ข่าว

พลังงานโลก...

พลังงานโลก...

02 ต.ค. 2553

ขอกล่าวถึงหนังสือแปล “ไตรวิกฤต : ปัญหาหลัก 3 ประการที่กำลังคุกคามการอยู่รอดของโลก” ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ อีกสักครั้ง คราวนี้จะว่าเฉพาะพลังงานของโลก

 เมื่อวันที่ 16 กันยายน เดือนที่แล้ว เป็น “วันโอโซนโลก” และที่เมืองไทยของเราได้มีงานการประชุมเกี่ยวกับพลังงานยุคใหม่เพื่อสภาพแวดล้อมในเดือนเดียวกันนี้ ไม่เห็นมีใครใส่ใจเพราะมัวแต่บ้าเรื่อง 3จี กันอยู่

 หนังสือเล่มนี้ที่เรียบเรียงเขียนขึ้นโดย ซูซูมุ โยดะ แห่งสถาบันกลางเพื่อการวิจัยอุตสาหกรรมพลังไฟฟ้า บอกว่าโลกปัจจุบันนี้ อารยธรรมแห่งพลังงานได้ฝังรากลึกในประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลาย และประเทศที่กำลังพัฒนาก็พร้อมที่จะรับผลประโยชน์จากอารยธรรมนี้เอาไว้อย่างเหนียวแน่น ยากที่จะแก้ปัญหา

 ในขณะที่เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหินเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป นั่นก็คือวันหนึ่งข้างหน้าจะไม่มีหลงเหลือให้ใช้กันได้อีก สังคมผู้ใช้พลังงานของเราจะสามารถเพลิดเพลินกับการใช้พลังงานฟอสซิลต่อไปได้อย่างมากอีกไม่เกิน 200 ปี

 เรากำลังผลาญทรัพยากรที่สะสมในโลกมาหลายร้อยล้านปีให้หมดไปในเวลาแค่ 200-400 ปี เท่านั้น

 ทุกวันนี้อัตราการใช้พลังงานยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างเป็นทวีคูณ โดยเฉพาะน้ำมัน ถ้าหากใช้กันฟุ่มเฟือยและทิ้งขว้างอยู่อย่างนี้ ถึงกลางศตวรรษนี้ก็อาจจะเหลือเพียงแค่เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างถ่านหินเท่านั้นให้ขุดใช้

 หนังสือกล่าวว่าในปีค.ศ.2050 คาดว่าความต้องการพลังงานอย่างน้ำมันจะสูงกว่าความต้องการจากปัจจุบันนี้ถึง 6 เท่า และถ้าหากว่าจำเป็นต้องใช้กันแต่ถ่านหิน การผลิตถ่านหินก็จะสูงขึ้นเป็น 3 เท่า ซึ่งจะส่งผลให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยิ่งแพร่กระจายขึ้นออกไปทั่วโลกประมาณถึง 2.5 เท่าจากที่เป็นอยู่

 และเมื่อถึงวันนั้น สภาพของอากาศและฤดูกาลต่างๆ จะแปรปรวนถึงขนาดว่า มนุษยชาติอาจถูกทำลาย อย่างสิ้นเชิงโดยไม่มีทางหลีกเลี่ยง

 ซูซูมุ โยดะ บอกว่า ระบบป้องกันอุบัติภัยของโลกอย่างบรรยากาศชั้นโอโซน กำลังถูกทำลายลงด้วยอารยธรรมแห่งพลังงาน หรือการใช้พลังงานและก่อให้เกิดทั้งปฏิกิริยาเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะโลกร้อน และเกิดมลพิษขึ้นทั่วทั้งฟ้าดินน้ำ เช่น ไอเสียรถยนต์ ควันพิษจากโรงงาน ในขณะที่ตามท้องนาท้องไร่ก็เกลื่อนไปด้วยปุ๋ยเคมี สารปราบศัตรูพืชที่มีแต่จะทำให้เกิดก๊าซพิษเป็นภัยต่อธรรมชาติ

 เพราะเอกลักษณ์ของอารยธรรมแห่งพลังงานนั้นก็คือการอุปโภค บริโภค กินใช้ กับการถ่ายทิ้งเป็นของเสียหรือขยะ

 ซูซูมุ โอดะ ได้กล่าวเปรียบเทียบถึงความแปรปรวนไม่แน่นอนของดินฟ้าอากาศโลกทุกวันนี้ว่า เหมือนกับนั่งเครื่องบินจัมโบเจ็ตเข้าไปในหมู่เมฆอันมืดมิด ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แม้แต่คอมพิวเตอร์อัจฉริยะก็ไม่สามารถจะช่วยได้ คนทั้งหลายในโลกเปรียบเหมือนผู้โดยสารบนเครื่องบินลำเดียวกัน ถ้าเครื่องบินตกจะไม่มีใครรอดชีวิตเลย

 ส่งที่หนังสือพยายามจะบอกก็คือศตวรรษที่ 21 มนุษย์จะต้องร่วมกันสร้างสรรค์อารยธรรมใหม่ ด้วยการร่วมมือกันข้ามชาติ ประเทศท้องถิ่นออกไปให้เป็นปัญหาร่วมกันของคนทั้งโลก ด้วยเทคโนโลยีใหม่ สร้างเศรษฐกิจใหม่และสภาพแวดล้อมใหม่ขึ้น ทั้งนี้ด้วยการปฏิรูป ปฏิวัติทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม ฯลฯ รวมทั้งต้องพัฒนาการศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อม ให้รู้จักการประหยัดและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

 ซูซูมุ โยดะ บอกว่า ต้อง “คิดระดับโลก” และ “ลงมือทำระดับโลก”