Lifestyle

TIJ จัดประชุมอาเซียนด้านยุติธรรมอาญา ACCPCJ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

TIJ จัดประชุมอาเซียนด้านยุติธรรมอาญา ACCPCJ ครั้งที่ 2 เสริมวัฒนธรรมป้องกัน สร้างนวัตกรรมยุติธรรม

             การป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาเป็นประเด็นที่ประชาคมอาเซียนให้ความสำคัญเสมอมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่แนวโน้มของอาชญากรรมมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คือ 
การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ส่งผลให้เกิดอาชญากรรมรูปแบบใหม่ หรือ อาชญากรรมทางไซเบอร์ ที่ท้าทายความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมในภูมิภาคอาเซียน

TIJ จัดประชุมอาเซียนด้านยุติธรรมอาญา ACCPCJ

       

       ในการนี้ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ในฐานะองค์กรประสานการจัดการประชุมอาเซียนว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (The ASEAN Conference on Crime Prevention and Criminal Justice - ACCPCJ) จึงได้จัดการประชุม ACCPCJ ครั้งที่ 2 ขึ้น ระหว่างวันที่ 27 -28 กุมภาพันธ์ 2563 ณ โรงแรมสวิสโซเทล กรุงเทพ รัชดา ภายใต้ธีม “การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการป้องกัน เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและนวัตกรรมทางยุติธรรมเพื่อทุกคน” (Promoting the ASEAN Culture of Prevention for a Collaborative and Innovative Justice for All) โดยมุ่งประเด็นการป้องกันอาชญากรรมทางไซเบอร์ (Cyber Crime) ภายไต้กรอบการดำเนินงานของที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านกฎหมาย (ASLOM)

         โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ เจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านกฎหมาย (ASLOM) ด้านอาชญากรรมข้ามชาติ (SOMTC) คณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (SOCA) ผู้แทนจากสำนักงานเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) ตลอดจนผู้กำหนดนโยบาย ผู้ปฏิบัติงาน และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม รวมถึงตัวแทนเยาวชนจากอาเซียน มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง ประสบการณ์ และแนวทางการปฏิบัติที่ดีระหว่างประเทศสมาชิก ส่งเสริมความร่วมมือทางกฎหมายการป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ การดำเนินงานด้านความยุติธรรมทางอาญาอย่างบูรณาการ และสนับสนุนการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนอย่างยั่งยืน

TIJ จัดประชุมอาเซียนด้านยุติธรรมอาญา ACCPCJ
             นายวงศ์เทพ อรรถไกวัลวที ที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การประชุมมีการอภิปราย 2 หัวข้อใหญ่ ได้แก่ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการป้องกัน เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและนวัตกรรมยุติธรรมเพื่อทุกคน และ ความท้าทายของอาชญากรรมไซเบอร์ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นฉันทามติจากประเทศอาเซียนทั้งหมดที่เข้าร่วมหารือว่าเป็นประเด็นที่ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบว่าอัตราการเกิดอาชญากรรมไซเบอร์ที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคอาเซียนเพิ่มสูงขึ้นมาก รวมถึง มีการพัฒนารูปแบบและการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการก่ออาชญากรรม ทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเห็นพ้องกันว่าควรมีความร่วมมือในการหามาตรการหรือข้อตกลงร่วมกันเพื่อป้องกันและรับมือกับปัญหาดังกล่าวที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

              นายวงศ์เทพ กล่าวว่า TIJ ในฐานะองค์กรประสานการจัดการประชุม ฯ ได้ประสานหน่วยงานที่ดูแลสาขาอื่นของอาเซียนเข้ามาร่วมอภิปรายในครั้งนี้ด้วย ทั้งเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ (SOMTC) คณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (SOCA) รวมถึงตัวแทนเยาวชนจากอาเซียน เนื่องจากในมิติของการป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์นั้น ไม่สามารถตอบสนองได้ด้วยกระบวนการยุติธรรมเพียงอย่างเดียว หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ประเทศใดประเทศหนึ่ง เพราะอาชญากรรมไซเบอร์มีความเกี่ยวข้องในมิติอื่นๆ ทั้งสังคม วัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจ อีกทั้งยังส่งผลกระทบทั้งในระดับบุคคล สังคม ประเทศ และภูมิภาค เช่น การฉ้อโกงผ่านทางระบบการเงินออนไลน์ การลักลอบขโมยข้อมูลองค์กร การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กในโลกออนไลน์ รวมถึงการค้ามนุษย์ เป็นต้น


               ทั้งนี้ TIJ จะนำผลจากการประชุม ACCPCJ ครั้งที่ 2 นำเสนอต่อที่ประชุมของอาเซียนในสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเพื่อพัฒนาความร่วมมือทางการป้องกันอาชญากรรม และความยุติธรรมทางอาญาของประชาคมอาเซียนให้รับมือต่อปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ได้ดียิ่งขึ้น โดยการประชุมที่เกี่ยวข้องครั้งต่อไป คือ การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านกฎหมาย (ASEAN Senior Law Officials Meeting: ASLOM) ครั้งที่ 19 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 - 26 มีนาคม 2563 ณ กรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา


                 นายโสวันนาแซม อุน ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและข้อตกลง สำนักงานเลขาธิการอาเซียน กล่าวถึงความสำคัญในความร่วมมือเพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ในภูมิภาคอาเซียนว่า ปัจจุบันอาเซียนอยู่ในยุคอุตสาหกรรม 4.0 และเป็นที่คาดการณ์กันว่าในปี 2025 ภูมิภาคอาเซียนจะมีตลาดเศรษฐกิจดิจิตัลใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก คิดเป็นมูลค่ากว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ ในขณะที่เศรษฐกิจเติบโตขึ้น ก็ตามมาด้วยปัญหาอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน และมีการศึกษาจาก World Economic Forum ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า มูลค่าของผลประโยชน์ที่อาชญากรจะได้รับนั้นสูงถึง 8 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นจำนวนมหาศาล ทำให้ United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC) เอง ก็มีการหารือกันและให้คำปรึกษารวมถึง ให้ความช่วยเหลือในประเด็นดังกล่าวเช่นกัน

 


                นางสาวลอแรน มารี ที บาดอย รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงการปฏิบัติการและการสื่อสาร ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ในฟิลิปปินส์ การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็กในโลกออนไลน์ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจำนวนมากและนี่คือ การค้ามนุษย์รูปแบบหนึ่ง เพียงแต่มันถูกทำให้เกิดขึ้นได้ง่ายและมากขึ้นด้วยการใช้เทคโนโลยี เราคงต้องยอมรับว่าอาชญากรรมที่เกิดขึ้นทุกวันนี้มันไร้พรมแดน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ มีความซับซ้อนและต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดการ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความพยายามการปรับปรุงในเรื่องกระบวนการยุติธรรมทางอาญาให้ดีที่สุดและทำได้รวดเร็วและดีขึ้น แต่ยังมีเด็กที่ตกเป็นเหยื่ออีกหลายพันคนในฟิลิปปินส์ การป้องกันอาชญากรรมและการส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการป้องกันร่วมกันภายในภูมิภาคจึงเป็นเรื่องสำคัญ เราไม่สามารถทำงานแบบต่างคนต่างทำได้อีกต่อไป เราจะต้องยกระดับความร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์และอาชญากรรมข้ามชาติ เพราะปัจจุบัน โลกของเรามันเล็กลงจนแทบจะไร้พรมแดน

 


               นางสาว เหวียน ฟาน ถุ่ย ลิน ผู้แทนเยาวชนเวที TIJ Youth Forum จากประเทศเวียดนาม แสดงความคิดเห็นเรื่องของอาชญากรรมไซเบอร์ในมุมมองของเยาวชนว่า ในประเทศเวียดนาม เด็กๆ เข้าถึงอินเตอร์เน็ตตั้งแต่อายุยังน้อย แต่แม้จะมีทักษะในการใช้เทคโนโลยี แต่ขาดการตระหนักรู้หรือไม่มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม ไม่มีหลักสูตรหรือการให้การศึกษาด้านความเท่าทันสื่อ (Media Literacy) อย่างจริงจัง ซึ่งสิ่งนี้ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะในเวียดนาม แต่ยังเป็นปัญหาร่วมกันในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย สำหรับแนวทางของการแก้ปัญหานั้น ทางกลุ่มเยาวชนของเราก็พยายามรับมือ โดยพยายามสร้างทักษะในด้านการเท่าทันสื่อ ให้กับเยาวชน พยายามจัดเวิร์คชอปที่โรงเรียน และทำออนไลน์โปรแกรมที่ชื่อว่า Disconnected จัดสัมมนา รวมถึงการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญากรรมไซเบอร์มาให้ความรู้ด้วย 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ