
ไขข้อกฎหมาย "แพทองธาร" เป็น รมว.วัฒนธรรม "สุริยะ" ยุบสภา ได้ไหม
นายกสมาคมทนายฯ เผยข้อกฎหมาย "แพทองธาร" เป็น รมว.วัฒนธรรม ได้ ยังไม่ขาดคุณสมบัติ รมต. ส่วน "สุริยะ" มีอำนาจกราบบังคมทูลยุบสภาได้
3 ก.ค.2568 นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นถึงกรณี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ผ่านเฟซบุ๊กสมาคมทนายความ ว่า
ผลภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว กรณีคลิปเสียงสนทนากับฮุนเซนหลุดออกสู่สาธารณะ นั้น ได้เกิดคำถามทางกฎหมายเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของรักษาการแทนนายกรัฐมนตรีหลายประการ ผมจึงขอสรุปคำถามสำคัญและความเห็น ดังนี้
(1) คำถามแรกคือการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น นายกรัฐมนตรียังสามารถปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมได้หรือไม่
คำตอบ คือ "ได้" เพราะคำสั่งของศาลเป็นคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบ มาตรา 82 วรรคสอง โดยศาลยังมิได้มีคำวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) ประกอบ มาตรา 160 (4) และ (5) นายกรัฐมนตรีจึงยังไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี จึงสามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและปฏิบัติหน้าที่ได้
(2) คำถามต่อมาก็ คือ รองนายกรัฐมนตรี สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งมีอาวุโสสูงสุดขณะนี้ และเป็นผู้รักษาการแทนนายกรัฐมนตรีสามารถนำ คณะรัฐมนตรีใหม่เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ได้หรือไม่
คำตอบคือ "ได้" ทั้งนี้เนื่องจากนายกรัฐมนตรีหรือผู้รักษาการแทน เป็นเพียงผู้นำรัฐมนตรีใหม่เข้าเฝ้าเพื่อถวายสัตย์ฯ เท่านั้น ส่วนการถวายสัตย์ฯ เป็นการกระทำของรัฐมนตรีแต่ละคนด้วยการเปล่งวาจาด้วยข้อความที่ระบุไว้ใน มาตรา 161
ส่วนนายกรัฐมนตรีหรือผู้รักษาการแทนผ่านการถวายสัตย์ฯ มาแล้ว จึงไม่ต้องถวายสัตย์ฯ ซ้ำอีก ดังนั้น รองนายกรัฐมนตรีที่รักษาการแทนจึงสามารถนำ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าเฝ้าได้ เนื่องจากการนำบุคคลเข้าเฝ้ามิได้เป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
(3) คำถามสุดท้ายที่ถามกันมากคือ รองนายกรัฐมนตรีที่รักษาการแทนมีอำนาจ "ยุบสภา" หรือไม่ เรื่องนี้ต้องตอบว่า การยุบสภาไม่ได้เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี แต่เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 103 ที่บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎร ฯลฯ” นายกรัฐมนตรีจึงเป็นเพียงผู้ถวายคำแนะนำหรือนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงยุบสภา ซึ่งการถวายคำแนะนำดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่ มิใช่เป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของนายกรัฐมนตรีโดยเฉพาะ
กรณีนี้แตกต่างจากการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีหรือการให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 171 บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ กล่าวคือเมื่อนายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ พระมหากษัตริย์จะทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตามนั้น
ดังนั้น สรุปได้ว่ารองนายกรัฐมนตรีรักษาการแทน จึงมีอำนาจที่จะปฏิบัติหน้าที่แทนโดยการถวายคำแนะนำหรือกราบบังคมทูลให้ทรงยุบสภาได้ แต่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ต้องทรงยุบสภาตามการถวายคำแนะนำดังกล่าวแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นพระราชอำนาจ จึงทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยถึงความเหมาะสมได้