ข่าว

"สมชาย-บิ๊กจิ๋ว-พัชรวาท" เฮ ป.ป.ช.ไม่อุทธรณ์คดีสลายพธม.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ป.ป.ช." มีมติอุทธรณ์ "คดีสลายพันธมิตรฯ" เฉพาะ "สุชาติ" เหตุเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ส่วน "สมชาย-ชวลิต-พัชรวาท" รอด แค่ให้นโยบาย ไม่รู้เหตุความรุนแรง

                

          29 ส.ค. 60 - ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันลิการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ว่า ในการประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.วันนี้ (29 ส.ค.) มีวาระการประชุมสำคัญคือ การพิจารณาอุทธรณ์คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ยกฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยปี 2551 ที่จะครบกำหนดการยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 1 ก.ย.นี้ ซึ่งที่ประชุมป.ป.ช.ประชุมแล้วมีมติให้ยื่นอุทธรณ์เฉพาะพล.ต.ท.สุชาติแก้ว เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ที่เป็นจำเลยที่4 เพียงคนเดียว

          ส่วนจำเลยที่ 1-3 ได้แก่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ที่ประชุมมีมติไม่อุทธรณ์ โดยให้เหตุผลที่ยื่นอุทธรณ์เฉพาะพล.ต.ท.สุชาติเพียงคนเดียวนั้น ป.ป.ช. มีมติด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 0 เนื่องจากเห็นว่า พล.ต.ท.สุชาติมีสถานะเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้น มีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมเหตุการณ์ชุมนุมโดยตรงทั้งช่วงเช้า กลางวัน เย็น ตามแผนกรกฎ ย่อมรับรู้เป็นอย่างดีว่า เหตุการณ์เกิดความรุนแรงและไม่รุนแรงในช่วงใดบ้าง แต่ช่วงที่เกิดความรุนแรงกลับไม่สั่งระงับยับยั้งเหตุการณ์ ไม่มีการแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้า ยังใช้วิธีการเดิมแก้ปัญหา จึงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ             

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ในส่วนจำเลยที่ 1-3  ป.ป.ช.มีมติด้วยคะแนน 7 ต่อ 1 ไม่ยื่นอุทธรณ์ เนื่องจากเห็นว่า ทั้งสามคนเป็นเพียงผู้ให้นโยบาย ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดเหตุการณ์ตลอดทั้งวัน จึงไม่อาจล่วงรู้เหตุการณ์ความรุนแรงได้เหมือนกับผู้บัญชาการเหตุการณ์ และไม่พบว่ามีเจตนาพิเศษต้องการให้เกิดความรุนแรงเกิดขึ้น อีกทั้ง จำเลยบางคนอาทิ พล.อ.ชวลิตได้แสดงความรับผิดชอบด้วยการยื่นใบลาออกจากตำแหน่งนับตั้งแต่เมื่อรู้ว่า เกิดเหตุความรุนแรงขึ้น ทั้งนี้พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป.ป.ช.ได้ร่วมเข้าประชุมในครั้งนี้ด้วย แต่ได้งดออกเสียงในการลงมติเรื่องการยื่นอุทธรณ์ทั้งสองกรณี โดยป.ป.ช.เตรียมจะยื่นเรื่องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในวันที่ 31 ส.ค.นี้ ซึ่งถือว่ายังอยู่ในกรอบเวลาที่จะครบกำหนดอุทธรณ์ 30 วัน ในวันที่ 1ก.ย.

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ