'เกาะกูด' เป็นของใคร เกิดอะไรขึ้นกับ 'เกาะกูด'
ความสัมพันธ์ ไทย - กัมพูชา แน่นแฟ้นขึ้น แต่การประกาศเขตแดนทางทะเลของฝ่ายกัมพูชา ยังคงลากเส้นผ่ากลางเกาะกูด ทำให้หลายฝ่ายกังวลถึงการลุกล้ำอธิปไตยแผ่นดินไทย และการเจรจาผลโยชน์ปิโตรเลียม ในพื้นที่ทับซ้อนทะเลอ่าวไทย
เมื่อพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล ความสัมพันธ์ไทย - กัมพูชา แน่นแฟ้นขึ้น ทุกคนจึงต่างจับตาความคืบหน้าเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลรอบใหม่
ประเด็นสำคัญคือ 'เกาะกูด' ที่มีสถานะเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดตราด ของประเทศไทย แต่การประกาศเขตพื้นที่ไหล่ทวีปของฝ่ายกัมพูชา กลับลากเส้นเขตแดนทางทะเล มาผ่ากลางเกาะกูดของไทย ตั้งแต่ปี 1972 และพยายามอ้างสิทธิ์มาถึงปัจจุบัน
มีข้อโต้แย้งว่า การกำหนดเส้นเขตแดนทางทะเลของฝ่ายกัมพูชา ไม่เป็นไปตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ คือ ‘อนุสัญญาเจนีวา 1958’ และ ‘อนุสัญญา UN กฎหมายทางทะเล 1982’ และสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ปี 1907 ก็ระบุชัดเจนว่า "รัฐบาลฝรั่งเศสยอมยกดินแดนเมืองด่านซ้ายและเมืองตราด กับทั้งเกาะทั้งหลาย ซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิงห์ ลงไปจนถึงเกาะกูดนั้น ให้แก่กรุงสยาม"
จากอดีดถึงปัจจุบัน เกาะกูดอยู่ในการปกครองของประเทศไทยมาตลอด มีการตั้งชุมชน โรงเรียน สถานีตำรวจ และหน่วยราชการต่างๆ
แต่การเจรจาไม่ใช่มีแค่เรื่องเกาะกูดเท่านั้น ยังมี พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกว่า 26,000 ตารางกิโลเมตร ที่มีก๊าซธรรมชาติถึง 11 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต 3.5 ล้านล้านบาท น้ำมันดิบอีกกว่า 500 ล้านบาเรลล์ 1.5 ล้านล้านบาท
แม้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจะแน่นแฟ้นกว่าเดิม จากความสัมพันธ์ของพรรคเพื่อไทยกับฝ่ายกัมพูชา แต่ทุกฝ่ายต่างจับตา ดูผลการเจรจารอบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น