กกต. ประกาศรับรอง สว. 200 ชุดที่ 13 หลักฐานยังไม่เพียงพอ ตัดสินทุจริต
"เลขาธิการ กกต." เผย มติที่ประชุม ประกาศรับรอง สว. 200 คน และ สำรอง 99 คน ชี้หลักฐานทุจริตยังไม่เพียงพอ ขอกำลัง สตช. ดีเอสไอ ปปง. ตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม หาตัวการเบื้องหลัง
10 ก.ค. 2567 นายแสวง บุญมี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงผลการประชุม กกต. มีมติรับรองผล สว. 2567 ว่า เงื่อนไขตามกฎหมายตามมาตรา 42 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. หาก กกต.เห็นว่า การเลือกเป็นไปโดยถูกต้องหรือความชอบ ความควรตามกฎหมาย สุจริต ก็คือ การกระทำที่ไม่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เที่ยงธรรม ก็คือการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย 3 เงื่อนไขนี้ กกต.จึงจะประกาศผลการเลือกได้
กกต. จึงรวบรวมกลุ่มความผิดที่อาจทำให้การพิจารณาที่มาใช้เป็นเงื่อนไขการประกาศผล สว.ครั้งนี้ แบ่งเป็น กลุ่มแรก คือ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม หมายถึงการสมัครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง กลุ่มสอง คือ กระบวนการเลือกคือกระบวนการเลือกตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด กลุ่มสาม คือ ความไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ที่สังคมใช้คำว่า จัดตั้ง บล็อกโหวต หรือ ฮั้วเลือกสว.
นายแสวง กล่าวต่อว่า กรณีผู้สมัครรับเลือก สว. คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ข้อมูลพื้นฐานที่จะพิจารณาเรื่องนี้ มีผู้สมัครสนใจมาสมัครช่วงเปิดสมัคร 5 วัน 48,117 คน ผอ.ระดับอำเภอ ไม่รับสมัครจำนวน 1,917 คน นั่นหมายความว่า ได้ตรวจสอบเบื้องต้น เมื่อ ผอ.รับสมัครไปแล้ว ท่านได้ลบชื่อก่อนมีการเลือกระดับอำเภอ 526 คน ต่อมาในชั้นจังหวัด ผอ.จังหวัด ได้ลบผู้มีสิทธิเลือกไปอีก 87 คน ต่อมาระดับประเทศ ผอ.ระดับประเทศ ได้ลบอีก 5 คน ที่บอกว่า กกต.ไม่ได้ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม จึงอาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริง สรุปแล้วเราได้ตรวจสอบ และคัดคนที่ไม่มีคุณสมบัติออกไปเกือบ 3,000 คน
กกต.ได้มีมติให้ใบส้ม คุณสมบัติตามมาตรา 20 วรรคสาม วรรคสี่ คือระงับสิทธิสมัครชั่วคราว จำนวน 89 ใบ เฉพาะเรื่องคุณสมบัติตามมาตรา 20 วรรคสาม วรรคสี่ รวมทั้งส่งให้ศาลฎีกาพิจารณาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และอีก 1 คน ที่พิจารณาคือ ตามมาตรา 60 เพราะหลังกระบวนการเลือกแล้ว ที่ให้เพราะว่าผู้มีสิทธิเลือกเหล่านี้ ทำให้การเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ในส่วนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งระดับอำเภอ ที่ลบชื่อไป 526 คน จะไม่มีคำสั่งให้ใบส้ม เพราะยังไม่เข้ามาในระบบ แต่ว่าทุกคนที่ถูกลบชื่อ จะถูกพิจารณาว่า รู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิแล้วไปสมัครรับเลือกหรือไม่ ซึ่งเป็นคดีอาญา เป็นคนละส่วนกัน
สำหรับเรื่องร้องเรียนที่เคยบอกว่ามี 65% โดยแบ่งเป็น ผู้สมัครมาร้องเอง ความปรากฏต่อเรา และเราลบชื่อ ทำให้เรื่องร้องเรียนที่เคยบอกครั้งแรกว่า มี 600 กว่าเรื่อง เป็นเรื่องเหล่านี้ทั้งหมด และทุกวันนี้มีเรื่องร้องเรียนรวม 800 กว่าเรื่อง ทำให้ตอนนี้เหลือเรื่องร้องเรียนเหลือ 200 กว่าเรื่อง ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด มาระดับประเทศ ส่วนการดำเนินการในวันเลือกมีสำนวนที่มาร้อง 3 สำนวน พิจารณาจบแล้ว สำนวนไปร้องที่ศาลฎีกา 18 คดี เป็นไปตามมาตรา 44 แห่ง พ.ร.ป.เลือก สว. โดยศาลฎีกาได้ยกคำร้องทุกคดีแล้ว
เลขาธิการ กกต. ยืนยัน มีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครและลักษณะต้องห้ามทุกคน ไม่ว่าจะเป็น 200 คน หรือ ตัวสำรอง 100 คน หรือผู้สมัครระดับอำเภอหรือจังหวัด พร้อมชี้แจงสิ่งที่สังคมอาจเข้าใจผิด เวลาพูดถึงคือกลุ่มอาชีพ แต่ตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.เลือก สว. ไม่มีกลุ่มอาชีพ เป็นกลุ่มของด้าน 20 ด้าน ในด้านมีอาชีพเป็นส่วนหนึ่งของคนประเภทหนึ่งที่จะอยู่ในด้านนั้น ในแต่ละกลุ่มของด้าน มีคนแต่ละประเภทสมัครได้ ไม่ใช่อาชีพอย่างเดียว เช่น ความรู้ในด้านนั้น ความเชี่ยวชาญในด้านนั้น อาชีพในด้านนั้น ประสบการณ์ในด้านนั้น มีลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานร่วมกัน คน 6 ประเภทสามารถเข้าไปอยู่ในด้านต่าง ๆ ได้ กฎหมายเปิดกว้างให้ประชาชนชาวไทยมีโอกาสที่จะสมัครรับเลือก สว.อยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้อย่างกว้างขวาง โดยมีผู้รับรอง 1 คน ซึ่ง กกต.ตรวจสอบไปแล้ว
ส่วนการร้องเรียนประเด็นเลือกโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ตอนนี้มี 47 เรื่อง เช่น การฮั้ว บล็อกโหวต กกต.ได้รวบรวมพยานหลักฐานมาพอสมควรแล้ว พบมีเป็นขบวนการ ต้องใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาพิจารณา ซึ่งได้ขอความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) 10 คน และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) 10 คน และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) 3 คน ทั้งหมดเป็นระดับผู้บังคับบัญชา ประสานงานกันมาตลอดสัปดาห์หนึ่งแล้ว ขอใช้เครื่องมือ เพื่อเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อหาคนอยู่เบื้องหลังว่าจะไปได้ถึงไหน อย่างไร เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาว่าเกิดการกระทำให้การเลือกเป็นไปโดยไม่สุจริต เมื่อมีคำร้องสำนักงาน กกต.ได้รับเป็นสำนวนไว้และรวบรวมพยานหลักฐานตามสมควร ข้อมูล ณ วันนี้ยังไม่พอเพียงที่จะบอกว่าเขากระทำความผิด กกต.ต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมในชั้นนี้ เพื่อให้ได้ข้อยุติ เพื่อให้เกิดความเที่ยงธรรม จึงยังไม่สามารถบอกได้ว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม
เลขาธิการ กกต. ระบุว่า ด้วยเหตุดังกล่าว ณ วันนี้ กกต.พิจารณาแล้วเห็นว่า การเลือก สว. 2567 เป็นไปด้วยความถูกต้อง สุจริต และเที่ยงธรรม จึงมีมติประกาศผลเลือก สว. ของแต่ละกลุ่ม โดยทั้ง 20 กลุ่ม ลำดับที่ 1-10 ของแต่ละกลุ่มเป็น สว. ส่วนลำดับที่ 11-15 ของแต่ละกลุ่ม เป็นบัญชีสำรอง ยกเว้นกลุ่มที่ 18 ซึ่ง กกต.ได้ระงับสิทธิชั่วคราวของผู้ได้รับเลือกเป็น สว. ที่อยู่ในลำดับที่ 1-10 จึงต้องเลื่อนลำดับที่ 11 ตามระเบียบของ กกต.ฉบับที่ 3 ขึ้นไปอยู่ในลำดับที่ 10 แทน
"สรุปแล้วก็คือ กกต. มีมติเห็นชอบให้ประกาศผู้ได้รับคะแนนจำนวน 200 คน เพื่อให้เปิดสภาฯได้ ส่วนที่สำรองมี 99 คน เพราะกลุ่ม 18 เหลือสำรองอยู่ 4 คน โดยผู้ที่ได้รับประกาศทั้ง 200 คน ให้มารับหนังสือรับรองการได้รับเลือกเป็น สว. เพื่อเป็นหลักฐานในการรายงานตัวกับสำนักเลขาธิการวุฒิสภา 2 วัน ในวันที่ 11-12 ก.ค. 2567 เวลา 08.30-16.30 น."
มีรายงานข่าวแจ้งว่า บุคคลที่ถูก กกต.ระงับสิทธิชั่วคราวหรือแจก ใบส้ม คือ น.ส.คอดียะฮ์ ทรงงาม ผู้ได้รับเลือกเป็น สว.อ่างทอง ลำดับที่ 4 กลุ่ม 18 กลุ่มสื่อสารมวลชน โดยระบุในประวัติการทำงานว่า ประชาสัมพันธ์เสียงตามสายหมู่บ้าน เป็นประชาสัมพันธ์อำเภอไชโย และยังพบว่า น.ส.คอดียะฮ์ เป็นที่ปรึกษา นายก อบจ.อ่างทอง จึงถูกระงับสิทธิชั่วคราว ทำให้เลื่อนว่าที่ พ.ต.กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์ ผู้ได้รับเลือกเป็น สว.ลำดับที่ 11 ซึ่งอยู่ในบัญชีสำรองเลื่อนขึ้นมาอยู่ในบัญชีตัวจริงลำดับ 10 โดยว่าที่ พ.ต.กรพด เป็นอดีตประธานรุ่น 5 หลักสูตรพัฒนาสัมพันธ์เครือข่ายความมั่นคงระดับผู้บริหาร (พคบ.) ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) มาแทน
ล่าสุด สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้แจ้งในเบื้องต้น กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาเข้าแสดงตน วันที่ 11-15 กรากฎาคม 2567 (เว้นวันหยุดราชการ) ตามเวลาราชการ สำหรับ สว.ชุดใหม่ 200 คนนั้น นับเป็นสว.ชุดที่ 13 ของการเมืองไทย มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ กกต. ประกาศผลการเลือกในราชกิจจานุเบกษา