ขอ 'เรือนจำพิเศษกรุงเทพ' ปลดพันธนาการ 'อานนท์ นำภา'
ทนายความยื่นหนังสือถึงผู้บัญชาการเรือน 'จำพิเศษกรุงเทพ' ให้ปลดพันธนาการ 'อานนท์ นำภา' เพราะเป็นเพียงผู้ต้องขัง ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด
วันที่ 9 ของการคุมขัง อานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งอยู่ระหว่างขอประกันคดีม็อบ 2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว เมื่อวันที่ 29 ก.ย. และ 3 ต.ค. 2566 ทนายความผู้รับมอบอำนาจได้เดินทางไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือถึงผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ขอให้ทบทวนมาตรการการใช้เครื่องพันธนาการ
การยื่นหนังสือครั้งนี้สืบเนื่องมาจากภายหลังที่ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 4 ปี เมื่อวันที่ 26 ก.ย. ที่ผ่านมา และศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกันในระหว่างอุทธรณ์ อานนท์ถูกเบิกตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปที่ศาลอาญาในนัดสืบพยาน แต่ทนายความและประชาชนที่ไปรอให้กำลังใจอานนท์พบว่า
อานนท์ นำภาเดินเข้ามาในห้องพิจารณาคดีในทั้ง 3 วันอย่างช้า ๆ เนื่องจากมีตรวนล่ามข้อเท้าทั้งสองข้างเข้าด้วยกัน ลักษณะคล้ายกุญแจมือ แต่ใส่ที่ข้อเท้า ทำให้ผู้พบเห็นรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมที่อานนท์ได้รับจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ จึงยื่นหนังสือถึง ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มีใจความดังนี้
ตามที่อานนท์ นำภา ผู้ต้องขังตามหมายขังของศาลอาญา ซึ่งอยู่ในความควบคุมของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยยังเป็นผู้ต้องขังระหว่างการอุทธรณ์และคดียังไม่สิ้นสุด ได้เดินทางมาศาลอาญาเพื่อพิจารณาคดีในคดีอื่นเมื่อวันที่ 29 ก.ย. และ 3 ต.ค. 2566 โดยใส่พันธนาการเป็นตรวนที่ข้อเท้าทั้งสองข้างตลอดระยะเวลาที่ออกนอกเรือนจำ
การใส่ตรวนนั้นถือเป็นการลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง แม้ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ฯ จะให้อำนาจกระทำได้เพื่อป้องกันการหลบหนี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทางเรือนจำจะต้องใช้โซ่ตรวนในทุกกรณี ซึ่งอานนท์ไม่ได้มีพฤติการณ์ใดในการหลบหนี เห็นได้จากกรณีที่อานนท์ถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงปี 2564 เป็นเวลากว่า 9 เดือน และต้องเข้าออกเรือนจำเพื่อเดินทางไปศาลอย่างสม่ำเสมอโดยไม่ได้มีพันธนาการใด ๆ
การพันธนาการอานนท์ตลอดระยะเวลาที่อยู่นอกเรือนจำ แม้กระทั่งขณะศาลทำการพิจารณาคดีซึ่งอานนท์ทำหน้าที่ทนายความด้วยนั้น จึงเป็นมาตรการที่เกินจำเป็นเมื่ออานนท์ยังเป็นผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี ทางเรือนจำจะปฏิบัติต่ออานนท์เหมือนผู้กระทำผิดไม่ได้
จึงขอให้เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทบทวนมาตรการการใช้เครื่องพันธนาการ เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 29 พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 21 และข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners) หรือข้อกำหนดแมนเดลา (Mandela Rules) ซึ่งเป็นมาตรฐานในการคุมขังของเรือนจำทั่วโลก