ข่าว

ย้อนประวัติศาสตร์ จาก 'เกาะกูด' สู่ 'เกาะกง' ใครควรเป็นเจ้าของ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ย้อนประวัติศาสตร์ จาก 'เกาะกูด' สู่ 'เกาะกง' ประจันตคีรีเขต อดีตเมืองคู่แฝด ประจวบคีรีขันธ์ ใครควรเป็นเจ้าของ?

ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล “เกาะกูด” เนื้อที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร เรื้อรังมานานกว่า 54 ปี ที่ยังไม่แบ่งอาณาเขตชัดเจน อาจทำให้ประเทศไทย ต้องเสียเกาะกูด และ ทรัพยากรอันล้ำค่าให้กับกัมพูชาในอนาคต ถึงแม้ว่า “เกาะกูด” จะมีสถานะเป็นอำเภอหนึ่ง ใน จ.ตราด ของประเทศไทย แต่การประกาศเขตพื้นที่ไหล่ทวีปของฝ่ายกัมพูชา กลับลากเส้นเขตแดนทางทะเล มาผ่ากลางเกาะกูดของไทย ตั้งแต่ปี 1972 และพยายามอ้างสิทธิมาถึงปัจจุบัน...ปัญหาข้อพิพาทเกาะกูด ถูกย้อนประวัติศาสตร์ โยงเรื่องราวไปยัง เกาะกง ที่ไทยไม่ควรสูญเสียเช่นกัน 

จาก “เกาะกูด”สู่ “เกาะกง”

 

 

“เกาะกง” เป็นที่ทราบกันดีว่า อยู่ในพื้นที่ของกัมพูชา ซึ่งเดิมไทยเรียก ปัจจันตคิรีเขตร บ้างสะกดว่า ปัตจันตคีรีเขตร์ หรือ ประจันต์คิรีเขตต์ เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลของประเทศกัมพูชา ตั้งอยู่บริเวณภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ทิศเหนือติดกับ จ.โพธิสัตว์ ทิศตะวันออกติดกับ จ.กำปงสปือ ทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดกับ จ.พระสีหนุ ทิศตะวันตกติดกับ จ.ตราด ของประเทศไทย และทิศใต้ติดกับอ่าวไทย

 

 

แต่เพจ โบราณนานมา ได้ผุดประเด็นที่น่าสนใจขึ้นมาว่า นอกจากกัมพูชาจะไม่มีวันได้ครอบครอง “เกาะกูด” แล้ว กัมพูชาควรคืน “เกาะกง” หรือ ประจันตคีรีเขตร อดีตเมืองคู่แฝดประจวบคีรีขันธ์ ให้ประเทศไทยด้วยเช่นกัน

ประวัติศาสตร์เกาะกง ขอบคุณเพจ โบราณนานมา

พลิกหน้าประวัติศาสตร์ เกาะกง

 

 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อเมืองใหม่ให้ 2 เมือง ที่อยู่ในเส้นรุ้ง (ละติจูด : latitude) เดียวกัน แต่อยู่คนละฝั่งอ่าวไทย ให้เป็นเมืองคู่กัน คือ “เมืองนางรมย์” เป็น “ประจวบคีรีขันธ์” ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันตกกับ “เกาะกง” เป็น “ประจันตคีรีเขตร” ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันออก ให้มีชื่อคล้องจองกัน โดยมีประกาศ เมื่อวันอังคารที่ 26 มิ.ย. 2398

 

 

ในสมัยนั้น เมื่อฝรั่งเศสยึดญวน (เวียดนาม) และเขมร (กัมพูชา) ได้แล้ว ก็พยายามรุกเข้าลาว ซึ่งอยู่ในความปกครองของสยาม และพยายามบีบสยามทุกวิถีทาง โดยถือว่ามีอาวุธที่เหนือกว่า เมื่อเกิดกบฏฮ่อขึ้นในแคว้นสิบสองจุไท และสยามกำลังจะยกกำลังไปปราบ  ฝรั่งเศสก็ชิงส่งทหารเข้าไปปราบเสียก่อน อ้างว่าเพื่อช่วยสยาม แต่เมื่อปราบฮ่อได้แล้ว ฝรั่งเศสก็ไม่ยอมถอนทหารออก ถือโอกาสยึดครอง เพราะมีเป้าหมายจะยึดดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทั้งหมด

 

 

ในที่สุดวันประวัติศาสตร์ที่คนไทยจะต้องจดจำก็คือ 13 ก.ค. 2436 ซึ่งเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ฝรั่งเศสส่งเรือรบ 2 ลำ ฝ่าแนวยิงของป้อมพระจุลฯ เข้ามาจอดหน้ากงสุลฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ และยังเรียกเรือรบจากฐานทัพไซ่ง่อนอีก 10 ลำ มาร่วมปิดอ่าวไทย ต่อมาได้ส่งทหารขึ้นยึดเกาะสีชัง เมื่อวันที่ 27 ก.ค. จนการค้าขายต้องหยุดชะงักหมด ยื่นเงื่อนไขให้สยามถอนทหารออกจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทั้งหมดภายใน 1 เดือน ให้วางเงินทันที 3 ล้านฟรังก์ ยื่นข้อเรียกร้องให้สยามตอบภายใน 48 ชั่วโมง

 

 

รัฐบาลสยามรู้ดีว่า ข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสเป็นเรื่องไม่ยุติธรรม แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ พยายามต่อรองบ่ายเบี่ยงแต่ก็ไม่สำเร็จ ในที่สุดก็ต้องยอมลงนามในสัญญาข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสในวันที่ 3 ต.ค.

 

 

ในระหว่างที่ทั้งสองฝ่ายออกสำรวจปักปันเขตแดนนั้น ฝรั่งเศสขอยึดเมืองจันทบุรีไว้ก่อน เพื่อให้สยามปฏิบัติตามสัญญา ทั้งนี้ เพราะฝรั่งเศสเห็นว่า จันทบุรีเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ซึ่งสยามก็ต้องยอมอีก

 

 

ฝรั่งเศสยึดจันทบุรี ตั้งแต่ปี 2436 แต่เมื่อปักปันเขตแดนเสร็จสิ้น  ฝรั่งเศสกลับหน่วงเหนี่ยวประวิงเวลา และบีบคั้นให้สยามเซ็นสัญญาอีกฉบับ ยอมยกดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ซึ่งได้แก่เมืองหลวงพระบางฝั่งขวา และเมืองจำปาศักดิ์ โดยฝรั่งเศสจะยอมผ่อนคลายสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้ การผ่อนคลายนี้ หมายถึงยกให้แก่คนเอเชียในบังคับของฝรั่งเศส แต่ยังไม่ยอมยกเลิกแก่คนฝรั่งเศส

 

 

สยามในเวลานั้นก็ต้องยอมอยู่ดี เซ็นสัญญาตามที่ฝรั่งเศสเรียกร้องนี้เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2446 เพื่อแลกกับจันทบุรีกลับคืน

 

 

แต่แล้วชั้นเชิงแบบหมาป่าก็ยังไม่สิ้น เพื่อเป็นหลักประกันให้สยามปฏิบัติตามสัญญานี้ ฝรั่งเศสขอยึด จ.ตราด และเกาะทั้งหลาย ตั้งแต่แหลมสิงห์ ใน อ.แหลมงอบ รวมทั้งเกาะกง ซึ่งขณะนั้นเป็น จ.ประจันตคีรีเขตของสยาม ให้อยู่ในความปกครองของฝรั่งเศส และต้องรอให้ทั้งสองฝ่ายทำการสำรวจเส้นพรมแดนตามสัญญานี้ให้ฝรั่งเศสเสร็จเสียก่อน ฝรั่งเศสจึงจะยอมถอนทหารออกจากจันทบุรี

 

 

สยามก็ต้องยอมเช่นเคย การสำรวจเสร็จสิ้นลงในวันที่ 9 ธ.ค. 2447 ฝรั่งเศสจึงยอมถอนทหารออกจากจันทบุรีในวันที่ 12 ม.ค.ต่อมา

 

 

ความอยากได้ดินแดนสยามของฝรั่งเศสยังไม่จบ มีจิตรกรฝรั่งเศสคนหนึ่ง ชื่อ อองรี อูโมต์ ได้เขียนรูปนครวัดนครธมไปเผยแพร่ ฝรั่งเศสเห็นเป็นสิ่งมหัศจรรย์เลยอยากได้ไว้เป็นสมบัติของตัว รวมทั้งอยากได้ทะเลสาบเสียมราฐอันกว้างใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ จึงเสนอแลกตราดกับเสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณ ซึ่งเป็นมณฑลบูรพาของสยาม สยามอยากได้ตราด ซึ่งมีคนไทยอยู่คืนมาจึงยอมอีก

 

 

ในสัญญาฉบับใหม่ที่ ลงวันที่ 23 มี.ค. 2449 ไทยต้องยกมณฑลบูรพา อันประกอบด้วย พระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณให้แก่ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับ อ.ด่านซ้าย จ.เลย รวมทั้ง จ.ตราด ตั้งแต่แหลมสิงห์ ไปจนถึงเกาะกูด แต่ไม่ยอมคืน จ.ประจันตคีรีเขตด้วย

 

 

เป็นอันว่า “จังหวัดประจันตคีรีเขตร” หรือ เกาะกง จึงต้องหลุดไปอยู่กับฝรั่งเศสตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนเป็นส่วนหนึ่งของกัมพูชาในขณะนี้ ตอนนั้นมีคนไทยที่ไม่ยอมอยู่ใต้การปกครองของฝรั่งเศส ได้สละบ้านช่อง ย้ายมาอยู่เกาะกูดและจันทบุรีเป็นจำนวนมาก คนเขมรจากเมืองต่างๆ จึงย้ายเข้ามาแทนที่ ปัจจุบันในเกาะกง ปรากฏว่ามีชาวไทย เพียง 25% เท่านั้น

 

 

แต่เดิมเกาะกงในปี 2506 ได้มีการออกกฎห้ามชาวเกาะกงพูดภาษาไทย โดยจะปรับเป็นคำละ 25 เรียล ห้ามมีเงินไทย และห้ามมีหนังสือไทยอยู่ในบ้าน หากเจ้าหน้าที่พบจะถูกทำลายให้สิ้นซาก ต่อมาในปี 2507 ค่าปรับการพูดภาษาไทยเพิ่มขึ้นเป็น 50 เรียล แม้ชาวไทยเกาะกง จะถูกจำกัดสิทธิทางภาษา วัฒนธรรม และประเพณี แต่ก็มีคนเฒ่าคนแก่ที่ยังรักษาประเพณี และเอกลักษณ์ การใช้ภาษาไทย ซึ่งชาวไทยในเกาะกง จะมีสำเนียงแบบเดียวกับที่ จ.ตราด

 

 

“ประจันตคีรีเขตร” เมืองคู่แฝดของ “ประจวบคีรีขันธ์” เหลืออยู่แต่เพียงชื่อไว้ในประวัติศาสตร์เท่านั้น

เกาะกูด

 

จาก เกาะกง สู่ เกาะกูด

 

ความคาดหวังการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชา จึงถูกจับตาอีกครั้ง เนื่องจากพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลเกาะกูด กว่า 26,000 ตารางกิโลเมตร มีก๊าซธรรมชาติถึง 11 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต มูลค่า 3.5 ล้านล้านบาท, น้ำมันดิบอีกกว่า 500 ล้านบาเรลล์ มูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท นั่นหมายความถึง ทรัพยากรที่มูลค่ามหาศาล

 

 

ถึงแม้ว่า จากอดีตถึงปัจจุบัน เกาะกูด จะอยู่ในการปกครองของประเทศไทยมาตลอด แต่ข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ที่กินเวลายาวนาน ก็ยังหาข้อยุติไม่ได้

 

 

 

ขอบคุณข้อมูล : เพจโบราณนานมา

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ