ข่าว

'เปิดผลสอบ' เรือหลวงสุโขทัย 'อับปาง' ขณะที่ 'ผู้การเรือ' ลาออก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'เปิดผลสอบ' สาเหตุ 'เรือหลวงสุโขทัย' อับปาง เกิดจากดินฟ้าอากาศ - เรือเก่า ส่วน 'ผู้การเรือ' ตัดสินใจผิดพลาด เจ้าตัวแสดงความรับผิดชอบ 'ลาออก' จากราชการ

กองทัพเรือ แถลงผลสอบ สาเหต เรือหลวงสุโขทัย อับปาง

วันที่ 9 เม.ย. 2567 กองทัพเรือ แถลง ผลสอบ สวนข้อเท็จจริง กรณี เรือหลวงสุโขทัย ประสบอุบัติเหตุ และอับปาง ลง เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2565 ทำให้กำลังพลเสียชีวิต 24 นาย และ สูญหาย 5 นาย

 

โดยมี พลเรือเอก อะดุง พันธ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ พลเรือตรี อภิรมย์ เงินบำรุง คณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคและคณะกรรมการสอบสวนฯ พลเรือเอก ชัยณรงค์ บุญยรัตกลิน คณะกรรมการสอบ ข้อเท็จจริงความรับผิดชอบทางละเมิด พลเรือโท สุรศักดิ์ สิงขรวัฒน์ คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทัพเรือภาคที่ 1 และ นาวาโท พิชิตชัย เถื่อนนาดี อดีตผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย ร่วมแถลง

 

พลเรือเอก อะดุง กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจอีกครั้งต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้สูญหาย กองทัพเรือได้ทุ่มเทยุทโธปกรณ์และกำลังพลทั้งหมดในการค้นหา ช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ ตั้งแต่ช่วงแรกของเหตุการณ์ ตลอดจนดูแลครอบครัวผู้เสียชีวิตและสูญหายได้ รับการชดเชยทางการเงิน ได้รับยศที่สูงขึ้น รับบุตรและญาติเข้ารับราชการ

นับตั้งแต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กองทัพเรือ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง 3 คณะ คือ

  1. คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณี เรือหลวงสุโขทัย อับปาง ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริง และสรุปบทเรียนเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ
  2. คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทัพเรือภาคที่ 1
  3. คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความผิดทางละเมิด

 

ผบ.ทร. กล่าวว่า กองทัพเรือ มีความต้องการ ได้วัตถุพยานจริง และตั้งใจกู้เรือขึ้นมาทั้งลำ แต่เนื่องจากการกู้เรือในความลึก 50 เมตร และต้องการให้นำเรือขึ้นมาทั้งลำโดยไม่มีความเสียหายใดๆ อีกทั้งให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของทีมกู้เรือ ไม่ให้มีการสูญเสียเกิดขึ้นอีก แม้แต่คนเดียว จึงเกิดข้อจำกัดหลายเรื่อง และไม่มีบริษัทใดผ่านเกณฑ์

 

และช่วงนั้น กองทัพเรือสหรัฐอเมริกา มีหนังสือแจ้งเรื่องเกี่ยวกับยุทโธปกรณ์ที่ติดอยู่กับเรือ และเมื่อ กองทัพเรือไทย เลือกบริษัทกู้เรือได้แล้ว ต้องผ่านขั้นตอนการเห็นชอบของสหรัฐฯ อีก 6 เดือน เมื่อพิจารณาแล้ว กองทัพเรือ ได้หารือกับ กองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขายินดีจะช่วยเหลือในการตรวจสอบทุกประเด็น ค้นหาผู้เสียหายภายในเรือด้วย โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ดังนั้น กองทัพเรือ จึงปรับมาเป็นการกู้เรือแบบจำกัดร่วมกับ กองทัพเรือสหรัฐอเมริกา เพื่อเก็บภาพต่างๆใต้น้ำ ทั้งภายในและภายนอกตัวเรือ ตามจุดที่ได้จากการสอบ เพื่อยืนยันสาเหตุการจม

 

โดยมีการสำรวจห้องที่เกี่ยวกับเรือ ที่มีส่วนในการจม ส่วนโทรศัพท์ที่เก็บขึ้นมาได้ ไม่มีซิมการ์ดจึงไม่ปรากฏข้อมูลๆ และกล้องบันทึกวงจรปิดได้นำส่งกองพิสูจน์หลักฐานกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับคำตอบว่าเครื่องเล่นไม่สามารถอ่านได้เนื่องจากชำรุดมาก

ฝ่ายสหรัฐฯ มีหนังสือถึงกองทัพเรือ รอบที่ 2 และให้ความเห็นประกอบ หลังจากได้ดำลงไปตรวจสอบ เรือหลวงสุโขทัย แล้วว่า เรืออยู่ในสถานะปลอดภัย แต่การยกเรือหรือย้ายจากจุดปัจจุบัน จะเสี่ยงสูงต่อความไม่สำเร็จ และเสี่ยงต่อกำลังพล รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายสูง

 

บัดนี้ คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทุกคณะ ได้ดำเนินการเสร็จสิ้น และรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงให้ กองทัพเรือ ทราบแล้ว จึงเป็นที่มาของการแถลงผลสอบต่างๆ  จากนั้น กองทัพเรือ ได้เปิดวิดีทัศน์รายงานผลสอบเหตุการณ์ เรือหลวงสุโขทัย ล่ม สถานการณ์บนเรือ การติดต่อสื่อสาร และการช่วยเหลือหลังเรือจม

 

สรุปได้ว่า มีผลกระทบจากสภาพอากาศ คลื่นลมแปรปรวนรุนแรง มีคลื่นสูง 6 เมตร ในขณะที่เรือหลวงสุโขทัย สามารถเดินเรือได้ในความสูงของคลื่น 2.5 เมตร ทำให้การควบคุมเรือเป็นไปได้ลำบาก ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นคืนเดือนมืด ท้องฟ้ามีเมฆมากมีข้อจำกัดในการตรวจการให้ความช่วยเหลือ

 

ด้าย พลเรือตรี อภิรมย์ กล่าวว่า กองทัพเรือ ดำน้ำสำรวจตัวเรือ 4 ครั้ง ใน 3 ครั้งแรกเป็นการปฏิบัติของ กองทัพเรือ เอง ไม่สามารถเข้าไปในตัวเรือได้ เพราะมีความอันตราย ส่วนครั้งสุดท้ายร่วมกับ กองทัพเรือสหรัฐอเมริกา

 

สาเหตุของเรือจม เพราะน้ำเข้าเรือ แบ่งได้ 2 กรณี คือ 1.น้ำเข้าจากทางท้องเรือ ทำให้เรือจมลงไป เรียกว่าการสูญเสียกำลังลอยทำเรือจม  2.น้ำเข้าเรือด้านบนเหนือจุดศูนย์ถ่วงของเรือ ทำให้เรือเสียการทรงตัว เอียงแบบที่เรือหลวงสุโขทัยประสบในช่วงแรก การสำรวจ ก็มุ่งประเด็น ทำไมเรือถึงเอียงก่อนที่จะจมลง ก็พบความเสียหายที่เกิดขึ้นหลายแห่ง

  • ตำแหน่งที่ 1 แผ่นกันคลื่นหน้าป้อมปืน 76 มม. ยุบตัว เพราะเจอคลื่นแรง จนดึงแผ่นเหล็กบนดาดฟ้าเปิด ทำให้เกิดเป็นช่องรูใหญ่ พื้นที่ 1 ตารางนิ้ว
  • ตำแหน่งที่ 2 ความเสียหายของป้อมปืน 76 มม. เนื่องจากโดนวัตถุของแข็งกระแทก ซึ่งไม่พบหลักฐานว่าคืออะไร เพราะวัตถุที่ว่าไม่ติดค้างที่ป้อมปืน แต่เชื่อว่าโดนวัตถุขนาดใหญ่กระแทกแน่นอน จนเป็นช่องที่ทำให้น้ำเข้าเรือได้
  • ตำแหน่งที่ 3 รูทะลุ บริเวณกงที่ 35 กราบซ้าย จำนวน 2 แห่ง สูงจากน้ำ 5 ฟุต  โดนวัตถุภายนอกกระแทกเข้าไป รอยดังกล่าวไม่ได้เกิดที่ส่วนรอยเชื่อม จึงไม่ได้เกิดจากการซ่อม ซึ่งรอยกระแทกดังกล่าว ไม่พบวัตถุที่ตกค้างว่ากระแทกจากอะไร ทำเป็นรอยกว้างยาว 1 ฟุต กว้าง 3-4 นิ้ว มีพื้นที่ 80 ตารางนิ้ว
  • ตำแหน่งที่ 4 ประตูห้องกระชับเชือกที่อยู่ในลักษณะเปิด มีโอกาสน้ำเข้าได้เมื่อประตูเปิด
  • ตำแหน่งที่ 5 ประตูท้ายห้อง gun bay ด้านป้อมปืน 76 มม. ที่ปิดไม่สนิท

 

ทั้งหมดนี้ สรุปความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับการทำให้เรือเสียการทรงตัวและ อับปาง

 

ส่วนลำดับเวลาที่เรือวิ่งจาก อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ไปหาดทรายรี จ.ชุมพร เครื่องขัดข้องนั้น กรณีเรือเจอคลื่นสูงก็จะพบได้อยู่บ้าง เนื่องจากน้ำมันที่อยู่ในถังสกปรก ไปเจอเศษฝุ่น อุดตันหัวฉีด ส่งผลให้หัวฉีดบางส่วนใช้การไม่ได้ ทำให้เครื่องยนต์ไม่สามารถรับภาระได้ อีกทั้ง เรือหลวงสุโขทัย ใช้งานมาเกือบ 40 ปีแล้ว อยู่ในช่วงท้าย จะเข้าสู่การปลดประจำการ

 

ขณะที่ พลเรือโท สุระศักดิ์ ระบุว่า สอบปากคำของผู้ที่เกี่ยวข้อง ถึงความพร้อมของ เรือหลวงสุโขทัย ภายหลังการซ่อมทำในปี 2564 ได้ทดลองเป็นไปตามมาตรฐานที่กรมอู่ทหารเรือกำหนด และได้ออกปฏิบัติราชการตามปกติ การตรวจพบความชื้นบริเวณผนังห้อง Sonar ทางกาบซ้ายของตัวเรือ เนื่องจากใช้ราชการมา 1 ปี 9 เดือน การซ่อมบำรุงของกรมอู่ทหารเรือเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามมาตรฐาน และขณะออกเรือ เรือหลวงสุโขทัย มีความพร้อมในการปฏิบัติงาน

 

พร้อมยืนยันว่าเสื้อชูชีพมีเพียงต่อจำนวนกำลังพลในเรือ 105 นาย เพราะมีเสื้อชูชีพทั้งหมด 120 ตัว และมีการประกาศให้กำลังพลสมทบมารับชูชีพแล้ว 3 ครั้ง แต่กำลังพลสมทบไม่ได้ไปรับ ขณะที่กำลังพลประจำเรือบางนายไม่มีชูชีพ เพราะไม่ได้สวมตั้งแต่แรก เพราะเมื่อไปผนึกน้ำแล้ว จึงไม่สามารถลงไปนำเสื้อชูชีพมาใช้ได้

 

ส่วนความพร้อมของแพชูชีพ เรือหลวงสุโขทัย มีแพชูชีพ 6 แพ อยู่ทางกาบซ้าย 3 แพ กาบขวา 3 แพ ขณะเกิดเหตุกำลังพลสามารถปลดแพกาบขวาได้ 2 แพ ส่วนอีก 4 แพ อยู่ในพื้นที่เสี่ยงอันตรายเข้าถึงได้ยาก แต่เมื่อเรือ อับปาง แพชูชีพทั้งหมดก็หลุดออกจากแท่นติดตั้ง

 

ขณะที่ความพร้อมของกำลังพล ผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย พิจารณาว่า ภารกิจครั้งนี้ไม่ใช่ภารกิจในการรบเต็มรูปแบบ จึงจัดกำลังพลประจำเรือออกปฏิบัติราชการ 75 นาย จาก 100 นาย เพื่อจัดที่พักอาศัยบนเรือให้แก่กำลังพลจากหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน และหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง อีก 30 นาย ที่โดยสารไปกับเรือ  เมื่อถึงภาวะที่ต้องปฏิบัติงานในสภาพอากาศ คลื่นลมที่รุนแรง ทำให้ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของกำลังพลลดลง ทั้งยังต้องป้องกันความเสียหายที่เกิดหลายสถานที่ในห้วงเวลาเดียวกัน จึงทำให้การป้องกันความเสียหายของเรือกระทำได้อย่างจำกัด

 

แต่เรือมีอุปกรณ์ป้องกันความเสียหายครบตามอัตราที่กำหนด และพร้อมใช้งาน เมื่อพบว่ามีน้ำเข้าเรือ จนมีการสั่งการแก้ปัญหาด้วยการผลึกน้ำทันที แต่ไม่สามารถออกไปตรวจสอบความเสียหายภายนอกตัวเรือได้ เพราะสภาวะคลื่นลมแรง จึงไม่ทราบความเสียหายภายนอกตัวเรือ

 

ทั้งนี้ ผลกระทบจากคลื่นลมในวันเกิดเหตุ สภาพอากาศแปรปรวนเปลี่ยนแปลงฉับพลันจากที่มีการพยากรณ์ไว้ ทำให้มีเรือขนาดใหญ่หลายลำ อับปาง ในห้วงเวลาใกล้เคียงกัน และมีน้ำเข้า เรือหลวงสุโขทัย จนเป็นเหตุให้เรือโคลงมาก เป็นอุปสรรคต่อการช่วยเหลือกำลังพล จึงมีการสูญเสียเกิดขึ้น

 

ส่วนการตัดสินใจนำเรือกลับฐานทัพเรือสัตหีบ ของ ผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย ทั้งที่ระยะทางไกล ใช้เวลาเดินทางมากกว่านำเรือเข้าเทียบ ท่าเรือบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นั้น เพราะพิจารณาว่า คลื่นลมบริเวณหน้าท่าเรือมีความรุนแรง เรือไม่สามารถเทียบท่า และไม่มีเรือลากจูงสนับสนุนการเทียบท่า การเข้าเทียบท่าอาจเป็นอันตรายต่อเรือ และในเวลานั้น ผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย ยังไม่ทราบข้อมูลการฉีกขาดของแผ่นเหล็กกันคลื่นบริเวณหน้าป้อมปืน จึงเห็นว่าหากนำเรือกลับจะทุเลาความรุนแรง ถือเป็นการตัดสินใจภายใต้ข้อมูลที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งผู้บังคับการเรือฯ เห็นว่าเป็นหนทางปฏิบัติที่ดีที่สุด 

 

คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงสรุปว่า เรือหลวงสุโขทัย อับปาง ไม่ได้เกิดจากความจงใจของ ผู้บังคับการเรือฯ รวมถึงกำลังพลบนเรือ แต่ เกิดจากสภาพอากาศแปรปรวนอย่างฉับพลัน ทำให้เรือเกิดสภาวะผิดปกติ และน้ำเข้าเรือจากรูทะลุ เป็นเหตุทำให้เรือเอียงและอับปาง การตัดสินใจนำเรือกลับสัตหีบของผู้การเรือฯ  ซึ่งมีระยะทางไกลและใช้เวลาเดินทางมากกว่า เป็นดุลพินิจโดยขาดความรอบคอบ ทำให้เกิดความเสียหาย เชื่อว่าการ อับปาง ของ เรือหลวงสุโขทัย มีส่วนเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่

 

การใช้ดุลพินิจโดยขาดความรอบคอบ ทำให้เกิดความเสียหายของ ผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย เป็นความผิดตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ 2476 โดยเห็นสมควรลงทัณฑ์ "กัก" เป็นเวลา 15 วัน

 

ทัพเรือภาคที่ 1 ได้ประเมินให้ กองทัพเรือ ได้ดำเนินการทางวินัย กับ ผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย แล้ว ส่งผลการพิจารณาให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ความรับผิดทางละเมิดดำเนินการ ในส่ว นที่เกี่ยวข้องความผิดทางอาญา อยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานสอบสวน สภ.บางสะพาน ที่จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

 

ด้าน พลเรือเอก ชัยณรงค์ กล่าวถึง การตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการจงใจ เนื่องจากเป็นเหตุสุดวิสัยจากสภาพอากาศทั้งสิ้น และการตัดสินใจของผู้การเรือฯ ในการหันหัวเรือกับสัตหีบ สามารถดำเนินการได้ จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่จะต้องรับผิดทางละเมิด ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

 

ขณะที่ นาวาโท พิชิตชัย กล่าวว่า ในนามของผู้บังคับการเรือ ขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าวอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อครอบครัวของผู้ที่สูญเสีย

 

"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ เรือหลวงสุโขทัย ผมขอยืนยันว่าไม่มีผู้ใดตั้งใจทำให้เกิดขึ้น ผมและกำลังพลทุกนายได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ ทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างสุดความสามารถ เพื่อกู้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น และได้พยายามแก้ไขสถานการณ์ตามขั้นตอน ในเหตุวิกฤตที่เกิดขึ้นรุนแรงเกินกว่าที่จะควบคุมได้

 

“ในสถานการณ์วิกฤตและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นนั้น ในฐานะผู้บังคับการเรือจำเป็นต้องมีการตัดสินใจ ดังนั้นการนำเรือกลับสัตหีบจึงมาจากการใช้ดุลพินิจของผม จากการประเมินสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น เรือยังอยู่ในสภาวะปกติไม่เอียง สถานการณ์ในเรือสามารถควบคุมได้ จึงเชื่อว่าสามารถนำเรือกลับได้ แต่หลังจากที่ตัดสินใจนำเรือกลับ สภาพอากาศแปรปรวนอย่างฉับพลันเลวร้ายกว่าเดิม การตัดสินใจของผมอาจเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่รอบคอบ

 

ผมในฐานะผู้บังคับการเรือ ขอแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ต่างๆ ขอยอมรับโทษตามกองทัพเรือภาคที่ 1 และผู้บังคับบัญชาระดับสูงจะเห็นควร อีกทั้งหลังจากเรื่องทุกอย่างเสร็จสิ้น ผมขอแสดงเจตจำนงค์ ลาออกจากกองทัพเรือ ที่เป็นถิ่นกำเนิดและบ้านเกิดการอบอุ่นของผม และเป็นการรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น รวมถึงเป็นการดำรงไว้ซึ่งเกียรติและตำแหน่ง ผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย ที่ทหารเรือตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้ดำรงมา"

 

จากนั้น ผบ.ทร. ได้กล่าวปิดท้ายการแถลงข่าว พร้อมทั้งชื่นชม อดีต ผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย ว่า เป็นลูกผู้ชาย ใครไม่เป็นทหารไม่รู้ เพราะตั้งแต่เป็นนักเรียนเตรียมทหาร จนมาเป็นผู้การเรือ ต้องมีใจรัก ซึ่งการเป็นผู้การเรือเกรด A ของกองทัพเรือ เมื่อนำทัพทหารไปสูญเสีย ได้แสดงสปิริต ถ้าเขาไม่ลาออก ก็ยังสามารถอยู่ได้ แต่ขอขอบคุณที่รักษา กองทัพเรือ ไว้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ