ข่าว

ด่วน ศาล รธน. สั่ง "แพทองธาร" หยุดปฏิบัติหน้าที่ นายกรัฐมนตรี

ด่วน ศาล รธน. สั่ง "แพทองธาร" หยุดปฏิบัติหน้าที่ นายกรัฐมนตรี

01 ก.ค. 2568

ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่ง "แพทองธาร" หยุดปฏิบัติหน้าที่ นายกรัฐมนตรี หลังรับคำร้องของ สว. พิจารณาคลิปเสียงหลุดสนทนาฮุนเซน

1 ก.ค. 2568 ที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญ มีการพิจารณาคำร้องต่างๆ รวมถึงคดีที่นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ยื่นคำร้องของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 36 คน ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรค 3 ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นนายกรัฐมนตรีของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่

ซึ่งการยื่นคำร้องเป็นกรณีคลิปเสียงหลุด ระหว่างสนทนากับสมเด็จฮุน เซน ประธานวุฒิสภา และอดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา โดยขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 71 ประกอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562 ข้อ 40 (8)


ล่าสุด ศาล รธน. มีมติ 7 ต่อ 2 มีคำสั่ง ให้ น.ส.แพทองธาร หยุดปฏิบัติหน้าที่ การเป็น นายกรัฐมนตรี หลังมีคำสั่งรับคำร้องของ สว.
 

รายละเอียด 
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า กรณีเป็นไปตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา 7 (9) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย แจ้งผู้ร้องทราบ และให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 54สำหรับคำขอให้สั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก (7 ต่อ 2) เห็นว่า ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม
ประกอบมาตรา 82 วรรคสอง มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีนับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไปจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย แจ้งให้ผู้ร้องและผู้ถูกร้องทราบ


ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย จำนวน 2 คน คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และนายอุดม สิทธิวิรัชธรรม เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องยังไม่ยุติชัดเจน ให้ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้อง มีกรณีตามที่ถูกร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคสอง แต่เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง ให้ใช้มาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 71 ห้ามมิให้ผู้ร้องใช้หน้าที่และอำนาจด้านความมั่นคง ด้านการต่างประเทศ และด้านการคลัง จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย