ข่าว

ศาลไม่คุ้มครอง "กลุ่มซีพี" ประมูลอู่ตะเภา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลชี้ชั้นไต่สวนข้อเท็จจริงตรงกัน เอกชนรับรถติดยื่นซองเอกสารเกินเวลา "กก.คัดเลือกสนามบินอู่ตะเภาฯ" ต้องยึดเกณฑ์เอกสารคัดเลือก ข้อ 31(3) ไม่รับซองข้อเสนอบางส่วน

 

          28 พ.ค.62 – ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ ศาลมีคำสั่งยกคำขอของฝ่ายเอกชน ที่ขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง ในคดีโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา หมายเลขดำ 757/2562 ที่บริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด , บริษัท บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด , บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) , บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัทโอเรียนท์ซัคเซส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ร่วมเป็นผู้ฟ้องที่ 1-5 ยื่นฟ้อง "คณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก" ผู้ถูกฟ้อง เรื่องหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

          โดยคดีนี้ บริษัทผู้ฟ้องทั้ง 5 ราย ฟ้องว่า ผู้ฟ้องทั้งห้าในนามกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ได้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนกับรัฐในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งเจ้าหน้าที่ของ คณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ผู้ถูกฟ้อง ได้ออกหลักฐานการยื่นซองข้อเสนอ ให้แก่ผู้ฟ้องทั้ง 5 รายแล้ว ประกอบด้วย เอกสารซองที่ไม่ปิดผนึก ,เอกสารซองที่ 1 คุณสมบัติทั่วไป , เอกสารซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ , เอกสารซองที่ 3 ข้อเสนอด้านราคา และเอกสารซองที่ 4 ข้อเสนออื่น ๆ รวม 11 กล่อง และกล่องสำเนา แต่ต่อมา คณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ผู้ถูกฟ้อง ได้มีหนังสือแจ้งผลการยื่นข้อเสนอว่า คณะกรรมการฯ ผู้ถูกฟ้อง มีมติไม่รับข้อเสนอในส่วนของซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ กล่องที่ 6 และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านราคา กล่องที่ 9 เนื่องจากเป็นเอกสารที่ยื่นภายหลังกำหนดเวลาการยื่นข้อเสนอ

 

          ซึ่ง บริษัทผู้ฟ้องทั้ง 5 ราย เห็นว่า คำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนมติของ คณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ผู้ถูกฟ้อง ที่ไม่รับซองข้อเสนอดังกล่าว พร้อมยื่นคำขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องรับซองข้อเสนอของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าไว้พิจารณาตามขั้นตอนการคัดเลือกผู้ร่วมลงทุนต่อไป

 

          โดยเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 62 ศาลปกครองกลาง ได้ไต่สวนคู่ความทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อพิจารณาคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา

 

          ขณะที่วันนี้ ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งให้ยกคำขอ โดยพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำขอของ บริษัทผู้ฟ้องทั้ง 5 ราย เป็นคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง ซึ่งศาลจะมีคำสั่งกำหนดมาตรการทุเลาการบังคับได้เมื่อมีองค์ประกอบครบทั้ง 3 ประการ คือ 1.กฎหรือคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนั้น น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย 2.การให้กฎหรือคำสั่งทางปกครองดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง 3.การทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้น ไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่การบริการสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณา คดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 66  ประกอบระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ข้อ 72 วรรคสาม

 

          จึงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาในประการแรกก่อนว่า มติของ คณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ผู้ถูกฟ้องที่ไม่รับซองข้อเสนอบางส่วนของ บริษัทผู้ฟ้องทั้ง 5 ราย ไว้พิจารณาน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยที่เอกสารการคัดเลือกเอกชน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ข้อ 31(1) กำหนดว่า กองทัพเรือ จะเปิดให้มีการรับซองข้อเสนอในวันที่ 21 มี.ค.62 เวลา 09.00 น. และปิดการรับซองในวันเดียวกัน (21 มี.ค.62) เวลา 15.00 น.

 

          และ (3) กำหนดว่า คณะกรรมการฯ ผู้ถูกฟ้อง จะไม่รับซองเอกสารข้อเสนอที่ยื่นภายหลังกำหนดเวลาการยื่นซองเอกสารข้อเสนอตามที่ระบุในข้อ 31 (1)

 

          ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทผู้ฟ้องทั้ง 5 ราย กับผู้ยื่นข้อเสนออีกสองรายได้ไปยังสถานที่รับซองข้อเสนอและลงทะเบียนก่อนเวลา 15.00 น. อย่างไรก็ตาม การลงทะเบียนดังกล่าวเป็นเพียงการแจ้งในเบื้องต้นว่า ได้ไปถึงสถานที่รับซองข้อเสนอและประสงค์ยื่นข้อเสนอเท่านั้น โดยการรับข้อเสนอจะครบถ้วนตามขั้นตอนก็เมื่อผู้ยื่นข้อเสนอได้ส่งมอบซองข้อเสนอและกล่องเอกสาร ให้แก่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องก่อนเวลา 15.00 น.

 

          โดย คณะกรรมการฯ ผู้ถูกฟ้องชี้แจงในชั้นไต่สวนว่า บริษัทผู้ฟ้องทั้ง 5 ราย ยื่นส่งเอกสารกล่องที่ 6 กับกล่องที่ 9 เกินเวลาปิดรับซอง โดยแสดงพยานหลักฐานเป็นภาพถ่ายบุคคล ยกกล่องเอกสารดังกล่าวไปถึงจุดลงทะเบียนในเวลาประมาณ 15.09 น. และ บริษัทผู้ฟ้องทั้ง 5 ราย ยอมรับตามคำแถลงชี้แจงเพิ่มเติมว่า เอกสารข้อเสนอของผู้ฟ้อง กล่องที่ 6 และกล่องที่ 9 ไปถึงห้องรับรองชาวต่างประเทศ กองบัญชาการกองทัพเรือ ในเวลา 15.09 น. เหตุที่ล่าช้าเนื่องจากในวันดังกล่าวการจราจรติดขัดมาก

 

          ดังนั้นข้อเท็จจริงในชั้นนี้ รับฟังได้ว่า เอกสารข้อเสนอ กล่องที่ 6 และกล่องที่ 9 ของ บริษัทผู้ฟ้องทั้ง 5 รายไปถึงสถานที่รับซองข้อเสนอภายหลังกำหนดเวลาปิดรับซองข้อเสนอ ซึ่งข้อ 31(3) ของเอกสารการคัดเลือกเอกชน กำหนดห้ามผู้ถูกฟ้อง รับซองเอกสารข้อเสนอที่ยื่นภายหลังกำหนดเวลาดังกล่าว ดังนั้นการที่ผู้ถูกฟ้องมีมติไม่รับซองข้อเสนอดังกล่าว จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นคำสั่งที่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

          ส่วนที่ บริษัทผู้ฟ้องทั้ง 5 ราย อ้างว่า คณะกรรมการฯ ผู้ถูกฟ้อง ไม่ได้ถือเอากำหนดเวลายื่นและรับซองข้อเสนอเป็นสาระสำคัญ และได้ขยายระยะเวลาการรับซองข้อเสนอโดยปริยายนั้น ประเด็นดังกล่าวเป็นข้อโต้แย้งที่ศาลจะต้องพิเคราะห์ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องเพื่อวินิจฉัยในเนื้อหาคดีต่อไป

 

          เมื่อในชั้นนี้ยังรับฟังไม่ได้ว่า คำสั่ง คณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ผู้ถูกฟ้องที่ไม่รับซองข้อเสนอบางส่วนของ บริษัทผู้ฟ้องทั้ง 5 ราย น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว กรณีก็ไม่ต้องพิจารณาเงื่อนไขการมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาประการอื่นอีกต่อไป เนื่องจากถึงอย่างไรก็ตามก็ไม่ครบองค์ประกอบแห่งเงื่อนไขทั้ง 3 ประการ

 

          จึงมีคำสั่งให้ยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง ตามหนังสือสำนักงานบริหารเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของกองทัพเรือ ด่วนมาก ที่ กพอ.ทร.182/2562 ลงวันที่ 10 เม.ย.62 ตามคำขอ ของบริษัทผู้ฟ้องทั้ง 5 ราย

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ