ประธาน กกต. ไม่ล่าช้า พิจารณายุบ ‘ก้าวไกล – ภูมิใจไทย’
‘ประธาน กกต.’ ไม่ล่าช้าพิจารณายุบ ‘พรรคก้าวไกล’ หลังมีคำวินิจฉัยตัวเต็มคดีล้มล้างการปกครองฯ ส่วน ‘พรรคภูมิใจไทย’ ก็ทำตามกรอบเวลา กกต.จังหวัด เตรียมความพร้อมเลือกตั้ง สว. หลังหมดสมัย พ.ค.นี้ ขู่ผู้สมัคร ห้ามเชื่อมโยงพรรคการเมือง
นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณายุบพรรคก้าวไกล และพิจารณาคำร้องยุบพรรคภูมิใจไทย ว่า เรื่องของพรรคก้าวไกล หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 มกราคม ทาง กกต.ก็ขอให้สำนักงาน กกต. และนายทะเบียนไปศึกษาคำวินิจฉัยและตัวบทของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง เห็นพ้องกันว่าควรเอาคำวินิจฉัยฉบับสมบูรณ์ มาประกอบการพิจารณาเสนอความเห็นด้วย ซึ่งคำวินิจฉัยฉบับสมบูรณ์ศาลรัฐธรรมนูญออกมาวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ผ่านทางราชกิจจานุเบกษา จากนั้นสำนักงาน กกต. ต้องนำคำวินิจฉัยนี้ไปพิจารณาดูอีกที ประกอบกับความเห็นที่ได้ศึกษาไว้ก่อนหน้านี้ กระบวนการพวกคงใช้เวลาไม่มาก แต่ไม่มีกรอบเวลากำหนดไว้ เพราะไม่ใช่กระบวนการคำร้องที่ต้องระบุเวลา เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำอยู่เสมอคือไม่ชักช้า
ส่วนเรื่องเรื่องพรรคภูมิใจไทย ได้รับคำร้อง ซึ่งตามกระบวนการทำงานเรื่องนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของนายทะเบียนพรรคการเมืองคือเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าข้อเท็จจริงตามคำร้องมีมูลหรือไม่ ถ้าเห็นว่ามีมูลก็ต้องสั่งตั้งคณะตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาเสนอความเห็น เป็นขั้นตอนกระบวนการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการและไม่ล้าช้า มีกรอบเวลาอยู่ประมาณ 30 หรือ 60 วัน ถ้าไม่พอก็ต่อเวลาได้ กระบวนการนี้นอกจากรวบรวมข้อมูลแล้ว ยังต้องเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ บางทีเขาก็ไม่ว่างก็เลื่อนกันไปมา แต่โดยหลักเราพยายามทำในกรอบเวลาและไม่ล่าช้า
ส่วนการเตรียมความพร้อมจัดการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ประธาน กกต. บอกว่า ประมาณการเบื้องต้นจะมีผู้มาสมัครไม่น้อยกว่า 100,000 คน หากจำนวนมากขึ้นก็เป็นเรื่องน่ายินดี เพราะประชาชนที่สนใจก็สามารถเป็นผู้สมัครได้อยู่แล้ว และถึงเวลาก็จะมีการเลือกตามกลุ่มอาชีพต่างๆ ถ้ามีจำนวนมาก ถือว่ายิ่งดี ตอนนี้แจ้งไปยังสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดต่างๆ ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าประชาชนท่านใดที่สนใจจะสมัครและมีคำถามที่อยากสอบถามเบื้องต้น เกี่ยวกับกระบวนการสมัคร คุณสมบัติ สามารถสอบถามได้ที่ กกต.จังหวัดนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป ดังนั้นก็เป็นความพยายามประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลของ กกต.
ส่วนกรณีที่สถาบันการสร้างชาติ เปิดอบรมคนที่อยากเป็น สว. ประธาน กกต. บอกว่า สามารถทำได้ ไม่มีกฎหมายห้าม หากเป็นการอบรมเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจก็น่าจะเป็นส่วนที่ดี เป็นการส่งเสริม กระจาย และเผยแพร่ความสำคัญของการสมัครของประชาชน เพื่อให้ทำหน้าที่ในวุฒิสภา ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดี ส่วนจะเป็นการสร้างเครือข่ายเพื่อล็อบบี้กันหรือไม่ คิดว่าตอนนี้ยังพูดแบบนั้นไม่ได้ ไม่แน่ใจว่ามีการจัดไปแล้วหรือไม่ แต่คิดว่าเป็นการจัดประกาศในที่สาธารณะ คงต้องมองข้อเท็จจริงตามนี้ไปก่อน
สำหรับความพยายามทำให้ผู้สมัครถูกเข้าใจว่ามีพรรคการเมืองหนุนหลัง ถือว่ามีความผิดหรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า มีความผิด ต้องไปเปิดดูว่าบทลงโทษ ยังไม่แน่ใจว่าจะมีโทษถึงขั้นยุบพรรคหรือไม่ เห็นได้ชัดว่าการจัดเลือกตั้ง สว.จัดให้มีการเลือกโดยประชาชน อะไรก็ตามที่ไม่เป็นการสมัครหรือดำเนินการสมัครด้วยตัวเอง ก็ถือเป็นการเสี่ยงต่อการฝ่าฝืนกฎหมาย
“ผมเข้าใจว่า พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง สว. ที่จัดให้มีการเลือกในระบบนี้เป็นครั้งแรกก็เพื่อต้องการไม่ให้มีการแทรกแซงจากพรรคการเมือง เพราะฉะนั้น อะไรที่มาแทรกแซงก็จะเสี่ยงต่อการฝ่าฝืนกฎหมาย” นายอิทธิพร กล่าว
ส่วนคณะก้าวหน้าที่ทำประเด็นท้องถิ่นสามารถมีผู้สมัครได้หรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า ไม่สามารถยึดโยงได้ ทั้งนี้กระบวนการตรวจสอบในเรื่องการฝักใฝ่พรรคการเมือง กกต.สามารถตั้งเรื่องได้เลย หากมีข้อเท็จจริง