
แพทยสภา แจงสอบจริยธรรมหมอรักษา ‘ทักษิณ’ ยังอยู่ในขั้นตอน
แพทยสภา แจงสอบจริยธรรมหมอรักษา ‘ทักษิณ’ ยังอยู่ในขั้นตอน ผลเป็นอย่างไรส่งสภานายกพิเศษรับรอง ถ้ามีข้อโต้แย้ง ต้องนำกลับบอร์ดแพทยสภาพิจารณาอีก
ตามที่มีข่าวออกมาก่อนหน้านี้ว่า คณะกรรมการแพทยสภาจะมีการพิจารณาและตัดสินจริยธรรมของแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์และแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ ที่ให้การดูแลรักษา นายทักษิณ ชินวัตร ในวันที่ 10 เมษายน 2568 กระทั่งมีข่าวออกมาก่อนหน้านี้ว่า ยังไม่มีการพิจารณาในวันดังกล่าว ประกอบกับมีเอกสารเพิ่มจากทั้งสองหน่วยงานเข้ามาด้วยนั้น
ล่าสุดวันที่ 10 เมษายน 2568 ที่แพทยสภา ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา อุปนายกแพทยสภา พร้อมด้วย รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ กรรมการแพทยสภา และ รศ.นพ.ต่อพล วัฒนา กรรมการแพทยสภา แถลงข่าวภายหลังการประชุมแพทยสภาถึงกรณีการสอบสวนจริยธรรมทางวิชาชีพเวชกรรมของแพทย์รพ.ราชทัณฑ์และแพทย์ รพ.ตำรวจ กรณีการพักรักษาตัวของ นายทักษิณ ชินวัตร ที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ ทั้งนี้ มี ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี เป็นประธานคณะอนุกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจ อยู่ภายในการแถลงข่าวด้วย
รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ กรรมการแพทยสภา กล่าวว่า ตนขออธิบายขั้นตอนการพิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีที่มีแพทย์ถูกร้องเรียน โดยเริ่มต้นจากเมื่อมีผู้ร้องเรียนเข้ามา ก็จะมีการส่งเรื่องไปยังลำดับที่
1 คณะอนุกรรมการจริยธรรมพิจารณา ซึ่งมีกรอบเวลาในการทำงาน 4 เดือน ขยายเวลาได้ 2 เดือน จากนั้นจะนำมติเข้าสู่ลำดับที่2
2 อนุกรรมการกลั่นกรอง ให้ความเห็นเพิ่มเติมประกอบในสำเนา มีกรอบเวลาทำงาน 1-2 เดือน จากนั้นก็จะส่งมายังลำดับที่3
3 คณะกรรมการแพทยสภาชุดใหญ่ที่มีการประชุมเดือนละ 1 ครั้ง โดยขั้นตอนนี้มีกรอบเวลา 1-2 เดือนในการพิจารณาว่าคดีที่ถูกร้องมีมูลหรือไม่ หากไม่มีมูลก็จะจบไป แต่ถ้ามีมูลก็ต้องสอบสวนเพิ่มเติมในลำดับที่4
4 อนุกรรมการสอบสวนพิจารณาคดีต่อ ซึ่งมีการกำหนดกรอบเวลาชัดเจนว่าจะต้องสิ้นสุดลงเมื่อใด โดยนับเวลาตั้งแต่วันที่อนุกรรมการสอบสวนได้รับเอกสาร จะให้เวลาประมาณ 180 วันหรือ 6 เดือน ให้มีมติว่ามีการ “ยกข้อกล่าวหา” หรือ “ผู้ถูกร้องมีความผิด”
“กรณีที่มีความจำเป็นจริงๆ ถ้าเห็นว่าสอบสวนไม่ทัน เช่น ต้องใช้เวลารอเอกสาร ติดต่อไม่ได้ จะมีการขยายเวลาได้ครั้งละ 1 เดือน เต็มที่ไม่เกิน 120 วัน 4 เดือน ดังนั้นระยะเวลาที่อยู่ในอนุกรรมการสอบสวน ถ้าไม่มีการต่ออายุจะจบสิ้นภายใน 6 เดือน ขยายเต็มที่ก็ไม่ให้เกิน 4 เดือน” รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี กล่าว
รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี กล่าวต่อว่า จากนั้น สำเนาจะถูกส่งไปยังลำดับที่ 5 อนุกรรมการกลั่นกรองที่มีบุคคลภายนอกซึ่งไม่ใช่แพทย์ แต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมายระดับประเทศ ให้ความเห็นต่อคดีเพื่อให้มีความแน่นหนาต่อการทำสำนวน ต่อมาก็จะส่งมาลำดับที่ 6 คณะกรรมการแพทยสภาอีกครั้ง เพื่อพิจารณาว่ามีผู้ถูกร้องมีความผิด ต้องลงโทษอย่างไร หรือต้องมีการยกข้อกล่าวหาไป สุดท้ายจะเป็นลำดับที่ 7 เสนอต่อสภานายกพิเศษ ซึ่งถ้ามีการพิจารณาโต้แย้ง ก็จะต้องย้อนกลับมายังคณะกรรมการแพทยสภาลงความเห็น ถ้า 2 ใน 3 ยืนยันมติเดิมก็จะมีการยื่นต่อศาลปกครองต่อไป แต่ถ้าเสียงไม่ถึง 2 ใน 3 ก็จะถือว่ายึดตามความเห็นของสภานายกพิเศษ
1-2 เดือนเร็วสุด หากอนุฯสอบสวนดำเนินการทันกรอบเวลา
ส่วนคดีที่เป็นประเด็นนั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ 4 คือ อนุกรรมการสอบสวน และในกรอบเวลายังไม่ครบ 6 เดือนตามที่กำหนด ยังมาไม่ถึงอนุกรรมการกลั่นกรอง หรือคณะกรรมการแพทยสภา ตามที่เป็นข่าว ไม่ได้มีการบรรจุวาระตั้งแต่ต้น ไม่ได้มีการเลื่อนวาระใดๆ และอนุกรรมการสอบสวนยังไม่ได้ขอขยายเวลา สมมติทำทันตามกรอบเวลา ก็จะมีการเสนอเข้าคณะกรรมการแพทยสภาภายใน 1-2เดือนนี้ เป็นข้อเท็จจริงเบื้องต้น ซึ่งทุกกรณีดำเนินการเช่นนี้ทั้งสิ้น เพราะเป็นไปตามข้อบังคับแพทยสภา ถ้าไม่ทำก็อาจจะมีความผิด เนื่องจากใช้อำนาจทางปกครอง อาจจะถูกตรวจสอบโดยศาลปกครอง
“คำตอบของคดีนี้ ความเร็วที่จะเข้ามาถึงการพิจารณาของคณะกรรมการแพทยสภาชุดใหญ่อยู่ที่ 1-2 เดือนนี้ ไม่เดือนพ.ค.-มิ.ย. 2568 หากอนุกรรมการสอบสวนดำเนินการได้ทันตามกรอบเวลา 6 เดือนและไม่ได้ขอขยายเวลา” ตามข้อบังคับ หากอนุกรรมการสอบสวนเห็นว่าควรจะรับเพิ่มก็สามารถทำได้ โดยที่เอกสารนั้นไม่ได้เป็นไปในลักษณะการประวิงเวลาหรือไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่สอบสวน
หวั่นถูกศาลปกครองตีกลับ
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา อุปนายกแพทยสภา คนที่ 1 กล่าวว่า การดำเนินการตามขั้นตอนมีความสำคัญ เนื่องจากเคยมีคดีที่แพทยสภาเคยตัดสินไป แต่เมื่อไปถึงศาลปกครอง หากกระบวนการทำไม่ถูกต้อง เรื่องมีโอกาสย้อนกลับมา อาจทำให้เรื่องนั้นเสียไปเลย จึงต้องทำตามขั้นตอนที่กำหนดเอาไว้ ตามกรอบเวลา
“ขณะนี้การทำงานของอนุกรรมการสอบสวนชุดพิเศษ ที่มี ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี ประธานอยู่ที่ระยะเวลา 5 เดือน ยังทำงานเต็มที่ อย่างอิสระ แต่กระบวนการสอบสวน ข้อมูลต่างๆจะต้องไม่มีการเผยแพร่ออกมาก่อน เพราะอาจทำให้การสอบสวนผิดไปจากที่ควรเป็น” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
สภานายกพิเศษมีสิทธิโต้แย้งคำตัดสิน
สภานายกพิเศษแห่งแพทยสภาที่เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขนั้น มีผลต่อการตัดสินของคณะกรรมการแพทยสภาหรือไม่? รศ.นพ.ต่อพล วัฒนา ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า เมื่อคณะกรรมการแพทยสภาพิจารณาแล้วเสร็จไม่ว่าจะพิจารณาว่ายกข้อกล่าวโทษหรือมีความผิด ตามกฎหมายก็จะส่งเรื่องให้สภานายกพิเศษให้การรับรอง หากไม่ให้การรับรองภายใน 15 วันก็จะถือว่ามติมีผล หากไม่ให้การรับรองแล้วมีข้อโต้แย้งกลับมา คณะกรรมการแพทยสภาจะต้องกลับมาพิจารณาใหม่ ลงมติเสียงเกิน 2 ใน 3 ยึดมติของคณะกรรมการแพทยสภา แต่ถ้าเสียงน้อยกว่านี้ไปที่สภานายกพิเศษ