ข่าว

'ก้าวไกล' ดักทาง เศรษฐา อาจไม่รับรองร่างกฎหมาย 'ยุบ กอ.รมน.'

'ก้าวไกล' ดักทาง เศรษฐา อาจไม่รับรองร่างกฎหมาย 'ยุบ กอ.รมน.'

01 พ.ย. 2566

'ยุบ กอ.รมน.' เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับพรรค 'ก้าวไกล' ขอนายกฯใจกว้าง ยันเดินหน้าทำทุกทางเพื่อให้ได้พิจารณาร่างกฎหมายในสภา

รอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย เชตวัน เตือประโคน สส.ปทุมธานี เขต 6 พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการทหาร คนที่หก ร่วมแถลงข่าวกรณีการเสนอร่าง พ.ร.บ. ยกเลิก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 หรือร่างกฎหมาย ยุบ กอ.รมน. และท่าทีของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

 

สส.ก้าวไกล แถลงเดินหน้ายุบ กอ.รมน.

รอมฎอนบอกว่า มีทางเลือกสำหรับนายกรัฐมนตรี 3 ทาง ทางแรก คือการให้คำรับรองร่างกฎหมายยุบ กอ.รมน. เพื่อเดินไปตามกลไกปกติ คุยกันต่อในสภา ทางเลือกที่ 2 จะด้วยแรงกดดันหรืออะไรก็แล้ว นายกฯ อาจไม่ให้คำรับรอง  ทราบว่าขณะนี้มีคำแนะนำอย่างเป็นทางการจากทาง กอ.รมน. ไม่ให้นายกฯ รับรองร่างกฎหมายนี้หรือปล่อยเกียร์ว่าง เพราะตามกฎหมายไม่ได้ระยะเวลาส่งร่างกลับมาที่สภาฯไว้ 

 

ปัจจุบันร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกวินิจฉัยโดยประธานสภาฯ ว่าเป็นร่างเกี่ยวด้วยการเงิน ต้องให้นายกฯ ให้คำรับรองเพื่อให้มีการพิจารณาต่อในสภาผู้แทนฯ โดยการให้หรือไม่ให้คำรับรองนั้น อาจไม่เกี่ยวข้องกับท่าทีหรือจุดยืนว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการยุบ กอ.รมน. เพียงแต่เป็นการเปิดโอกาสให้กลไกทางรัฐสภาได้ทำหน้าที่ต่อไป

 

เพราะแม้แต่ในพรรคร่วมรัฐบาลก็อาจเห็นต่างกันในประเด็นนี้ เช่น อดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ประธานวิปรัฐบาล รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ โดยเฉพาะ สส. จากพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ร่างกฎหมาย ยุบ กอ.รมน. อยู่ในชุดกฎหมายเปลี่ยนประเทศ ซึ่งพรรคก้าวไกลยื่นเข้าสภาฯ เป็นชุดแรกตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2566 หัวใจสำคัญคือเสนอให้มีการปฏิรูปกองทัพและระบบงานความมั่นคงของประเทศ สถาปนาหลักการประชาธิปไตยที่รัฐบาลพลเรือนเป็นใหญ่ ทำให้กองทัพอยู่ห่างออกจากการเมืองมากที่สุด และอีกด้านหนึ่งคือการเปิดโอกาสสำหรับการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

การยุบ กอ.รมน. มีเหตุจำเป็นหลายประการ หนึ่งในนั้นคือการพยายามทำให้ความมั่นคง ไม่ใช่เรื่องที่ถูกผูกขาดอยู่เพียงบทบาทและหน้าที่ของกองทัพเท่านั้น แต่ต้องเป็นเรื่องของประชาชน ถูกกระจายออกสู่มือของหน่วยงานพลเรือน ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐบาลพลเรือน นอกจากนั้น ร่างกฎหมายนี้ยังพูดถึงการบริหารราชการที่มีความโปร่งใสและชอบธรรม

 

ที่ผ่านมามีข้อถกเถียงและข้อกล่าวหาต่อ กอ.รมน. จำนวนมาก เกี่ยวกับการใช้งบประมาณที่มากเกินจริงและไม่โปร่งใส เช่น กรณีล่าสุดเรื่องบัญชีผี หรือกรณีปฏิบัติการทางทหารที่เกี่ยวกับเด็ก ที่ครั้งหนึ่ง กอ.รมน. เคยระบุในเอกสารงบประมาณถึงตัวชี้วัด คือการพยายามเปลี่ยนความคิดเด็กอายุ 1-5 ขวบ ซึ่งต้องถามว่าเป็นกรอบคิดแบบไหนที่มองเด็กเข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งแบบนั้น