ข่าว

ไฟเขียวต่างด้าว อยู่ต่อไม่ต้องออกนอกไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ครม.ไฟเขียวให้แรงงานกัมพูชา ลาว เมียนมา กว่า 2 ล้านคน อยู่ต่อไม่ต้องเดินทางออกนอกราชอาณาจักร


               ครม.ไฟเขียวให้แรงงานกัมพูชา ลาว เมียนมา กว่า 2,000,000 คน ที่ใบอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดปี 2562 และ 2563 นำเข้า MOU โดยไม่ต้องเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร อนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไม่เกิน 2 ปี และประทับตราขออยู่ต่อ ครั้งละไม่เกิน 1 ปี  

 

ไฟเขียวต่างด้าว อยู่ต่อไม่ต้องออกนอกไทย

 

               ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา เห็นชอบให้แรงงานต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา กลุ่มที่ใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) จะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน และ 1 พฤศจิกายน 2562 และวันที่ 31 มีนาคม 2563 และการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรยังไม่หมดอายุ เข้ามาทำงานอยู่ในประเทศไทยตาม MOU โดยไม่ต้องเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร 

 

               โดยกลุ่มที่ใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุ 30 กันยายน และ 1 พฤศจิกายน 2562 เริ่มดำเนินการ 2 กันยายน 2562 ส่วนกลุ่มที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุ 31 มีนาคม 2563 เริ่มดำเนินการ 16 ธันวาคม 2562 และอนุญาตให้ทำงานไม่เกิน 2 ปี

 

               หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้แรงงานต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา กลุ่มที่ใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) และการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรยังไม่หมดอายุ (ไม่รวมกลุ่มที่นำเข้าตามระบบ MOU) และกลุ่มที่ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางที่ยังมีอายุเหลืออยู่ในวันที่ไปยื่นขออนุญาตเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว

 

ไฟเขียวต่างด้าว อยู่ต่อไม่ต้องออกนอกไทย

 

               สามารถดำเนินการในลักษณะนำเข้าตาม MOU โดยไม่ต้องเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร และอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไม่เกิน 2 ปี โดยประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร (ขออยู่ต่อ) ครั้งละไม่เกิน 1 ปี  

 

               ส่วนการอนุญาตทำงานจะอนุญาตไม่เกิน 2 ปี โดยแยกเป็น 2 ห้วงเวลา คือ 1.ใบอนุญาตทำงานหมดอายุตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2562 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2563 ใบอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564  2.ใบอนุญาตทำงานหมดอายุตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม ถึง 30 มิถุนายน 2563 ใบอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2565

 

               หน่วยงานที่จะดำเนินการประกอบด้วย 1.กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานรับเอกสารในขั้นตอนแรกและออกใบอนุญาตทำงาน 2.กระทรวงสาธารณสุข ตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพ 3.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรต่อไป (ขออยู่ต่อ) โดยอนุญาตครั้งละไม่เกิน 1 ปี 4.กระทรวงมหาดไทย จัดทำทะเบียนประวัติและออกบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งด้านหลังบัตรจะเป็นใบอนุญาตทำงาน

 

ไฟเขียวต่างด้าว อยู่ต่อไม่ต้องออกนอกไทย

 

               สำหรับระยะเวลาดำเนินการเพื่อขอรับใบอนุญาตทำงานและการขออยู่ต่อในราชอาณาจักรต่อไปจะเริ่มวันที่ 2 กันยายน 2562 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 ดำเนินการ 2 รูปแบบคือ 1.เริ่มดำเนินการวันที่ 2 กันยายน 2562 สำหรับกลุ่มใบอนุญาตทำงานหมดอายุตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2562 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2563  ณ สถานที่ตั้งของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

               2.เริ่มดำเนินการวันที่ 16 ธันวาคม 2562 สำหรับกลุ่มใบอนุญาตทำงานหมดอายุตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ดำเนินการในลักษณะศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS) โดยในกรุงเทพมหานครมอบหมายให้อธิบดีกรมการจัดหางานเป็นผู้พิจารณา ในส่วนภูมิภาคมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้พิจารณา

 

               ด้าน นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่จะต้องดำเนินการดังกล่าว จำนวน 2,001,379 คน แบ่งเป็น 1.กลุ่มที่การอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2563 มีจำนวน 261,491 คน เป็นกลุ่มพิสูจน์สัญชาติเดิม จำนวน 243,093 คน กลุ่มประมงฯ มาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 จำนวน 12,040 คน กลุ่มจัดทำ/ปรับปรุงทะเบียนประวัติ จำนวน 6,358 คน

 

ไฟเขียวต่างด้าว อยู่ต่อไม่ต้องออกนอกไทย

 

               และ 2.กลุ่มที่การอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2563 มีจำนวน 1,739,888 คน โดยเป็นกลุ่มพิสูจน์สัญชาติเดิม จำนวน 558,443 คน และกลุ่มจัดทำ/ปรับปรุง ทะเบียนประวัติ จำนวน 1,181,445 คน

 

               ทั้งนี้ ขอให้นายจ้าง/สถานประกอบการดำเนินการตรวจสอบข้อมูลการจ้างแรงงานต่างด้าวที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หากพบว่าข้อมูลยังไม่เป็นปัจจุบัน เช่น มีการรับแรงงานต่างด้าวเข้ามาใหม่หรือเพิ่งเลิกจ้างแรงงานต่างด้าว ก็ให้แจ้งเข้า-ออกจากงานของแรงงานต่างด้าวภายใน 15 วัน เป็นต้น

 

               นอกจากนี้ หากไม่พบข้อมูลการอนุญาตทำงานในฐานข้อมูล ขอให้นายจ้าง/สถานประกอบการประสานกับสำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่เพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ