ข่าว

ครม. ไฟเขียวแก้ พ.ร.บ. รฟม. ดัน "นโยบาย 20 บาทตลอดสาย" ก่อน ก.ย. นี้

ครม. ไฟเขียวแก้ พ.ร.บ. รฟม. ดัน "นโยบาย 20 บาทตลอดสาย" ก่อน ก.ย. นี้

20 พ.ค. 2568

ครม. ไฟเขียวแก้ พ.ร.บ. รฟม. ดัน รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย" เตรียมดึงกำไรสะสม รฟม. 8 พันล้านบาท ชดเชยรายได้เอกชน รับ 20 บาทตลอดสาย คาดทันใช้ก.ย.นี้

20 พ.ค.2568 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า  ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติร่างพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ฉบับที่....) พ.ศ. .... หลังจากนี้ตามแผนจะเข้าสู่การเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาในวาระที่ 1-วาระที่ 3 ตามลำดับ คาดว่าจะสามารถดำเนินการในส่วนนี้ได้ทันภายในเดือนกันยายนนี้ 

 

 

“การขับเคลื่อนนโยบาย 20 บาทตลอดสายนั้น จะต้องสอดคล้องกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตั๋วร่วมด้วย ซึ่งพ.ร.บ. ตั๋วร่วมฉบับปัจจุบันมีข้อจำกัดที่กองทุนภายใต้ พ.ร.บ. สามารถรับได้แต่เงินบริจาคเท่านั้น แต่ไม่สามารถให้กู้ยืมได้ ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไข พ.ร.บ. รฟม.เพื่อให้กองทุนสามารถให้กู้ยืมได้ ซึ่งเรื่องนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาวาระ 2 โดยกระทรวงคมนาคมยืนยันว่าการแก้ไข พ.ร.บ. รฟม. และ พ.ร.บ. ตั๋วร่วมจะดำเนินการไปพร้อมกันเพื่อให้แล้วเสร็จก่อนเดือนกันยายนนี้ เพื่อให้การดำเนินนโยบายค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายเป็นไปอย่างราบรื่น” นายสุริยะ กล่าว 
 

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า กระทรวงฯ ยังยืนยันว่ามาตรการนี้จะใช้เงินชดเชยจากกำไรสะสมขอรฟม.เพียง 8,000 ล้านบาทต่อปี ไม่มีการปรับเพิ่มกรอบวงเงินเป็น 9,500 ล้านบาท อย่างที่เป็นข่าวแน่นอน

 

อย่างไรก็ดีในระหว่างนี้ กรรมาธิการยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดจัดตั้งกองทุนตั๋วร่วม และการกำกับดูแล ชดเชยส่วนต่างค่ารายได้ของผู้ประกอบการรถไฟฟ้าทั้งหมด 
 

ทั้งนี้ เบื้องต้นกระทรวงการคลังได้พิจารณาแล้วเห็นควรว่า ให้ปรับปรุงแก้ไขร่างพ.ร.บ. รฟม. ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการและเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินกิจการรถไฟฟ้า และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง 
 

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังให้ความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการตามบทบัญญัติของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีบทบัญญัติที่ก่อให้เกิดผลผูกพันทรัพย์สินหรือภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ ดังนั้นในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวควรคำนึงถึงประเด็นความคุ้มค่า ต้นทุนและผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม