7 ส.ค. 67 เวลา 09.30 น. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาหารือ ลงมติ ก่อนออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังในเวลา 15.00 น. ในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล รวมถึงเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค และห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรค และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 วรรคสอง และมาตรา 94 วรรคสอง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ก้าวไกล แถลง 9 ข้อ ปิดคดีครั้งสุดท้าย ก่อน 7 ส.ค. ศาล รธน. ชี้ขาดยุบพรรคหรือไม่
- เช็กรายชื่อ กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ลุ้นตัดสินคดียุบพรรค-ตัดสิทธิ 10 ปี
- โหมแรงไฟ “ไหม ศิริกัญญา” เทกโอเวอร์ “ถิ่นกาขาว” กลัวหนอนมากกว่างูเห่า
- ย้อนเหตุร้อง “ยุบพรรคก้าวไกล” กับข้อต่อสู้ของ “พิธา”
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะเข้าฟังคำวินิจฉัย ร่วมด้วย นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ซึ่งหลังจากศาลอ่านคำวินิจฉัยเสร็จ นายพิธา เดินทางกลับไปยังที่ทำการพรรค เพื่อเตรียมแถลงท่าทีในเวลา 18.00 น.
คดีนี้ประเด็นที่ศาลจะวินิจฉัย คือ การเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง เป็นการกระทำล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92 วรรคหนึ่ง(1) และ (2) หรือไม่
สำหรับแนวทางการวินิจฉัยของศาลออกได้ 2 ทางคือ
1.ยกคำร้อง
2.สั่งยุบพรรค
หากศาลมีคำสั่งยุบพรรคก็จะสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดที่มีการกระทำผิด ไม่สามารถไปจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือ เป็นกรรมการบริหารพรรค มีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนดเป็นเวลา 10 ปี
โดยคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ช่วงปี 2563-2566 พบว่า ที่เป็น ส.ส.อยู่ในปัจจุบัน ประกอบด้วย ส.ส.บัญชีรายชื่อ 5 คน คือ 1.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ขณะนั้น 2.นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคขณะนั้น 3.น.ส.เบญจา แสงจันทร์ 4.นายสุเทพ อู่อ้น 5.นายอภิชาต ศิริสุนทร และ ส.ส.เขต 1 คน คือ 6.นายปดิพัทธ์ สันติ ภาดา ส.ส.พิษณุโลก ซึ่งถูกขับพ้นพรรค และปัจจุบันสังกัดพรรคเป็นธรรม
ส่วนของส.ส.บัญชีรายชื่อ จะไม่มีการเลื่อนบัญชีขึ้นมาทดแทน เนื่องจากบัญชีหายไปจากการถูกยุบพรรค ทำให้จำนวน ส.ส.ของพรรคก้าวไกล จากที่มีเสียงในสภาปัจจุบันรวม 148 คน จะเหลือ 143 คนซึ่งต้องหาพรรคการเมืองสังกัดใหม่ภายใน 60 วัน รวมถึงต้องมีการจัดการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 1 พิษณุโลก แทนนายปดิพัทธ์
ขณะเดียวกัน คำวินิจฉัยยุบพรรค ยังจะมีผลเป็นการเพิ่มน้ำหนักต่อการดำเนินคดีจริยธรรมร้ายแรง กับ 44 สส. ที่เข้าชื่อยื่นเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ.... เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งปัจจุบันอยู่ในการพิจารณาของ ป.ป.ช. แต่ในจำนวน ส.ส. 44 คน ที่ยื่นเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวปัจจุบันเหลือที่เป็น ส.ส.อยู่ในสภา 30 คน
สำหรับคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาในการพิจารณากว่า 5 เดือน นับแต่มีคำสั่งรับคำร้องจาก กกต.ไว้พิจารณาวินิจฉัย เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2567 โดยศาลไม่เปิดการไต่สวนตามที่พรรคก้าวไกลพยายามร้องขอ แต่ใช้วิธีรวบรวมพยานหลักฐาน โดยให้ผู้เกี่ยวข้องยื่นคำชี้แจง
ในส่วนของพรรคก้าวไกล ศาลได้มีคำสั่งให้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และมีคำสั่งขยายระยะเวลาการยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ตามที่พรรคก้าวไกล ขอจำนวน 3 ครั้ง รวมระยะเวลาจัดทำคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา 60 วัน
และศาลได้ให้คู่กรณีพยานหลักฐาน เมื่อวันที่ 9 ก.ค. ก่อนที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วันที่ 17 ก.ค. เห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายมีพยานหลักฐานเพียงพอให้วินิจฉัยได้ จึงสั่งยุติการไต่สวน แล้วให้โอกาสคู่กรณียื่นคำแถลงผิดคดีภายในวันที่ 24 ก.ค. ก่อนนัดวินิจฉัยลงมติและอ่านคำวินิจฉัยในเวลา 15.00 น.วันนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง