ข่าว

ลุยตรวจภูเก็ต3ปีไม่มีผู้ป่วยติดเชื้ออะมีบาตาม2ฝรั่งอ้าง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ที่มา : หน้า 1 หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม 2562

 

 

          สธ.ส่งทีมสืบสวนโรคทางระบาดวิทยา ตะลุยร้านผัดไทยภูเก็ต คุ้ยข้อมูลไม่พบประวัติผู้ป่วยด้วยเชื้ออะมีบา ฟราจิลิส ในช่วง 2-3 ปี ตามที่ผัวเมียออสซี่อ้าง ผู้เชี่ยวชาญด้านพยาธิ ชี้โอกาสพบในผัดไทยเป็นไปได้น้อย แค่ความร้อน 60 องศาเชื้อก็ตายแล้ว ร่างกายแข็งแรงถ่ายออกได้ เชื้ออยู่ในร่างกายแค่ 1 สัปดาห์

 

 

 

          กระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าตรวจสอบกรณีสามีภรรยาชาวออสเตรเลียระบุป่วยติดเชื้อปรสิตไดเอนตามีบา ฟราจิลิส (Dientamoeba fragilis) จากการกินผัดไทยที่ศูนย์อาหารแห่งหนึ่งใน จ.ภูเก็ต เมื่อ 2 ปี ที่ผ่านมา และต้องรักษาต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวและอาหารไทยนั้น

 

          นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ส่งทีมเคลื่อนที่เร็วเพื่อสอบสวนโรคที่ชาวต่างชาติอ้างว่าติดเชื้ออะมีบา จากการกินผัดไทยที่ร้านใน จ.ภูเก็ต โดยลงพื้นที่ร้านผัดไทยและบริเวณโดยรอบ พร้อมทั้งตรวจสอบข้อมูลพบในรอบ 2-3 ปี ไม่มีประวัติพบผู้ป่วยด้วยเชื้อปรสิตไดเอนตามีบา ฟราจิลิส แต่อย่างใด ซึ่งเชื้อนี้มักถูกพบในบริเวณดินโคลน โอกาสจะพบในผัดไทยค่อนข้างน้อยมาก 


          “สธ.ไม่อยากให้ประชาชนทั่วไปเกิดความตระหนักในข่าวนี้ ขอทำความเข้าใจกับประชาชนว่า เชื้อนี้มีขนาดโตกว่าแบคทีเรียเล็กน้อย เมื่อติดเชื้ออะมีบาจะมีอาการท้องเสีย ท้องอืด ลักษณะคล้ายโรคทางเดินอาหารทั่วไป แต่เมื่อดูข้อมูลย้อนกลับไปพบว่า โรงพยาบาลทั้งหมดที่ภูเก็ตตรวจไม่พบเชื้อนี้ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่จะพบเชื้อในกลุ่มอะมีบาตัวอื่น” นพ.รุ่งเรืองกล่าว


          ส่วนจะเป็นไปได้ไหมว่าเชื้อตัวนี้จะมาจากผักสดที่ประกอบผัดไทยหรือกุ้งที่อาจไม่ผ่านความร้อนนำมาประกอบทีหลัง นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า โอกาสเป็นไปได้น้อยมากเพราะผัดไทยเป็นจานร้อน เกือบทั้งหมดและผักที่อยู่ประกอบเป็นส่วนน้อยมาก ส่วนในถั่วงอกอาจจะพบสารชนิดอื่นที่ไม่ใช่อะมีบาตัวนี้ที่ถูกความร้อนและตายง่าย

 



          “อาการท้องเสียเกิดได้จากทั้งสารเคมี ไวรัส และแบคทีเรีย แต่โอกาสที่จะเกิดจากอะมีบายากมากและไม่เคยเกิดในรอบหลายปีมานี้ เมื่อดูลักษณะการเกิดเชื้อโรคตัวนี้มีโอกาสฟักตัวหลายวันเพราะฉะนั้นอาจเป็นไปได้ว่าผู้ป่วยไปกินอาหารชนิดอื่นร่วมด้วย แล้วติดเชื้อจากที่อื่นหรือไม่ ไม่จำเป็นว่าต้องเกิดจากผัดไทย เพราะระยะฟักตัวแต่ของอะมีบาไม่สั้น เป็นระยะยาว 5-7 วัน อาการออกไปทางไม่สบายเรื้อรังมากกว่า” นพ.รุ่งเรืองระบุ


          นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ สธ.กล่าวอีกว่า การจะไปสืบสวนต่อถึงอาหารชนิดใดที่ชาวต่างชาติเคยกินในช่วงนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะเวลาผ่านไปนานแล้ว และการสอบสวนอาจได้ข้อมูลไม่ตรงเนื่องจากความจำของตัวผู้ป่วยเองเพราะไปมาหลายที่ ในส่วนของประเทศไทยมีระบบป้องกันเชื้อจากอาหาร ทั้งโครงการอาหารปลอดภัย คลีนฟู้ดกู๊ดเทสต์ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยว มีสุขอนามัยที่ดี ตั้งแต่ผู้ประกอบอาหาร วัตถุดิบ สิ่งแวดล้อม จะมีการสุ่มตรวจ มีการมอบรางวัล ซึ่งผู้รับประทานก็ได้รับคำแนะนำจากกระทรวงว่าให้เลือกร้านที่สะอาดมีมาตรฐาน มีสัญลักษณ์อาหารปลอดภัย โดยเฉพาะร้านที่ถูกกล่าวถึงนี้เป็นร้านที่อยู่ในย่านที่ค่อนข้างมีความสะอาดปลอดภัย และนักท่องเที่ยวส่วนมากได้ตอบคำถาม ว่าที่นี่เป็นย่านสะอาด 


          ด้าน รศ.องอาจ มหิทธิกร หัวหน้าภาควิชาพยาธิ โปรโตซัว คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปกติเชื้อปรสิตไดเอนตามีบา ฟราจิลิส สามารถเจอได้ทุกพื้นที่ทั่วโลกไม่ใช่แค่ในไทย แต่ไม่อยู่ในอาหารปรุงสุกแน่นอน แค่เจอความร้อนเพียง 60 องศาเซลเซียสก็ตายแล้ว การระบุว่าเจอเชื้อในผัดไทย แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะเส้น ไข่ เต้าหู้ ใบกุยช่าย ล้วนถูกผัดปรุงให้สุกแล้ว ถ้าหากมีจริงก็อาจอยู่ในเครื่องเคียงผักแนมมากกว่า


          “ปกติวิสัยนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่นิยมกินอาหารที่ไม่แน่ใจว่าไม่สะอาด เชื้อปรสิตไดเอนตามีบา ฟราจิลิส ยังสามารถพบได้ในหนู หมู หากมีการสัมผัสสัตว์เหล่านี้ต้องล้างมือ การระบุเชื้ออยู่ในร่างกายถึง 2 ปี เป็นไปได้ยาก เพราะหากร่างกายแข็งแรง เชื้ออยู่ร่างกาย ถ่ายออกประมาณ 1 สัปดาห์เชื้อก็หมดแล้ว” รศ.องอาจ กล่าว


          ส่วน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ผัดไทยที่จำหน่ายจะผ่านการปรุงประกอบด้วยความร้อนมากกว่า 80 องศาเซลเซียส ทำให้สามารถฆ่าเชื้อโรคที่มีอยู่ได้ แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือสุขลักษณะของการปรุงประกอบอาหาร ต้องเลือกวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ล้างวัตถุดิบและปรุงด้วยความร้อนให้สุกทั่วถึง ใส่ในภาชนะที่สะอาด ไม่ใช้มือหยิบจับโดยตรง ล้างมือก่อนปรุงอาหาร แต่อาจจะมีวัตถุดิบที่มีความเสี่ยงจะปนเปื้อนได้ เช่น ถั่วงอกดิบ ใบกุยช่าย หัวปลี ผักสดอื่นๆ เป็นต้น


          "พ่อค้าแม่ค้าที่จำหน่ายอาหารต้องใส่ใจความสะอาด ต้องมีความรู้ด้านสุขาภิบาลอาหารปฏิบัติตามสุขลักษณะ หมั่นตรวจสอบดูแล ระมัดระวังจุดเสี่ยงต่างๆ ที่ทำให้อาหารปนเปื้อน ส่วนผู้บริโภคควรสังเกตสภาพร้าน การเลือกใช้วัตถุดิบต่างๆ และสุขลักษณะของคนขาย ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐก็มีการเฝ้าระวังและตรวจสอบโดยมีประกาศกฎกระทรวงควบคุมอีกขั้นตอนหนึ่ง
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ