ข่าว

อนุทิน ยอมรับส่งมอบพื้นที่ไฮสปรีด ใช้เวลาเกือบ 2 ปี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"อนุทิน" เผยหลังลงนาม รถไฟ 3 สนามบิน ยังมีอีกหลายขั้นตอน ย้ำทุกฝ่ายมีหน้าที่ทำตามสัญญา ไม่ใช่ดูข้อได้เปรียบเสียเปรียบ รับส่งมอบพื้นที่100% ใช้เวลาเกือบ 2 ปี

 

 

          เมื่อวันที่ 24 ต.ค.62 - ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวถึงพิธีลงนามสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) และบันทึกความเข้าใจเพื่อสนับสนุนโครงการฯ ในช่วงบ่ายของวันเดียวกันนี้ ว่า หลังจากลงนามแล้ว ทุกอย่างจะเป็นไปตามกระบวนการ ดังนั้น กว่าจะตอกเข็มได้คงอีกนาน

 

         นายอนุทิน กล่าวอีกว่า หลังจากนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะต้องไปจ้างที่ปรึกษาโครงการฯ โดยยังมีหลายขั้นตอน เช่น การออกแบบการก่อสร้าง สั่งซื้อรถไฟ การดำเนินการย้ายสาธารณูปโภคที่เป็นสิ่งกีดขวางเส้นทางการก่อสร้าง ซึ่งทุกฝ่ายมีหน้าที่ต้องทำตามสัญญา และเป็นไปตามกำหนดเวลา คาดต้องใช้เวลาในการรื้อย้ายสิ่งกีดขวาง หรือกว่าจะส่งมอบพื้นที่ได้ร้อยละ 100 คงใช้เวลาเกือบ 2 ปี และส่วนตัวเชื่อว่าไม่น่ามีปัญหาในเรื่องของการทำงาน อย่างไรก็ตาม จะต้องมุ่งหวังให้งานสำเร็จ ไม่ใช่มัวแต่ดูที่ข้อได้เปรียบ เสียเปรียบของสัญญา เพราะงานก่อสร้างจะต้องเป็นวิศวกรที่ดำเนินการ ไม่ใช่ดำเนินการโดยนักกฎหมาย 

 

          นายอนุทิน กล่าวถึงกรณีการทุบเสาตอม่อโฮปเวลล์ เพื่อเปิดพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินว่า เรื่องนี้เกิดก่อนที่พวกตนเข้ามาทำงาน แต่ก็ยึดว่าอะไรที่รักษาประโยชน์ของบ้านเมืองได้ เราก็จะทำงานเต็มที่ ส่วนรายละเอียดเรื่องสัญญาต่างๆ นั้นเป็นหน้าที่ของกระทรวงคมนาคม (คค.) ที่จะต้องหารือและปรึกษากับสำนักอัยการสูงสุด กฎษฏีกา เพื่อดูในเรื่องการจ่ายค่าชดเชย หรือค่าโง่ที่สื่อชอบใช้ 

 

          อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายอนุทิน ได้กล่าวถึงในส่วนข้อเรียกร้องให้ส่งมอบพื้นที่ครบ 100% ว่า ขอให้ย้อนกลับไปอ่านสัญญาว่ากำหนดการส่งมอบไว้เท่าไร ภาครัฐทำได้หรือไม่ ถ้าทำสำเร็จฝ่ายเอกชนก็ต้องมาทำงาน และระหว่างก่อสร้างภาครัฐจะทยอยส่งพื้นที่ให้ แต่ถ้าทุกฝ่ายทำตามเงื่อนไขแล้ว เอกชนยังได้รับผลกระทบในการก่อสร้าง ภาครัฐจะหาทางออกให้ ขอให้สบายใจได้ แต่อย่าเอาเรื่องการส่งมอบพื้นที่ไปล้มโครงการทั้งหมด เนื่องจากในความเป็นจริงของการทำงาน ตลอดระยะเวลาก่อสร้าง ต้องมีเรื่องให้ขยายเวลาอยู่แล้ว อาทิ น้ำท่วม การขึ้นค่าแรง เหล่านี้ ใช้เป็นเหตุผลในการขยายเวลาได้ ภาครัฐมีเหตุผล และพร้อมอำนวยความสะดวกแก่ฝ่ายเอกชน แต่ขอให้ทำตาม RFP ตอนนี้ได้คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย(บอดร์ดการรถไฟฯ) แล้ว ไม่มีล้มการเซ็นสัญญาก่อสร้างวันที่ 25 ตุลาคมนี้ แน่นอน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ