
ส่องแคนดิเดต ผบ.ตร. คนที่ 15 หลัง "บิ๊กโจ๊ก" ตกเก้าอี้
ส่องแคนดิเดต ผบ.ตร. คนที่ 15 มีใครบ้าง หลัง "บิ๊กโจ๊ก" ตกเก้าอี้ คาดกระบวนการแต่งตั้งปีนี้ จะมีขึ้นช่วงต้นเดือน ต.ค. 2567
เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล หรือ "บิ๊กโจ๊ก" หมดสิทธิ์ชิงเก้าอี้ ผบ.ตร. คนที่ 15 ภายหลัง เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี โปรดเกล้าฯ "บิ๊กโจ๊ก" พ้นตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. ตั้งแต่ 18 เม.ย. 2567 "คมชัดลึกออนไลน์" ชวนส่องแคนดิเดต ผบ.ตร. คนที่ 15 มีใครอีกบ้าง โปรไฟล์เป็นอย่างไร ได้จากรายงานชิ้นนี้
เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่เดือน พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล จะต้องอำลาตำแหน่ง ผบ.ตร. คนที่ 14 ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มาตรา 77 การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่ง "ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศ "พล.ต.อ." ซึ่งดำรงตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติ หรือ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ตามเจตนารมย์ของกฎหมายต้องการให้แต่งตั้งผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้คำนึงถึงความอาวุโส และความรู้ความสามารถประกอบกันหมายความว่า ให้น้ำหนักอาวุโส 50 % และความรู้ความสามารถอีก 50% อย่างละเท่าๆ กัน
อย่างไรก็ตามสิ้นเดือน ก.ย. 2567 มีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เกษียณอายุราชการ 1 คน คือ พล.ต.อ. สราวุฒิ การพานิช รอง ผบ.ตร. ทำให้เหลือ "รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ จเรตำรวจแห่งชาติ" ที่เป็นแคนดิเดต ผบ.ตร. คนที่ 15 จำนวน 3 คน เรียงตามลำดับอาวุโส ดังนี้
- 1. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. เกษียณอายุราชการ ปี 2569
- 2. พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง จเรตำรวจแห่งชาติ เกษียณอายุราชการ ปี 2568
- 3. พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร. เกษียณอายุราชการปี 2569
ส่องโปรไฟล์แคนดิเดต ผบ.ตร. คนที่ 15
1. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 25 และนักเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่น 41 ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. รับผิดชอบหน้างานป้องกันและปราบปราม เป็นผู้อำนวยการศูนย์ ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศอ.ปส.ตร.), ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.)
2. พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 23 และนักเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่น 39 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติ และเป็นผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามการกระทำผิดความผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปนม.ตร.), ศูนย์บังคับและต่อต้านอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก (โดรน) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศบตอ.ตร.)
3. พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 26 และนักเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่น 42 ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. รับผิดชอบงานสืบสวนสอบสวน และงานความมั่นคงและกิจการพิเศษ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปน.ตร.), ศูนย์ปราบปรามคนร้ายข้ามชาติและเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปชก.ตร.)
สำหรับไทม์ไลน์การแต่งตั้ง ผบ.ตร. ปกติจะมีขึ้นช่วงปลายเดือน ส.ค. ของทุกปี แต่เนื่องจาก กฎ ก.ตร. ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2567 ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 5 เม.ย. 2567 และจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วัน ซึ่งคาดว่ากระบวนการแต่งตั้งจะมีขึ้น ช่วงประมาณต้นเดือน ต.ค. 2567
"พล.ต.อ.เอก" เชื่อ "บิ๊กโจ๊ก" หมดสิทธิ์ชิงเก้าอี้ ผบ.ตร.คนที่
ขณะเดียวกัน เมื่อ 10 ส.ค. 2567 พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานะของ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ว่า ทางกฎหมายได้บัญญัติไว้ในมาตรา 133 (4) หากมีกระบวนการเรื่องให้พ้นจากตำแหน่งเสร็จสมบูรณ์ โดยการกราบบังคมทูล ก็ถือว่า พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ พ้นจากตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. และไม่ได้มีสถานะเป็นข้าราชการตำรวจ ถ้าหากว่า พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ไม่มีสถานะเป็นรอง ผบ.ตร. ก็ไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นแคนดิเดตในการที่นายกรัฐมนตรี จะเสนอชื่อแต่งตั้งเป็น ผบ.ตร. วาระการแต่งตั้ง วันที่ 2 ต.ค. ของปีนี้
เมื่อถามว่าหาก พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดแล้วกลับเข้ารับราชการตํารวจได้อีกหรือไม่ พล.ต.อ.เอก กล่าวว่า เมื่อ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ไปยื่นฟ้องศาลปกครองสูงสุดแล้ว ณ เวลานี้ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะมีการเสร็จสิ้นจากทางศาลปกครองสูงสุดเมื่อไหร่ หากสมมุติว่าเสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 1 ปี แล้วมีคำวินิจฉัยเป็นคุณต่อ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ต้องมีการแจ้งยกเลิกคำสั่งให้ออกจากราชการ โดย พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ จะได้กลับมาเป็น รอง ผบ.ตร. และมีผลย้อนไปตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย. 2567
พล.ต.อ.เอก กล่าวอีกว่า กรณี พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ยังมีเรื่องคณะกรรมการสอบสวนวินัยที่ต้องติดตาม หากสอบสวนแล้วได้ผลว่า พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ กระทำความผิดจริง ผู้บังคับบัญชาจะต้องมีคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ออกจากราชการจริง คือ ปลดออก-ไล่ออก ทันที แต่หากสอบสวนแล้วว่า พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ไม่ผิดก็ต้องสั่งยุติคำสั่งก่อนหน้านี้ และเรียก พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ กลับเข้ามารับราชการ ซึ่งคำสั่งที่ออกจากราชการไว้ก่อน ที่มีการสู้กันในศาลปกครองชั้นสูงสุดจะถือว่าจบสิ้นทันที และไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เพราะคำตัดสินจริงๆ ที่จะให้ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ออกจากราชการคือการสอบสวนจากวินัย
"หากคำสั่งของคณะกรรมการสอบสวนวินัยที่อยู่ระหว่างการดำเนินการสอบสวน มีคำสั่งว่า พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ผิดวินัยจริง นั่นหมายความว่า พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ จะต้องออกจากราชการเลย จากนั้น พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ก็จะต้องไปร้องอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค.ตร. อีกครั้งหนึ่ง ซึ่ง ก.พ.ค.ตร.ก็ต้องพิจารณา และหากวินิจฉัยว่าไม่เป็นคุณต่อพล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ทาง พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ จะต้องใช้สิทธิฟ้องศาลปกครองสูงสุด โดยเป็นเรื่องของการใช้สิทธิในการต่อสู้คำสั่งที่ให้ออกจากราชการจริง ส่วนตอนนี้ที่มีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนนั้น คือคำสั่งให้ออกจากราชการชั่วคราว" พล.ต.อ.เอก กล่าว
เมื่อถามว่าหากคณะกรรมการสอบสวนวินัยสอบสวนเสร็จ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ อาจจะมีโอกาสชิงตำแหน่ง ผบ.ตร.หรือไม่ พล.ต.อ.เอก กล่าวว่า กระบวนการพิจารณาจะต้องใช้ระยะเวลา 2-3 เดือน แน่นอนว่า พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ อาจจะไม่ทันได้ชิงตำแหน่ง ผบ.ตร. ปีนี้ แต่เรื่องหลักอยู่ที่คณะกรรมการสอบสวนวินัยที่กำลังดำเนินการความคืบหน้า
ที่ตนเองทราบล่าสุดทางคณะกรรมการสอบสวนวินัยจะเรียก พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ รับทราบข้อกล่าวหา พอรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว กระบวนการอย่างอื่นก็ไม่น่าจะมีอะไร หลังจากสอบปากคำ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ เสร็จสิ้นก็มีการสรุปผลการสอบสวนพิจารณาทางด้านวินัย