ข่าว

น้ำรอระบายไม่ใช่น้ำท่วม!!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผู้ว่าฯ กทม. แจง ฝนตกหนักสุดในรอบ 25 ปี 24 ชม.ที่ผ่านมา รวมกว่า 200 มม. ประชุมพร้อมรับมือกับปัญหา - เฝ้าระวังต่อไป

 

               21 มิ.ย. 59  เมื่อเวลา 14.00 น. ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร สำนักการระบายน้ำ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) 2 ดินแดง  ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานการประชุมแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมีนายสมพงษ์ เวียงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ และคณะผู้บริหาร ร่วมประชุม ภายหลังในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา นับช่วงเวลา 07.00 น. ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีฝนหนักถึงหนักมาก ปริมาณฝนรวมสูงสุด ประกอบด้วย 1. จุดวัดน้ำคลองลำชะล่า เขตคันนายาว 182 มิลลิเมตร (มม.) 2. สถานีสูบน้ำคลองสาทร เขตสาทร 142 มิลลิเมตร 3. จุดวัดน้ำอุทยานเบญจสิริ เขตคลองเตย 138.5 มิลลิเมตร 4. สถานีสูบน้ำคลองอรชร เขตปทุมวัน 128.5 มิลลิเมตร และ 5. สถานีสูบน้ำรัชดา-วิภาวดี เขตจตุจักร 125 มิลลิเมตร

               จากนั้นเวลา 15.17 น.  ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ แถลงภายหลังการประชุมว่า ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ผ่านมา มีฝนตกหนักมาโดยตลอด โดยเฉพาะ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ฝนตกหนักเป็นประวัติการณ์ โดยปริมาณฝนในรอบ 21 วันของเดือน มิ.ย. มีปริมาณฝนตกลงมาเฉลี่ยมากที่สุดถึง 2 เท่า เมื่อเทียบกับปริมาณฝนที่ตกลงมาช่วงเดียวกันในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา จึงเป็นฝนที่เกิดขึ้นช่วงสั้นแต่มีปริมาณมาก ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาได้ระบุว่า 1-2 วันนี้เป็นวันเสี่ยงอยู่ กทม.จึงประชุมเพื่อเพิ่มความพร้อมรับมือกับปัญหาฝนตก ซึ่งจะมีการเฝ้าระวังต่อไป โดยในพื้นที่เสี่ยงจะมีบุคลากรและอุปกรณ์ของ กทม. ต้องเข้าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงก่อนฝนมา โดยให้มีการเพิ่มบุคลากรในช่วงนี้ด้วย ขณะเดียวกันเป้าหมายหลักในการระบายน้ำอยู่ในเส้นทางหลัก ซึ่งเป็นเส้นเลือดในการสัญจรของประชาชน ถ้าหากเคลียร์เส้นทางหลักไม่ได้ ในซอยต่างๆ ก็เคลียร์ไม่ได้ ดังนั้น เมื่อเส้นทางหลักเคลียร์แล้ว สำนักงานเขตต้องเข้าไปดูแลในหมู่บ้าน ในตรอกซอกซอย โดยเน้นไปที่การดูแลผู้สูงอายุ และผู้ป่วยด้วย

 

น้ำรอระบายไม่ใช่น้ำท่วม!!

 

               ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ปริมาณฝนที่ตกลงมาเมื่อบ่ายวานนี้ (20 มิ.ย.) อยู่ที่ประมาณ 80 มิลลิเมตร และช่วงกลางคืนอีก 125 มิลลิเมตร ทำให้ 24 ชั่วโมงนี้มีปริมาณฝนกว่า 200 มิลลิเมตร ทำให้มี พื้นที่ 36 จุดที่เป็นปัญหา แต่ในเวลา 06.00 น. ได้ระบายไปแล้ว 27 จุด แต่ยังมีหน้าเดิมเช่นที่ลาดพร้าว รัชดาภิเษก วิภาวดีที่ยังมีน้ำท่วมอยู่ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้มีมาตรการดูแลระยะยาวในโครงการอุโมงค์ใต้คลองบางซื่อ ซึ่งจะเสร็จในเดือน เม.ย. 2560 แต่ช่วงนี้จะเตรียมการเต็มที่ โดยเฉพาะการเพิ่มเครื่องสูบน้ำเข้าไป รวมถึงการเร่งพร่องน้ำในคลอง แต่ถ้ามีปัญหาใกล้เคียงเช่นเดียวกับเมื่อคืน กทม.จะแก้ปัญหาให้ดีที่สุด และเดินหน้าต่อไป แต่ถามว่าพอใจหรือไม่ ตนก็ยังไม่พอใจ แต่ขอขอบคุณประชาชน และกราบขออภัยประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน รวมทั้งขออภัยที่จะไม่สะดวกในวันหน้าด้วย เพราะเราเป็นเมืองน้ำเป็นเมืองฝน น้ำต้องตามใจตนเองเพราะน้ำต้องไปที่ต่ำกว่า อย่างไรก็ตาม ขออย่าเรียกว่าน้ำท่วม ขอให้เรียกน้ำรอระบาย เพราะถ้าน้ำท่วมต้องเป็นเหมือนปี 2554

               ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับพื้นที่ที่สำนักการระบายน้ำเฝ้าระวังจุดอ่อนน้ำท่วม 19 แห่งในกรุงเทพฯ ประกอบด้วย ฝั่งพระนคร เขตบางเขน 1. บริเวณถนนแจ้งวัฒนะ จากวงเวียนหลักสี่ถึงหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เขตหลักสี่ 2. ถนนแจ้งวัฒนะ จากคลองประปาถึงซอยศูนย์ศูนย์ราชการ เขตจตุจักร 3. ถนนรัชดาภิเษก ช่วงหน้าธนาคารกรุงเทพ เขตบางซื่อ 4. ถนนประชาราษฎร์สาย 2 ช่วงแยกเตาปูน เขตดุสิต 5. ลานพระบรมรูปทรงม้า ฝั่งสวนอัมพร 6. ถนนราชวิถี หน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เชิงสะพานกรุงธนบุรี เขตราชเทวี 7. ถนนพญาไท ช่วงหน้ากรมปศุสัตว์ 8. ถนนศรีอยุธยา ช่วงหน้าสน.พญาไท เขตพระนคร 9. ถนนสนามไชย จากซอยเศรษฐการ ถึงถนนท้ายวัง และรอบสนามหลวง เขตสัมพันธวงศ์ 10. ถนนเจริญกรุง จากถนนแปลงนามถึงแยกหมอมี 11. ถนนเยาวราช ฝั่งเหนือ จากถนนทรงสวัสดิ์ ถึงถนนราชวงศ์ เขตสาทร 12. ถนนจันทร์ จากซอยบำเพ็ญกุศล ถึงไปรษณีย์ยานนาวา 13. ถนนสวนพลู จากถนนสาทรใต้ถึงถนนนางลิ่นจี่ เขตมีนบุรี 14. ถนนสุวินทวงศ์ จากคลองสามวาถึงคลองแสนแสบ

 

น้ำรอระบายไม่ใช่น้ำท่วม!!

 

               ส่วนพื้นที่ฝั่งธนบุรี ได้แก่ เขตตลิ่งชัน 15. ถนนฉิมพลี จากถนนบรมราชชนนี ถึงทางรถไฟสายใต้ เขตบางแค 16. ถนนเพชรเกษม บริเวณแยกพุทธมณฑลสาย 2 ถึงปากซอยเพชรเกษม 63 เขตบางบอน 17. ถนนบางนอน 1 จากถนนมหาชัย ถึงคลองบางโคลัด เขตบางขุนเทียน 18. ถนนบางขุนเทียน จากถนนพระรามที่ 2 ถึงถนนบางขุนเทียนชายทะเล เขตทุ่งครุ และ 19. ถนนประชาอุทิศ จากคลองรางจาก ถึงสำนักงานเขตทุ่งครุ

               นอกจากนี้ สำนักการระบายน้ำได้วางมาตรการป้องกัน กรณีฝนตกน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ 9 มาตรการ ประกอบด้วย 1. ติดเครื่องสูบน้ำตามจุดอ่อนต่างๆ เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว 2. ควบคุมระดับน้ำในคลองสายหลัก คลองสายรอง และบ่อสูบน้ำต่างๆ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม 3. ติดตั้งเรดาร์ติดตามสภาพอากาศตลอด 24 ชั่วโมง 4. แจ้งเตือนฝนให้หน่วยงานต่างๆ รับทราบ และเตรียมการรับมือเมื่อมีรายงานฝนจะตก 5. จัดเตรียมหน่วยเบสท์จำนวน 108 หน่วย สำหรับเข้าพื้นที่ก่อนฝนตกเมื่อได้รับแจ้งสถานการณ์ฝน 6. เมื่อหน่วยเบสท์เข้าถึงพื้นที่น้ำท่วมขัง จะรายงานเข้าศูนย์ป้องกันน้ำท่วมทันที 7. เมื่อศูนย์ป้องกันน้ำท่วมได้รับรายงานน้ำท่วมขังจะเร่งเข้าพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาโดยเร็ว 8. กรณีน้ำท่วมขังมากส่งผลกระทบต่อจราจรและประชาชน จะประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร หรือหน่วยงานอื่นๆ ร่วมบรรเทาปัญหาให้ประชาชน และ 9. ศูนย์ป้องกันน้ำท่วมรายงานสภาพอากาศ และปัญหาน้ำท่วมขังให้คณะผู้บริหารรับทราบ

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ