะปลูกต้นกล้ารูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ทดลองปลูกในวงท่อซีเมนต์ เพื่อลดแรงปะทะของคลื่นและให้ต้นกล้าพ้นจากระดับน้ำทะเลที่ขึ้นสูง รวมถึงจัดกิจกรรมปลูกป่าชายเลนบางขุนเทียน เก็บขยะหน้าทะเล การเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ป่าชายเลนบางขุนเทียน จุดเพาะชำต้นกล้าโกงกาง และกิจกรรมยิงลูกแสม

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-เอลนีโญ ทำโลกร้อนสุดในรอบ 120 ปี

-กทม.พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ