ข่าว

'กลุ่มทะลุฟ้า' เรียกร้อง กมธ.นิรโทษกรรม คืนสิทธิประกันตัวคดีทางการเมือง

'กลุ่มทะลุฟ้า' พร้อมเครือข่าย ยื่นหนังสือขอ กมธ.นิรโทษกรรม เร่งพิจารณาข้อกำหนดให้คดี ม.112 ได้รับการนิรโทษกรรม

16 พ.ค. 2567 น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล​ หรือ มายด์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง​ นายธนพัฒน์ กาเพ็ง หรือ ปูน ทะลุฟ้า นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ประธานกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และเครือข่าย เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม (กมธ.นิรโทษกรรม) สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้เร่งพิจารณากำหนดให้คดีกระทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้รับการนิรโทษกรรม 

กลุ่มทะลุฟ้า เรียกร้อง กมธ.นิรโทษกรรม คืนสิทธิประกันตัวคดีทางการเมือง

 

 

ส่วนการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ทะลุวัง ผู้ต้องหาคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ระหว่างการคุมขังในเรือนจำ

 

น.ส.ภัสราวลี กล่าวว่า เชื่อว่าคนที่มีความเป็นมนุษย์อยู่ในใจย่อมรับไม่ได้ ไม่ว่าจะคนที่เห็นต่างมากเพียงใด แสดงออกอย่างไร ถ้าเขาไม่ได้ไปละเมิดสิทธิ ทำร้ายผู้อื่น เขาไม่ควรถูกขังอยู่ในลักษณะนั้น ย้ำว่าคดีบุ้งและคดีคนอื่นๆที่ถูกจองจำอยู่ตอนนี้ ส่วนใหญ่คดี ม.112 และคดีมูลเหตุทางการเมืองอื่นๆ ด้วย คดีเหล่านี้ไม่ได้รับสิทธิประกัน เหมือนคดีอื่นทั่วไป เช่น ฆ่าคนตาย ค้ายา ค้ามนุษย์ ที่ได้รับสิทธิประกันตัว 

 

แต่บุ้ง คือ คนที่ต้องใช้ร่างกาย ต้นทุนสุดท้ายของชีวิต ประท้วงอดอาหารเรียกร้องถึงการคืนสิทธิประกันตัวให้กับผู้ต้องขังทางการเมืองคนอื่น และเรียกร้องว่า ต้องไม่มีใครเดินเข้าเรือนจำเพราะถูกดำเนินคดีทางการเมืองอีก 

 

ดังนั้นขอให้ กมธ. พิจารณาหลายเรื่อง เช่น พิจารณา ม. 112 อย่างจริงจังอีกครั้ง ชะลอคดีความในคดีทางการเมืองก่อน ไม่ป้อนคนเข้าเรือนจำอีกได้หรือไม่ ป้องกันขังจนตาย ปล่อยพวกเขาออกมาได้หรือไม่ ให้ได้รับสิทธิ์ประกันตัวเหมือนคดีอื่นๆ ควรมีพื้นที่ปลอดภัยให้ได้ใช้สิทธิต่อสู้ในคดีอย่างเต็มที่

ด้าน นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ฐานะประธานกรรมาธิการนิรโทษกรรมฯ แสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของบุ้ง และไม่ต้องการให้เกิดการสูญเสียขึ้นอีก ยืนยันจะรับข้อเรียกร้องในวันนี้มาพิจารณา ถูกบันทึกไว้ในที่ประชุมกรรมาธิการแล้ว ซึ่งหลายเรื่องเป็นประเด็นในกระบวนการยุติธรรม ที่เกี่ยวข้องกับพนักงานสอบสวน อัยการ ศาล

 

ส่วนรัฐสภาหรือรัฐบาลนั้น เป็นเพียงองค์ประกอบ ไม่ใช่ผู้บริการกระบวนการยุติธรรม แต่เรื่องที่สำคัญต้องขึ้นอยู่กับนโยบาย เพื่อให้ฝ่ายต่าง ๆ พูดคุยและทำความเข้าใจในกระบวนการทำงาน 

 

ส่วนการนิรโทษกรรม คดี ม.112 กรรมาธิการฯ ไม่ตัดออก แต่อยู่ระหว่างหารือ ข้อดี ข้อเสีย ซึ่งกรรมาธิการฯ พยายามทำเรื่องดังกล่าวเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมมากที่สุด ตามสติปัญญาของกรรมาธิการฯ แต่สิทธิการประกันตัวถูกกำหนดให้เป็นดุลยพินิจของตุลาการ ซึ่งกำหนดไว้ใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดไว้ในกรอบกว้างๆ ดังนั้น อาจต้องรื้อฟื้นการแก้รัฐธรรมนูญ และประมวลกฎหมายอาญา และยืนยันว่า ข้อเสนอของภาคประชาชนนั้น กรรมาธิการฯ รับไว้ และจะพิจารณาอย่างจริงจัง และเต็มที่

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวยอดนิยม