
กกต. มีมติเอกฉันท์ ไม่เลื่อนเลือก สว. ระดับอำเภอ ไม่หวั่นร้องโมฆะ
กกต. มีมติเอกฉันท์ ไม่เลื่อนเลือก สว. ระดับอำเภอ กำหนดตามเดิม 9 มิ.ย. นี้ ไม่หวั่นร้องโมฆะ หากศาล รธน. ฟันขัดแย้ง รธน. ยันทำตามที่กฎหมายกำหนด
จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้อง กลุ่มผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) พิจารณาวินิจฉัยประเด็นพ.ร.ป.ว่า ด้วยการได้มาซึ่ง สว. มาตรา 36 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง (3) มาตรา 41 วรรคหนึ่ง (3) และมาตรา 42 วรรคหนึ่ง (3) ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิธีการเลือก สว.ทั้งระดับอำเภอ ระดับจังหวัดและระดับประเทศ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่
โดยก่อนหน้านี้มีรายงานว่า สำนักงาน กกต. เสนอใช้อำนาจตามมาตรา 35 พ.ร.ป.ว่า ด้วยการได้มาซึ่ง สว. ประกาศเลื่อนการเลือกสว.ที่ระดับอำเภอกำหนดไว้ในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ออกไปก่อน เพื่อรอความชัดเจนการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายจากศาลรัฐธรรมนูญก่อน เนื่องจากมีผู้สมัคร สว. ร้องทั้งต่อ กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน และฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
เพราะหาก กกต.ยังคงยืนยันเดินหน้าจัดการเลือก สว.ตามเดิมที่วางไว้ อาจเสี่ยงต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นทั้งกับตัวผู้สมัคร และ กกต. ทั้งคณะอาจถูกฟ้องให้ชดใช้ค่าเสียหาย เหมือน กกต.ชุดในอดีต โดยที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง สส.โมฆะ และมีการฟ้อง กกต.ให้รับผิดชอบค่าเสียหายมาแล้ว
7 มิ.ย. 2567 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เปิดเผยภายหลังการประชุม กกต. ว่า กกต. มีมติเอกฉันท์ไม่เลื่อนการเลือก สว. เนื่องจากยังไม่มีเหตุจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะทำให้การเลือก สว. ต้องเลื่อนออกไป
"หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้ง กกต.ก็ต้องปฏิบัติตาม ไม่หวั่นหากมีคนไปยื่นร้องให้การเลือกสว.เป็นโมฆะ เพราะที่กกต. ดำเนินอยู่จนถึงวันนี้เป็นการดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนยืนยันว่า กกต. ไม่ได้ปฏิบัติต่างจากที่กฎหมายกำหนด" นายแสวง กล่าว
เมื่อถามถึงเหตุผลที่ กกต. ยืนยันเดินหน้าจัดเลือก สว.ต่อ ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องชี้ขาด 4 มาตราในกฎหมายดังกล่าว กกต. เตรียมพร้อมรับมือผลกระทบที่จะเกิดในอนาคตอย่างไร นายแสวง กล่าวว่า เคยพูดเสมอว่า สิ่งที่เราทำกับผู้สมัคร หรือประชาชน คิดว่าเราทำร่วมกัน คือเราอยากได้ สว.200 คน ตามเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่สิ่งที่ กกต.ทำคือการรักษากระบวนการเลือก สว.ให้ได้เป้าหมายอย่างที่เราอยากได้ ระหว่างทางถ้ากระบวนการไม่เรียบร้อย เป้าหมายไม่ต้องพูด กระทบแน่
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้อง 4 มาตราในกฎหมายเลือก สว. เราได้นำมาวิเคราะห์ เมื่อดูเหตุผลรวมๆ แบ่งเป็น
ประเด็นแรก ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า ยังไม่ปรากฏเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาในภายหลัง นี่คือสิ่งที่ระบุในเอกสารข่าวแจกของศาล
ประเด็นที่สอง เหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องดังกล่าว ระบุว่า ยังไม่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ตามกฎหมาย และยังไม่ถึงวิสัยที่จะสามารถแก้ไขหรือเยียวยาได้ ตามมาตรา 104 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560
ประเด็นที่สาม รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 132 กำหนดให้เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.ป. ทุกฉบับ รวมถึง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. 2561 ที่บังคับใช้อยู่นี้ด้วย เพื่อส่งร่างให้ศาลฎีกา และศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระดูว่า มีประเด็นอะไรที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ หรือปฏิบัติไม่ได้ นั่นหมายถึงผ่านขั้นตอนนี้มาแล้ว ผ่านการรับรองตามมาตรา 132 มาชั้นหนึ่งแล้ว
ประเด็นที่สี่ ณ วันนี้เรากำลังปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายที่ออกโดยชอบของรัฐสภา คือการเลือก สว. มันออกมาโดยชอบ ส่วนกรณีข้างหน้าถ้ามีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ กกต.คงใช้อำนาจตามหน้าที่ที่มีในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้
ขอบคุณ : กรุงเทพธุรกิจ