ข่าว

พลิกแฟ้มคดี “ทนายถุงขนม” ของ พิชิต ชื่นบาน ต้นเหตุร้องถอดถอน “นายกเศรษฐา”

ย้อนรอยคดี “ทนายถุงขนม” ต้นเรื่องของ "พิชิต ชื่นบาน" เหตุแห่งการเข้าชื่อของ 40 สว. ร้องศาลรัฐธรรมนูญถอดถอน “นายกเศรษฐา”

ในวันที่ 14 ส.ค. 2567 นี้ จะเป็นวันชี้ชะตาเก้าอี้ นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของ เศรษฐา ทวีสิน ว่าจะได้ไปต่อ หรือพอแค่นี้ กรณี 40 สว.เข้าชื่อยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยถอดถอน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 และนายพิชิต ชื่นบาน อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 2 โดยนายพิชิต ได้ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงขอลาออกจากตำแหน่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปเมื่อวันที่ 21 พ.ค.2567 ที่ผ่านมา

 

โดยกลุ่ม 40 สว. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถอดถอน เศรษฐา และ พิชิต ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) และ (5) ประเด็นว่าด้วยขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีที่ เศรษฐา เสนอชื่อ พิชิต ขึ้นทูลเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แม้จะรู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติ

พิชิต ชื่นบาน

โดยวันที่ 23 พ.ค.2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา แต่ไม่สั่งให้ เศรษฐา หยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

 

ทำไม พิชิต ชื่นบาน ถึงได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

พิชิต ชื่นบาน ใครๆก็รู้จัก ในฉายา ทนายถุงขนม

 

ทั้งคนวงในและวงนอก ต่างรู้ดี เขาได้รับความไว้วางใจจาก ตระกูลชินวัตร ให้เป็นทีมทนายความสู้คดีดัง

 

พิชิต เป็นหัวหน้าทีมกฎหมายตระกูลชินวัตร ดีกรีการศึกษาเรียกว่าไม่ธรรมดา จบการศึกษา ในระดับปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) มหาวิทยาลัยรามคำแหง , ปริญญาโท นิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ สาขากฎหมายมหาชน , เนติบัณฑิตไทย สมัยที่ 34 สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ,

 

ปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง , ปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาบริหารธุรกิจอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เท่ากับว่า พิชิต มีดีกรีเป็นดอกเตอร์

 

ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี พิชิต ชื่นบาน ทำงานเป็นทนายความ และที่ปรึกษากฎหมาย มาตลอด ก่อนกระโดดลงเล่นการเมือง เป็น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และประธานที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย พรรคไทยรักษาชาติ

 

ที่มา ฉายาทนายถุงขนม

 

มาจากกรณีที่มีการกล่าวหาว่า พิชิต ชื่นบาน หิ้วถุงขนม ใส่เงินสด 2 ล้านบาท ไปมอบให้เจ้าหน้าที่ธุรการศาล และ ศาลมีคำสั่งจำคุก พิชิต ชื่นบาน 6 เดือน ไม่รอลงอาญา ฐานละเมิดอำนาจศาล

 

จากนั้น สภาทนายความ มีมติเสียงข้างมาก 9 ต่อ 3 เสียง ให้ลงโทษหนักสุด ลบชื่อ พิชิต ชื่นบาน ออกจากทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ จนทำให้เขาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายความ เป็นเวลา 5 ปี

 

จากนั้นไม่นาน พิชิต ลงสนามการเมือง ได้เป็น สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และมีบทบาทอย่างแข็งขันในการสนับสนุนกฎหมายนิรโทษกรรม

 

ต่อมาในยุค รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นอกจากเขาจะมีบทบาทในฐานะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยแล้ว ยังทำหน้าที่ในฐานะหัวหน้าทีมทนายความ สู้คดีจำนำข้าว ให้กับ ยิ่งลักษณ์ ด้วย

 

ด้วยความแนบแน่น และได้รับความไว้วางใจ จากบ้านใหญ่ ทำให้ พิชิต  ได้เป็น ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และ ได้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในยุค เศรษฐา

 

อย่างไรก็ดี ในการตรวจสอบคุณสมบัติ รัฐมนตรี ก่อนหน้านี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ความเห็นในปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี เฉพาะตามมาตรา 160(6) ประกอบกับมาตรา 98 (7) และมาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

 

โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา มีหนังสือลงวันที่1ก.ย.2566 ตอบกลับเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ถึงคุณสมบัติบุคคลที่ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรี ในมาตรา 160 (6) ระบุว่า บุคคลที่ดำรงตำแหน่ง  รัฐมนตรี ต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท

 

ขณะที่ มาตรา 160 (7)  บัญญัติชัดเจนว่า รัฐมนตรี ต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่สิ้นสุด หรือมีการรอลงโทษ เว้นแต่ในความผิดนั้นได้กระทำโดยประมาทความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวไม่รวมถึงคำสั่งให้จำคุก ดังนั้น ผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี และผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี จึงต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก

 

หนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ทิ้งท้ายด้วยว่า ข้อหารือนี้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันเป็นหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดเป็นที่สุด การให้ความเห็นในกรณีนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ ในการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น

 

ดังนั้น กรณี การชิงลาออกจากตำแหน่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ของ พิชิต ชื่นบาน เมื่อวันที่ 21 พ.ค.2567 ก่อนการพิจารณารับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 23 พ.ค.2567 วิเคราะห์ได้ว่า เป็นการตัดไฟแต่ต้นลม เพื่อรักษาสถานภาพ นายกรัฐมนตรี ของ เศรษฐา

 

อย่างไรก็ดี ในวันที่ 23 พ.ค.2567 ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องไว้พิจารณา แต่ไม่ได้สั่งให้ นายกฯหยุดปฏิบัติหน้าที่

 

โดยศาลรัฐธรรมนูญ นัดฟังคำวินิจฉัย ในวันที่ 14 ส.ค. 2567 ซึ่งผลของคดีจะเป็นตัวชี้ชะตาการเมืองไทยอีกครั้ง

ข่าวยอดนิยม