ข่าว

เปิดเหตุผล ทำไม 'พิชิต ชื่นบาน' ชิง 'ลาออก'

เปิดเหตุผล ทำไม 'พิชิต ชื่นบาน' ถึงชิง 'ลาออก' ก่อนวันนัดพิจารณาของ 'ศาลรัฐธรรมนูญ' ชี้ครั้งนี้เสี่ยงสูง ต่อสถานภาพ นายกฯเศรษฐา หลังกฤษฎีกาตอบข้อหารือ

นายพิชิต ชื่นบาน

กรณี 40สว. ยื่นคำร้อง ขอ ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า คุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี ของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 และ นายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 2 สิ้นสุดลงหรือไม่ เมื่อวันที่ 15พ.ค.2567

 

สืบเนื่องจาก การแต่งตั้ง นายพิชิต  ชื่นบาน เป็น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่ นายพิชิต เคย ถูกศาลฎีกาสั่งจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ฐานละเมิดอำนาจศาล เมื่อวันที่10มิ.ย.2551 กรณีพยายามนำถุงขนมใส่เงินสด2ล้านบาท ไปมอบให้เจ้าหน้าที่ศาลฎีกาคดีแผนกอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในระหว่างการพิจารณาคดีที่ดินรัชดาฯ ของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับ คุณหญิงพจมาน ภรรยา (ขณะนั้น) ตกเป็นจำเลย และถูกเรียกขานกันว่า คดีถุงขนม2ล้านบาท

และยังเคยถูกสภาทนายความ ถอดชื่อออกจากทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพทนายความเป็นเวลา 5 ปี

 

โดย ศาลรัฐธรรมนูญ จะพิจารณาว่า จะมีมติรับคำร้องหรือไม่ ในวันที่23พ.ค.2567

 

และหาก ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องไว้พิจารณาว่า ทั้งนายกเศรษฐา และ นายพิชิต ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ หรือไม่

 

อย่างไรก็ดี ในการตรวจสอบคุณสมบัติ รัฐมนตรี ก่อนหน้านี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ความเห็นในปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี เฉพาะตามมาตรา 160(6) ประกอบกับมาตรา 98 (7) และมาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

 

โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา มีหนังสือลงวันที่1ก.ย.2566 ตอบกลับเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ถึงคุณสมบัติบุคคลที่ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรี ในมาตรา 160 (6) ระบุว่า บุคคลที่ดำรงตำแหน่ง  รัฐมนตรี ต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท

 

ขณะที่ มาตรา 160 (7)  บัญญัติชัดเจนว่า รัฐมนตรี ต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่สิ้นสุด หรือมีการรอลงโทษ เว้นแต่ในความผิดนั้นได้กระทำโดยประมาทความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวไม่รวมถึงคำสั่งให้จำคุก ดังนั้น ผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี และผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี จึงต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก

 

หนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ทิ้งท้ายด้วยว่า ข้อหารือนี้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันเป็นหน้าที่ และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย การวินิจฉัยชี้ขาดเป็นที่สุดย่อมเป็นหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ การให้ความเห็นในกรณีนี้จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น

 

ดังนั้น กรณี การชิง ลาออก จากตำแหน่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ของ นายพิชิต ชื่นบาน ในวันที่ 21 พ.ค.2567 ก่อนการนัดพิจารณาว่าจะรับคดีหรือไม่ ของ ศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 23 พ.ค.2567

 

จึงเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม เพื่อรักษาสถานภาพ นายกรัฐมนตรี ของ นายเศรษฐา ทวีสิน เอาไว้

ข่าวยอดนิยม