ข่าว

"สนช.”ปัดไม่มีอำนาจสั่งทบทวนโหวตร่างพ.ร.บ.ทรัพยากร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“ปธ.กมธ.ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำสนช.”บอกไม่มีอำนาจสั่ง“ก.ทรัพย์ฯ”ทบทวนคำสั่งให้ขรก.โหวตร่างพ.ร.บ.ทรัพยากร ลั่นเดินหน้าทำร่างกฎหมายและเปิดเวทีฟังความเห็น

         11 ก.ค. 60 จากกรณีที่“คมชัดลึก ออนไลน์”ลงข่าวประเด็นเกี่ยวกับที่ผู้ใหญ่ในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกคำสั่งผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ เพื่อให้ข้าราชการในกระทรวงร่วมแสดงความเห็นและลงมติเห็นชอบต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. .... ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาของคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้น
          ล่าสุด พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ ให้สัมภาษณ์ต่อประเด็นดังกล่าวว่า  ตนทราบข้อมูลจากข่าวแต่สนช.ไม่มีอำนาจสั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ทบทวนหรือแก้ไขในประเด็นที่เกิดขึ้นได้  แต่หลักการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำของกมธ.ฯ ยืนยันจะให้ความสำคัญต่อการพิจารณาที่มีความเห็นของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องประกอบการจัดทำ ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 77  กำหนด แต่คงไม่ยึดฟังความเห็นเฉพาะส่วนของเว็ปไซต์เท่านั้น เพราะในวันที่ 18 ก.ค.นี้ กมธ.ฯเตรียมจัดเวทีเพื่อรับฟังความเห็นของส่วนที่เกี่ยวข้องที่ จ.ลพบุรี โดยขณะนี้ได้เชิญผู้ว่าราชการจังหวัด 7 จังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ 7 จังหวัดซึ่งเป็นพื้นที่ในลุ่มน้ำป่าสักและภาคประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำด้วย
          “ผมยอมรับว่าร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำนั้นมีปัญหาตั้งแต่การเสนอเข้ามาสู่สนช.แล้ว เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายฉบับเก่าทำมาตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งผมเคยท้วงไปตั้งแต่ชั้นรับหลักการแล้วและไม่สอดคล้องกับแผนการบริหารจัดการน้ำ ปี 2558-2569 ที่พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอ ดังนั้นในชั้นกมธ.ฯ จึงขอปรับแก้ไขเกือบทุกมาตรา รวมถึงการขอแก้ไขมาตราที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการบริหารจัดการน้ำ ที่ร่างกฎหมายที่รับหลักการกำหนดให้กรมทรัพยากรน้ำกำกับ ไปเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับของนายกฯ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้มีปัญหาว่ากรมทรัพยากรน้ำนั้น ทำหน้าที่ทั้งฝ่ายปฏิบัติงานและฝ่ายกำกับดูแล” พล.อ.อกนิษฐ์ กล่าว 
         “กรธ.”ชี้นายสั่งให้ออกความเป็นไม่อิสระคือเรื่องไม่ถูกต้อง
          ขณะที่ พล.อ.อัฎฐพร เจริญพานิช กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และกรรมการกฤษฎีกา กล่าวต่อประเด็นเดียวกัน โดยยอมรับว่าประเด็นของมาตรา 77 เพื่อรับฟังความเห็นส่วนที่เกี่ยวข้องการออกกฎหมายนั้น อาจมีปัญหาลักลั่นต่อกระบวนการปฏิบัติของหน่วยงาน ดังนั้นทางสำนักงานกฤษฎีกาและรัฐบาลได้ออกหนังสือแจ้งยังหน่วยงานต่อแนวทางการจัดทำและเสนอร่างกฎหมายตามรัฐธรรมนูญกำหนดเพื่อให้กระบวนการรับฟังความเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
          ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีการออกคำสั่งของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ให้ข้าราชการในสังกัดออกความเห็นในทางใด หรือเป็นไปอย่างไม่อิสระทำอย่างไร พล.อ.อัฎฐพร กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และเพื่อความเข้าใจต่อแนวทางปฏิบัติควรพิจารณาแนวทางการรับฟังความเห็นของส่วนที่เกี่ยวข้องตามแนวทางที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและรัฐบาลเคยให้ไว้

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ