ข่าว

ซ้อมริ้วขบวนฯ รวมทุกเหล่าครั้งแรก-จังหวะเดิน 85 ก้าวต่อนาที

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คณะอนุกรรมฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราสถลมารค จัดฝึกซ้อมริ้วขบวนที่ 3 แบบรวมครั้งแรก เพื่อประเมินจุดอ่อน-แข็ง ก่อนซ้อมใหญ่เสมือนจริง

         เวลา 08.30 น. วันที่ 19 มี.ค.62 คณะอนุกรรมฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราสถลมารค ได้จัดการฝึกซ้อมริ้วขบวนที่ 3  แบบรวมการครั้งแรก ณ ลาน อเนกประสงค์กองทัพภาคที่ 1 (ภายในกรมทหารราบ ที่ 11 กรมทหารมหาดเล็ก ราชวัลลภรักษาพระองค์) กรุงเทพฯ โดยการฝึกซ้อมในวันนี้มีหน่วยเฉพาะกิจกองพลที่ 1 รักษาพระองค์​  หน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904  กรมสรรพาวุธทหารบก กรมพลาธิการทหารบก  หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ   กรมขนส่งทหารบก นักเรียนเตรียมทหาร กองทัพเรือ ตำรวจม้า ผู้แทนจากสำนักพระราชวัง เป็นต้น เข้าร่วมฝึกอย่างพร้อมเพรียง

 

      สำหรับการฝึกซ้อมริ้วขบวนที่ 3 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จในขบวนพยุหยาตราสถลมารคเลียบพระนครในวันที่ 5 พ.ค. 62 เวลา 16.30 น. โดยประมาณ วันนี้มีการจำลองสถานที่จริง เส้นทางเริ่มจากพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท ผ่านประตูพิมานไชยศรี ประตูวิเศษไชยศรีในพระบรมมหาราชวัง แล้วเลี้ยวขวาที่หน้าประตูวิเศษไชยศรีเข้าถนนหน้าพระลาน เลี้ยวซ้ายแยกศาลหลักเมืองมุ่งหน้าสู่ถนราชดำเนินใน 
         ต่อจากนั้นเลี้ยวขวาที่หน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ เข้าสู่ถนนราชดำเนินกลาง เลี้ยวซ้ายเข้าถนนตะนาว เข้าวัดบวรนิเวศวิหาร จากนั้นเสด็จออกจากวัด เข้าถนนพระสุเมรุ เลี้ยวขวาแยกผ่านฟ้าเข้าสู่ถนนราชดำเนินกลาง แล้วเลี้ยวซ้ายที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ เข้าถนนอัษฎางค์ เลียบคลองหลอด สู่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร จากนั้นเสด็จออกจากวัดราชบพิธฯ เข้าสู่แยกวงเวียนนรด. เข้าถนนท้ายวัง เสด็จเข้าสู่วัดพระเชุตพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร จากนั้น เสด็จฯ ออกจากวัดพระเชตุพนฯเข้าสู่ถนนท้ายวัง เลี้ยวขวาที่ถนนมหาราช แล้วเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนหน้าพระลาน เพื่อเข้าประตูวิเศษไชยศรีตามเดิม

ซ้อมริ้วขบวนฯ รวมทุกเหล่าครั้งแรก-จังหวะเดิน 85 ก้าวต่อนาที

         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การซ้อมในวันนี้มีการจำลองพื้นที่ ในจุดคับขัน ประกอบด้วย เกยพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท ประตูพิมานไชยศรี ประตูวิเศษไชยศรี ในพระบรมมหาราชวัง เกยวัดบวรนิเวศวิหาร เกยวัดราชบพิธฯ วัดพระเชตุพนฯ  แยกถนนตะนาว ถนนพระสุเมรุ  เป็นต้น รวมถึงการฝึกซ้อมจังหวะการเปลี่ยนพลแบกหามพระราชยานพุดตานทอง ซึ่งจะมีการเปลี่ยนทุก 500 เมตร 

ซ้อมริ้วขบวนฯ รวมทุกเหล่าครั้งแรก-จังหวะเดิน 85 ก้าวต่อนาที

         สำหรับรูปแบบการเดินในริ้วขบวนที่ 3 นั้นมีการกำหนดท่าทางตามเสียงจังหวะกลองด้วยการนับก้าว 85 ก้าวต่อนาที ความกว้างก้าวละ 40 ซม.   ประกอบเพลงพระราชนิพนธ์  6 เพลง ได้แก่มาร์ชธงชัยเฉลิมพล, มาร์ชราชวัลลภ, เพลงใกล้รุ่ง, เพลงยามเย็น, เพลงสรรเสริญเสือป่า และเพลงสรรเสริญพระนารายณ์ โดยใช้ระยะเวลาเดินเท้าตามเส้นทางต่างๆ ทั้งสิ้นประมาณ 4 ชั่วโมงครึ่ง อีกทั้งยังมีการสับเปลี่ยนกำลังพลแบกหามทุก 500 เมตร ซึ่งจุดเปลี่ยนพลแบกหามจะใช้หมู่กลองให้จังหวะซอยเท้ารอเพื่อเปลี่ยนกำลังพลแบกหามให้เกิดเป็นท่วงท่าสง่างาม

ซ้อมริ้วขบวนฯ รวมทุกเหล่าครั้งแรก-จังหวะเดิน 85 ก้าวต่อนาที

          ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ทางคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราสถลมารค จะจัดการฝึกซ้อมริ้วขบวนอีกครั้ง ในวันที่ 26 มี.ค. ในริ้วขบวนที่ 1 และ 2 โดยริ้วขบวนที่ 1 เป็นริ้วขบวนเชิญพระสุพรรณบัฏ ดวงพระราชสมภพ และพระราชลัญจกร จากพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง
          ขณะที่ริ้วขบวนที่ 2 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินออกจากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อประกาศพระองค์เป็นศาสนูปถัมภก และถวายบังคมพระบรมอัฐิและพระอัฐิ ณ ปราสาทพระเทพบิดร รวมทั้งวันที่ 17 และ  21 เม.ย. จะมีการซ้อมกำลังพลในพื้นที่จริงอีกครั้ง โดยวันที่ 28 เม.ย.จะเป็นการซ้อมใหญ่เสมือนจริง ณ สถานที่จริงก่อนเข้าสู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ระหว่างวันที่ 4 - 6 พ.ค.นี้ต่อไป

ซ้อมริ้วขบวนฯ รวมทุกเหล่าครั้งแรก-จังหวะเดิน 85 ก้าวต่อนาที

         อนึ่ง ริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศพยุหยาตราสถลมารคเสด็จเลียบพระนครในการราชพิธีบรมราชาภิเษก เริ่มต้นด้วยตำรวจม้านำซ้ายขวา ฝั่งละ 1 นาย, วงดุริยางค์ วงหน้า 120 นาย, ผบ.กองผสม ประกอบด้วยกองบัญชาการขบวนทหารเกียรติยศพยุหยาตราสถลมารค, นายทหารประจำ บก.กองผสม ถัดมาเป็นกองพันทหารเกียรติยศนำ, นำริ้ว สารวัตรกระบวน ประกอบด้วย ประตูหน้าซ้ายขวา, ธงสามชายซ้ายขวา, สารวัตรกลองมะโหระทึก 2 นาย และมะโหระทึกฝั่งละ 10 นาย ต่อด้วยสารวัตรกอง 4 นาย, จ่าปี่ 2 นาย, จ่ากลอง 2 นาย, สารวัตรแตร 2 นาย ฝั่งขวาเป็นกลองชนะแดงลายทอง 40 นาย, กลองทอง 40 นาย, แตรฝรั่ง 10 นาย, แตรงอน 16 นาย และสังข์ 4 นาย ส่วนฝั่งซ้ายเป็นกลองชนะเขียวลายเงิน 40 นาย, กลองเงิน 40 นาย, แตรฝรั่ง 10 นาย, แตรงอน 16 นาย และสังข์ 4 นาย

 

         ถัดมาเป็นตอนผู้อำนวยการกระบวน นำโดย ประธานกรรมการ (นายกรัฐมนตรี) และปธ.คกก.ฝ่ายจัดพิธีการ, ปธ.คกก.ฝ่ายรักษาความปลอดภัยและจราจร, ปธ.คกก.ฝ่ายโครงการและกิจกรรม, ปธ.คกก.ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และปธ.คกก.ฝ่ายกลั่นกลองการใช้งบประมาณ ถัดมาเป็นกำกับกลุ่มอำนวยการริ้วประกอบด้วยผบ.ทบ., ผบ.ทสส., ปลัดกระทรวงกลาโหม, ผบ.ทอ., ผบ.ทร, ผบ.ตร. ต่อมาเป็นกำกับพระแสงหว่างเครื่องหน้า 1 นาย ประกบโดย กำกับเครื่องสูงหน้า ฝั่งละ 1 นาย, เชิญพระแสงหว่างเครื่องหน้า 10 นาย ประกบด้านซ้ายขวาโดยฉัตรเครื่องสูงหักทองขวางหน้า ฝั่งละ 10 นาย ถัดมาเป็นพระเกาวพ่าห์ 2 นาย, พระเสมาธิปัต 2 นาย, พระฉัตรชัย 2 นาย ต่อด้วยกรับสัญญาณ 1 นาย, ผู้บอกกระบวน 1 นาย ตามด้วยพราหมณ์เป่าสังข์ ฝั่งละ 1 นาย, ตำรวจหลวง 16 นาย ต่อด้วย น.เชิญธงชัยพระครุฑพ่าห์ 2 นาย ฝั่งขวาและฝั่งซ้าย, น.เชิญธงชัยราชกระบี่ยุทธ 2 นาย, กำกับพระที่นั่งทรง,ผู้ควบคุมคนแบกหามพระที่นั่งทรง และพระแสงรายตีนตอง ฝั่งละ 1 นาย

ซ้อมริ้วขบวนฯ รวมทุกเหล่าครั้งแรก-จังหวะเดิน 85 ก้าวต่อนาที

          ถัดมาเป็นพระที่นั่งพุดตานทอง ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จขึ้นประทับบนพระที่นั่งนี้ โดยมีคนแบกหาม 16 นาย ตามด้วยบังพระสูรย์ 1 นาย, พระกรด 1 นาย, พระทวย 1 นาย, พัดโบก 1 นาย, ถือม้ารองพระที่นั่ง 8 นาย ชุดที่ 1, คนแบกหามสำรอง (ผลัดเปลี่ยน) พระราชยานพุดตานทอง 16 นาย ฝั่งขวาซ้าย ประกอบด้วย คู่เคียงพระที่นั่ง (หน่วยราชการในพระองค์) ฝั่งละ 8 นาย, ผู้อำนวยการริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ, ราชองครักษ์ในพระองค์คู่เคียง (ฝสธ) 8 นาย, กำกับพรหม 1 นาย, พรหมเชิญทวน 1 นาย, น.กำกับแถว, ผบ.แถว, ผบ.มว.แถว, พลแตร และแถวแซงเสด็จ 24 นาย ตามด้วยกำกับพระแสงหว่างเครื่องหลัง1 นาย, เชิญพระแสงหว่างเครื่องหลัง 10 นาย ฝั่งซ้ายและขวาประกอบด้วยฉัตรเครื่องสูงหักทองขวางหลัง 11 นาย, กำกับเครื่องสูงหักทองขวางหลัง ฝั่งละ 1 นาย จากนั้นเป็นมหาดเล็กเชิญพระแสงอัษฎาวุธ 8 นาย, มหาดเล็กเชิญเครื่องตาม 16 นาย, ประตูหลังซ้ายขวา ฝั่งละ 1 นาย, วงดุริยางค์วงหลัง จำนวน 120 นาย, ร.11 รอ., รถยนต์พระที่นั่ง, รถพยาบาล โดยริ้วขบวนที่ 3 มีความยาวทั้งสิ้น 403.5 เมตร

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ