ข่าว

สภาฯ มติเอกฉันท์ รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สภาฯ รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ 5 ฉบับ ทุกฝ่ายเห็นด้วยต้องมีกฎหมายรับรองสิทธิ์ – ศักดิ์ศรี - วิถีชีวิต กลุ่มชาติพันธุ์ เข้าถึงที่ทำกิน รักษาวัฒนธรรมดั่งเดิม ส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่น

สภาผู้แทนราษฎร มีมติเอกฉันท์ 414 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ วาระแรก ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ และมีมติ 386 ต่อ 25 เสียง รับหลักการร่างกฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชน นำโดยนายศักดา แสนมี่ และมีมติ 386 ต่อ 25 เสียง รับหลักการร่างกฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชน นำโดยนายสุริยันต์ ทองหนูเอียด รวมถึงมีมติเอกฉันท์ 412 เสียง รับหลักการร่างกฎหมายที่พรรรคเพื่อไทยเสนอ  และมีมติ 389 ต่อ 25 เสียง รับหลักการร่างกฎหมายที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล

 

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า เพื่อให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครอง และส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ และให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ที่รัฐจะต้องส่งเสริมและคุ้มครองชาวไทยทุกชาติพันธุ์ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวิถีชีวิต และวัฒนธรรมดั้งเดิมได้อย่างสงบสุข โดยจะต้องไม่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ และเพื่อคุ้มครอง ส่งเสริมความเสมอภาคแก่ทุกกลุ่มชาติพันธุ์

 

นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด ตัวแทนภาคประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมาย ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า เพื่อให้มีกฎหมายคุ้มครองชนเผ่าพื้นเมือง ที่มีอัตลักษณ์ และวัฒนธรรมเป็นของตนเอง มีการตั้งถิ่นฐานกระจายในภูมิภาคต่างๆ ทั้งพื้นที่สูง เกาะแก่งตามชายฝั่ง อาศัยในป่า และกลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานบนพื้นราบกลมกลืนกับคนไทยปกติ ซึ่งรัฐธรรมนูญได้รับรองให้บุคคลเสมอกันตามกฎหมาย และประเทศไทยยังลงนามพันธะสัญญาระหว่างประเทศ แต่ก็ยังมีการเลือกปฏิบัติจากรัฐ ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิบางประการ เช่น การกำหนดสถานะบุคคล สิทธิอาศัยในที่ดินที่ทับซ้อนพื้นที่อนุรักษ์ทางราชการ ขาดการเข้าถึงการบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน และขาดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่อาจกระทบต่อวีถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายคุ้มครอง

นายเล่าฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอร่างกฎหมาย กล่าวว่า สามารถใช้เป็นเครื่องมือของชุมชนและรัฐ สู่การแก้ปัญหาละเมิดกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงร่างกฎหมายฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการและพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งสังคมโลกกำลังให้ความสำคัญการคุ้มครองให้ทุกคนมีวิถีชีวิตที่ดีอย่างเสมอภาค โดยเฉพาะชนเผ่าพื้นเมือง ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายนโยบายในสมัยใหม่ ไปกระทบต่อวัฒนธรรมและจารีตท้องถิ่น

 

นายสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้เสนอกฎหมาย ชี้แจงหลักการร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า แม้ที่ผ่านมารัฐจะมีมาตรการคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ยังขาดกฎหมายเฉพาะที่กำหนดมาตรการอันเหมาะสมในการปฏิบัติ ทำให้ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิบางประการ เช่น ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินทับซ้อนพื้นที่ราชการ ตลอดจนขาดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่กระทบต่อวิถีชีวิต จึงควรมีกฎหมายส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ

ขณะที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ใช้สิทธิการอภิปราย เห็นว่า มี 4 เสาเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตชนเผ่า และชาติพันธุ์ ได้แก่ การให้สิทธิที่ทำกิน การคุ้มครองส่งเสริมวัฒนธรรม การให้สิทธิเด็กรหัสจี และการให้สัญชาติเพื่อได้รับการคุ้มครองสิทธิและเข้าถึงการบริการขั้นพื้นฐานของรัฐ แต่ในสภาพความเป็นจริงของประเทศไทยนั้น กลับพบว่า กลุ่มชาติพันธุ์ไม่มีที่ทำกินของตนเอง วัฒนธรรมสูญหาย โดยเฉพาะภาษาสื่อสาร เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้รับการบริการจากรัฐ ถูกเลือกปฏิบัติ ซึ่งอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ ได้แก่ กฎหมาย เช่น พ.ร.บ.ป่าไม้ ป่าสงวน อุทยาน, งบประมาณต่อผู้ไร้สัญชาติไม่เพียงพอ, การบริหารงานภาครัฐ ที่ยังเข้าใจผิดกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคง จึงขอให้สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกันรับหลักการร่างกฎหมายเหล่านี้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งแนวโน้มของโลกพิสูจน์แล้วว่า กลุ่มชาติพันธุ์มีส่วนช่วยในการอนุรักษ์ป่า และเปลี่ยนวิธีคิด ไม่แยกคนออกจากป่า เศรษฐกิจชาติพันธุ์ กำลังส่งเสริมทั่วโลก เปลี่ยนปัญหาให้กลายเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ

 

เช่นเดียวกับ การอภิปรายของ สส.คนอื่น ๆ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สนับสนุนต่อหลักการในร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ เพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้รับสวัสดิการ รวมถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงได้รับมากขึ้น

 

รายละเอียดภายในร่างกฎหมาย กำหนดให้มีการคุ้มครองส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตตามวัฒธรรม และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน ไม่ถูกเกลียดชัง เหยียดหยาม หรือถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม สามารถอนุรักษ์ และแสดงออกทางภูมิปัญหา วัฒธรรม ความเชื่อ ตามวิถีชีวิตได้ โดยไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน และให้สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐเข้าถึง พร้อมกำหนดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงวัฒนธรรม เป็นรองประธานโดยตำแหน่ง เพื่อทำหน้าที่กหนดนโยบายเกี่ยวกบการคุ้มครอง ส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี เห็นชอบ รวมถึงการประกาศกำหนดกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนี้ พร้อมกำหนดให้มีสมัชชากลุ่มชาติพันธุ์แห่งประเทศไทยที่มาจากสมาชิกผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มละไม่เกิน 5 คน มีการเลือกประธาน และรองประธานสมัชชา และเลขานุการสมัชชา โดยจัดให้มีการประชุมปีละ 2 ครั้ง เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ กับสังคม เสนอแนะโยบายและมาตรการในการคุ้มครอง และส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ต่อคณะกรรมการฯ

 

นอกจากนั้น ยังกำหนดให้มีการจัดทำข้อมูลวิถีชีวิต และประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อคุ้มครอง และส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ และเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญ เพื่อประกอบการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามกฎหมายในการรับรองสถานะบุคคล หรือในการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่มีกฎหมายกำหนด เพื่อการอนุรักษ์ หรือใช้ประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการดำเนินการอื่นของรัฐที่กระทบต่อกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นต้น

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง