ข่าว

อย่าหลงเชื่อ เฟสบุ๊ก "ตันสุ่มแจกเงินล้าน"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ดีเอสไอเตือนภัย "ตัน" แจกโชคเงินล้าน บุญ สุ่มหา ปลอมโปร์ไฟล์เฟสบุ๊กนักธุรกิจชื่อดัง หลอกโอนเงินทรูมันนี่เป็นค่าดำเนินการส่งโชคเงินล้าน

 

ดีเอสไอเตือนภัย “ตัน” แจกโชคเงินล้าน บุญ สุ่มหา ปลอมโปร์ไฟล์เฟสบุ๊กนักธุรกิจชื่อดัง หลอกโอนเงินทรูมันนี่เป็นค่าดำเนินการส่งโชคเงินล้าน พบพฤติการณ์หลอกตุ๋นต่อเนื่อง มีสมาชิก 1,224 ราย

 

          วันที่ 8 ส.ค.62 คณะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แจ้งเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อโอนเงินออนไลน์ผ่านโปรแกรม “Messenger” สืบเนื่องจากดีเอสไอได้รับแจ้งเบาะแสจากเครือข่ายภาคประชาชน เกี่ยวกับการหลอกลวงทางระบบออนไลน์ ด้วยการติดต่อเหยื่อผ่านโปรแกรมสนทนา Messenger ที่เชื่อมโยงกับเฟสบุ๊ก โปรไฟล์ “ตัน ภาสกรนที” นักธุรกิจชื่อดัง โดยหลอกลวงเหยื่อว่าได้รับรางวัลใหญ่ จาก #กิจกรรมตัน บุญ สุ่มหา จำนวน 1 ล้านบาท แต่ต้องยืนยันการรับสิทธิ์ด้วยการซื้อทรูมันนี่ “True Money” จำนวน 2,000 บาท เป็นค่าดำเนินการและต้องส่งสลิปการซื้อพร้อมเลขบัญชีของเหยื่อให้คนร้าย เมื่อคนร้ายได้ภาพถ่ายสลิปทรูมันนี่จากผู้เสียหายไปแล้วก็ไม่ติดต่อกลับมาอีก และไม่มีการโอนเงินรางวัลกลับให้ผู้เสียหายตามที่แจ้งไว้แต่อย่างใด และเมื่อตรวจสอบเงินทรูมันนี่ก็พบว่ามีการโอนไปยังที่อื่นแล้ว นอกจากนี้ การหลอกลวงดังกล่าว ยังใช้เอกสารปลอมที่มีเครื่องหมายของทางราชการ (ตราครุฑ) ว่ามีการดำเนินการดังกล่าวจริง เพื่อให้เกิดความสมจริงอีกด้วย

 

          คณะโฆษกดีเอสไอ เปิดเผยด้วยว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า โปรไฟล์ “ตัน ภาสกรนที” ที่คนร้ายใช้ เพิ่งมีการเคลื่อนไหวทางข้อมูล เมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมีสมาชิกถึง 1,224 คน และเมื่อตรวจข่าวย้อนหลังพบการแอบอ้างเป็นนักธุรกิจชื่อดังหลอกลวงต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2561 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งยังมีประชาชนตกเป็นเหยื่ออยู่ จากกรณีดังกล่าว พ.ต.อ. ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ เห็นว่าแม้เรื่องดังกล่าวจะมีความเสียหายไม่มาก แต่เป็นเรื่องนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ต้องการปราบปรามการหลอกลวงประชาชนผ่านระบบออนไลน์ จึงมอบหมายให้กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นและประสานงานกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (บก.ปอท.) เพื่อสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีต่อไป

 

         “ปัจจุบันการหลอกลวงผ่านระบบออนไลน์มีการพัฒนารูปแบบที่หลากหลาย มักจะแอบอ้างผู้มีชื่อเสียงหรือหน่วยงานราชการเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ โดยท้ายสุดของกระบวนการหลอกลวงจะให้ผู้เสียหายส่งเงินจำนวนน้อยให้คนร้ายเพื่อแลกกับผลประโยชน์จำนวนมาก ซึ่งขัดกับหลักความจริง จึงขออย่าได้หลงเชื่อ” ทีมโฆษกดีเอสไอระบุ

 

อย่าหลงเชื่อ เฟสบุ๊ก "ตันสุ่มแจกเงินล้าน"

อย่าหลงเชื่อ เฟสบุ๊ก "ตันสุ่มแจกเงินล้าน"

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ