ข่าว

ยอมถอย ผู้บริหารคอนโดกะตะ ไม่สร้างต่อ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดใจผู้บริหารคอนโดฯกะตะ ยอมขอจบปัญหาความขัดแย้งทางสังคม ไม่สร้างโครงการต่อ - ขอแก้ไขพื้นที่ให้ปลอดภัย รอศาลปกครองสูงสุดตัดสินก่อน

      เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 21 สิงหาคม 2562 ที่ร้านฮาวาน่า ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายมนัสนันท์ นรารัตน์วันชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท กะตะ บีช จำกัด ผู้บริหารโครงการเดอะพีค เรสซิเด้นท์ คอนโดหรูตั้งอยู่บริเวณพื้นที่กะตะน้อย หมู่ที่ 2 ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต ซึ่งเป็นประเด็นขึ้นอีกครั้งหลังจากที่ทางนายสิระ เจนจาคะ ส.ส. กรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชารัฐ ได้ลงพื้นที่มาตรวจสอบหลังได้รับข้อร้องเรียนจากชาวบ้านว่า ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงสร้างดังกล่าว เนื่องจากมีน้ำและดินแดงไหลลงมาช่วงที่มีฝนตกลงมา และการกระทบกระทั่งกันระหว่างนายสิระฯ กับนายตำรวจในท้องที่ตำบลกะรน รวมถึงนายกเทศมนตรีตำบลกะรน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการเข้าพบนายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อขอให้ตรวจสอบการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารของโครงการดังกล่าวว่าถูกต้องหรือไม่

         ยอมถอย ผู้บริหารคอนโดกะตะ ไม่สร้างต่อ

 

       นายมนัสนันท์ กล่าวว่า ตนในฐานะเจ้าของโครงการเดอะพีค เรสซิเด้นท์ ต้องการสื่อสารให้สังคมได้รับทราบและเข้าใจว่า ทางบริษัทฯ ได้ซื้อที่ดินมา และพัฒนาโครงการฯ ขึ้นตามกระบวนการของกฎหมายทุกประการ โดยปลายทางทราบว่าที่ดินแปลงนี้ ซึ่งเป็น นส.3 ก เลขที่ 1863 ศาลปกครองชั้นต้นนครศรีธรรมราชได้มีคำพิจารณาเพิกถอน ซึ่งในส่วนของตนขอไม่ลงลึกในรายละเอียดส่วนนั้น เนื่องจากเรื่องยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลฯ แต่จะชี้แจงในส่วนของการรักษาสิทธิ์ของทางบริษัทฯ ตามกฎหมายปกครอง 2542 มาตรา 70 ซึ่งกล่าวว่า คำพิพากษาของศาลปกครองให้ผูกพันคู่กรณีจะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับนับตั้งแต่วันที่กำหนดในคำพิพากษาจนถึงวันที่คำพิพากษาถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขกลับหรือลดเสีย ในกรณีที่เป็นคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นให้รอการปฏิบัติคำบังคับไว้จนกว่าจะพ้นระยะเวลาการอุทธรณ์ หรือในกรณีที่มีการอุทธรณ์ให้รอคำบังคับไว้จนกว่าคดีถึงที่สุด

ยอมถอย ผู้บริหารคอนโดกะตะ ไม่สร้างต่อ

         ดังนั้นที่มีการกล่าวว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐเอื้อนายทุน จึงไม่มีจริง เพราะเมื่อบริษัทฯ ไปยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารตามขั้นตอนของกฎหมายเขาก็ต้องดำเนินการตามกระบวนการ เช่นเดียวกับคณะกรรมการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือข้าราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็ไม่มีผู้ใดมีส่วนได้ส่วนเสียกับทางโครงการฯ โดยทุกฝ่ายปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย

        “ ที่ดินแปลงนี้ บริษัทกะตะบีชฯ ได้ซื้อมาจากผู้ขายซึ่งเป็นนักธุรกิจและอดีตนายตำรวจระดับสูง โดยทั้งสองคนได้ถูกกล่าวถึงชื่อมาโดยตลอด ดังนั้นจึงอยากชี้แจงว่าทั้งสองท่านดังกล่าวไม่ใช่เจ้าของโครงการฯ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ เป็นเพียงผู้ขายที่ดินให้กับบริษัทเท่านั้น แต่หากที่ดินที่มีการซื้อมาไม่สามารถทำประโยชน์ได้ตามสัญญา ทั้งหมดทั้งสิ้นก็จะเป็นกรอบของสัญญาทั้งที่ผู้ซื้อผู้ขายตกลงกัน โดยผู้ขายก็ไม่ได้มีเจตนาที่จะนำที่ดินที่มีปัญหามาขายให้กับเรา ซึ่งสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการของศาลนั้นผู้ซื้อและผู้ขายไม่ได้รับรู้ โดยโครงการนี้มีเจ้าของ คือ บริษัท กะตะบีช จำกัด และมีตนเป็นกรรมการผู้จัดการเพียงผู้เดียว”

          ยอมถอย ผู้บริหารคอนโดกะตะ ไม่สร้างต่อ

                                                           มนัสนันท์ นรารัตน์วันชัย

        นายมนัสนันท์ กล่าวด้วยว่า จากกรณีในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีคลิปต่อว่ากันต่างๆ ถูกนำเสนอผ่านทางโซเซียลและสื่อมวลชน อยากบอกว่าจริงๆ แล้วเราเป็นคนไทยด้วยกัน และภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยว เรามีประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงาม ดังนั้นทางบริษัทฯ จึงขอประกาศว่า จะชะลอการก่อสร้าง เพื่อรอคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ทั้งนี้ในรายละเอียดของการชะลอการก่อสร้างนั้น เพื่อให้บุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่มีข้อห่วงใยหรือท้วงติงโครงการฯ หากทุกคนยึดหลักนิติศาสตร์ และบอกว่ายืนอยู่บนข้อกฎหมายของตนเอง หรือไม่มีใครยอมถอย แล้วสังคมจะอยู่อย่างไร คนที่ไม่รู้จักกันมาเจอกันและกางเอกสารเถียงกันคอเป็นเอ็นซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้น และเมื่อเทียบระหว่างภาพลักษณ์หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นของโครงการฯ ในการจะส่งมอบอาคารให้กับลูกค้าได้ตามที่ตกลงกันไว้นั่นย่อมมีแน่นอน แต่เมื่อเทียบกับภาพลักษณ์หรือความเสียหายของจังหวัดหรือของประเทศ และความรู้สึกของคนไทยแล้วคิดว่าน่าจะมีมากกว่าของโครงการฯ ที่จะได้รับ ดังนั้นทางเราจึงขอถอยออกมาก่อนและยอมรับความเสียหายที่เกิดขึ้น เพียงแต่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายถอยกันไปคนละก้าวเพื่อทบทวนบทบาทของตัวเอง

        “ส่วนที่จะมีการชะลอ การก่อสร้างออกไปก่อนนั้นจะมีทั้งหมด 18 อาคาร โดยจะรอจนกว่าจะมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดว่าเป็นอย่างไร จึงจะดำเนินการขั้นตอนต่อไป แต่ส่วนที่จะยังมีการดำเนินการต่อ คือ ส่วนด้านล่างที่เป็นกำแพงกันดิน และบ่อหน่วงน้ำ เพื่อให้ลดผลกระทบผู้ที่อยู่ด้านล่าง หากไม่เร่งทำเมื่อฝนตกลงมาก็จะเกิดปัญหาขึ้นอีก รวมถึงการทำถนนในโครงการซึ่งปัจจุบันมีการเปิดหน้าดินไปแล้วต้องทำการปิดผิวดินที่เป็นสีแดง เพื่อไม่ให้คนที่อยู่ด้านล่างได้รับผลกระทบ และส่วนของอาคารที่มีการขึ้นโครงสร้างไว้เรียบร้อยแล้ว และมีการเตรียมวัสดุต่างๆ เพื่อติดตั้งภายในอาคารในส่วนนี้คงต้องทำต่อ เพราะไม่เช่นกันจะเกิดความเสียหายของวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ได้ เช่น งานระบบ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น”

         นายมนัสนันท์ กล่าวด้วยว่า หลังจากเทศบาลตำบลกะรนมาปิดประกาศให้โครงการฯ ชะลอการก่อสร้าง และให้ทำการปรับปรุงแก้ไขตามมาตรการสิ่งแวดล้อม หลังจากมีผู้ร้องเรียน ซึ่งทางโครงการฯ ได้ชี้แจงแนวทางการแก้ไขให้กับทางเทศบาลฯ ทราบแล้วตามขั้นตอน ขณะนี้รอคำตอบจากทางเทศบาลฯ ว่าเห็นชอบตามที่บริษัทฯ เสนอหรือไม่ และหากโครงการฯ มีเจตนามักง่ายทำตามเพียงเทศบาลฯ แล้วจบ ซึ่งในหน้างานหากพบว่าส่วนไหนที่จะทำให้เกิดผลกระทบขึ้นอีก เราก็พร้อมจะแก้ไข โดยไม่จำเป็นต้องมีคำสั่งของเทศบาลฯ

         “การตัดสินใจชะลอโครงการนั้นทางเอเย่นต์ทุกฝ่ายรับทราบเรื่องแล้ว จะมีการไปต่อให้กับทางลูกค้าทราบ ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกค้านั้นทางบริษัทฯ พร้อมรับผิดชอบ ส่วนกรณีของทุนจดทะเบียนนั้น เป็นเรื่องที่พูดบ่อยมาก จึงขออธิบายว่า ในส่วนของการซื้อที่ดินนั้นเราได้มีการจ่ายเงินสดไปแล้ว 150 ล้านบาทแล้ว ส่วนงบประมาณการลงทุนนั้นขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน ซึ่งการดำเนินการของดิเวลล็อปเปอร์นั้น เมื่อซื้อที่ดินมาและทำการพัฒนาระหว่างนั้นก็จะมีการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินแต่ยังไม่ทราบว่าจะได้รับอนุมัติจำนวนเท่าใด จนกระทั่งรับทราบว่าได้เท่าไร จึงจะมีคำตอบว่า ทุนจดทะเบียนที่แท้จริงเท่าใด เพื่อให้สอดคล้องกับสินเชื่อที่ได้รับ เหตุที่เงินจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาท เพราะยังไม่ทราบว่าจะได้รับสินเชื่อเท่าใด จนกว่าจะทราบจึงจะมีการเพิ่มเงินจดทะเบียนให้สอดคล้องกัน ดังนั้นจึงอยากให้ดูเจตนาว่า หากจะหลอกเอาเงินลูกค้า ซึ่งมีพบเห็นกันอยู่เขาก็จะสร้างเพียงบ้านตัวอย่าง มีการปิดป้ายประชาสัมพันธ์ เร่งขายและเก็บเงินลูกค้า แต่โครงการของเราไม่ใช่เช่นนั้น โดยเรามีความพยายามก่อสร้าง แต่มีคนบอกให้หยุด จึงยังไม่ไปถึงไหน และหากเราจะหนีแล้วจะลงทุนก่อสร้างเพื่ออะไร และการขออนุญาตนั้นเพื่อสร้างคอนโดมิเนียม ไม่ใช่โรงแรมและต้องส่งมอบให้กับลูกค้า”

         นายมนัสนันท์ ยืนยันว่า ในการขออนุญาตก่อสร้างเป็นอาคารที่พักอาศัยรวม หรือคอนโดมีเนียม บางส่วนเป็นอาคารพักอาศัยรวมเพื่อการพาณิชย์ประกอบธุรกิจโรงแรม บางส่วนเป็นคอนโดมีเนียม ซึ่งที่สงสัยการนำ นส.3 ก ไปยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น เนื่องจากเราอยู่ระหว่างการยื่นขอออกโฉนด ซึ่งผู้ที่ถือ นส.3 ก ส่วนใหญ่ก็มั่นใจอยู่แล้วว่า สามารถออกโฉนดได้ เมื่อถึงเวลานั้นในการขออนุญาตใช้อาคารก็จะต้องมีการนำโฉนดไปใช้ เพราะจะต้องนำไปแบ่งออกโฉนดให้กับลูกค้า

      “กรณีหาก นส.3 ไม่สามารถออกเป็นโฉนดได้นั้น เราก็มีแผนรองรับอยู่แล้ว คือ จะเปลี่ยนจากการขายกรรมสิทธ์ขาดให้กับลูกค้าเป็นการให้เช่าระยะยาว ซึ่งในส่วนนี้ขอยืนยันว่าทางบริษัทได้แจ้งให้กับลูกค้าที่ทำการจองห้องคอนโดได้ทราบแล้วผ่านทางเอเจนซี่ โดยลูกค้าทั้งหมดที่ทราบข่าวแล้วจากการแถลงข่าวครั้งแรกเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ไม่มีรายใดที่ตัดสินใจยกเลิกการจองและไม่มีการขอเงินคืน แม้ว่าทางบริษัทฯ จะเปิดโอกาสให้ทางลูกค้ายกเลิกการจองและซื้อก็ตาม ซึ่งขณะนี้มียอดจองไปเกือบหมดแล้วเหลืออยู่ประมาณ 2-3 ห้อง โดยตามแผนจะต้องก่อสร้างเสร็จภายใน 1 ปี แต่เนื่องจากมีปัญหาการก่อสร้างซึ่งคงต้องยืดเวลาออกไป และเมื่อเราผิดสัญญาก็คงต้องเสียค่าปรับให้กับลูกค้าไป หากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ ทางบริษัทและลูกค้าที่ทำการจองคอนโดไว้ถือว่า เป็นผู้เสียหายร่วมกันก็มีแผนจะฟ้องร้องเอาผิดเรียกค่าเสียหายต่อหน่วยงานและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับที่ดินผืนนี้ต่อไป”

        นายมนัสนันท์ กล่าวยอมรับว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบกับทางโครงการฯ ระดับหนึ่ง แต่ไม่ว่าจะอย่างไรนั่น คือ ความรับผิดชอบของโครงการฯ บริษัทฯ รับได้ และการที่กล้าออกมาแถลงข่าว กับสื่อมวลชน เพราะเรารู้ว่าจะต้องดูแลลูกค้าอย่างไร ส่วนกรณีที่มีผู้ออกมาแสดงความกังวลหรือห่วงใยนั้น เขาก็มีสิทธิ เพราะเราอยู่ในสังคมประชาธิปไตย ซึ่งตนไม่ได้โกรธและไม่ว่าใคร หากผู้ที่ออกมามีเจตนาห่วงใยสิ่งแวดล้อมและห่วงใยท้องถิ่นอย่างแท้จริงถือเป็นเรื่องที่ดี ยืนยันว่าที่ผ่านมาทุกอย่างทางบริษัทฯ ทำอย่างถูกต้องตามกรอบของกฎหมายที่อนุญาต และไม่มีการต่อว่าหรือร้องเรียนใคร

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ