ข่าว

'รมว.ยุติธรรม' ลุยสอบคดีฮั้วประมูลทั่วประเทศ ลั่นไม่ควรจบที่ 'กำนันนก'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'รมว.ยุติธรรม' เตรียมปราบผู้มีอิทธิพล ลุยคดีฮั้วประมูลทั่วประเทศ หากพบ ขรก. เอี่ยวใช้ กม. จัดการ ยืนยันรักษา 'ทักษิณ' ต้องดูคำวินิจฉัย​แพทย์

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เข้าทำงานวันแรก เตรียมลุยนโยบายตามข้อสั่งการของรัฐบาล โดยเฉพาะการปราบปรามผู้มีอิทธิพล เพราะพวกนี้ต้องการเงิน ต้องการทุจริตคอรัปชั่น หลังจากนี้จะดำเนินการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างร่วมกับกรมบัญชีกลาง รวมถึงใช้มาตรการทางภาษีเข้ามาตรวจสอบด้วย ส่วนการฮั้วประมูล ก็จะดูว่า ผู้ที่ชนะการประมูลได้ราคาใกล้เคียงกับราคากลางหรือไม่ ได้งานซ้ำอีกหรือไม่ ก็จะทำอย่างจริงจัง ซึ่งหากผู้มีอิทธิพลไม่มีเงิน ไม่มีข้าราชการหนุนค้ำยัน ทำผิดต้องได้รับผิดจะใช้กฎหมายจัดการ และไม่ได้ทำเฉพาะ จ.นครปฐม (คดีกำนันนก) แต่จะดูทั้งหมด


"คดีฮั้วประมูลของกำนันนก ต้องทำตรงไปตรงมา อาจต้องขยายตรวจสอบทั่วประเทศ ไม่ควรจบที่กำนันนก ถ้าเราขยายป้องกันคอรัปชั่นจะสามารถนำงบประมาณมาใช้เกิดประโยชน์กับประชาชนได้ ดีเอสไอต้องทำเรื่องนี้ และไม่ใช่มีเหตุแล้วทำ ใครมีพฤติกรรมก็ต้องทำ" รมว.ยุติธรรมกล่าว
 

ส่วนกรณีการรักษาตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ แก้ไข 2560 ก็ต้องทำให้สอดคล้องกับสหประชาชาติ จะไม่มีใครอยู่นอกเหนือ ขั้นตอนยังอยู่ในกรมราชทัณฑ์ โดยหลักการพักรักษาตัวนอกเรือนจำเป็นตามขั้นตอน การรักษาตัวนอกเรือนจำเป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชาการเรือนจำ แต่หากครบ 30 วัน ต้องขออนุญาตอธิบดีกรมราชทัณฑ์​ หากเกิน 60 วันต้องขออนุญาติปลัดกระทรวงยุติธรรม​ แต่หากเกิน 120 วันต้องขออนุญาต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม​ แต่หลักสำคัญที่สุดนั้นคือคำวินิจฉัย​ของแพทย์ และควบคุมไม่ให้หลบหนี หรือก่อเหตุร้าย ไม่มีใครอยู่เหนือกฎระเบียบ 


สำหรับแผนการทำงาน 100 วันแรกจะนำความยุติธรรมให้ประชาชนและต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง ยึดหลักกฎหมายเป็นใหญ่ในกระบวนการยุติธรรม 
 

ส่วนนโยบายเร่งด่วนตามข้อสั่งการของรัฐบาล เช่น ปัญหาหนี้สินครัวเรือน ลูกหนี้ SME อยากให้มีการฟื้นฟูลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ต้องแก้ปัญหาจากโครงสร้าง ไม่ใช่กู้เงินใหม่มาแก้ปัญหา และมันจะไม่จบ ซึ่งหนี้ครัวเรือนมี 80-90% ของ GDP ถือเป็นเรื่องท้าทาย รวมทั้งอยากให้ผลักดันแก้ปัญหาล้มละลาย รวมถึงนโยบายต้องสร้างความเชื่อมันให้ประชาชนในกระบวนการยุติธรรม เช่น งานตำรวจบางครั้งอาจต้องดีเอสไอเข้าไปถ่วงดุล สนับสนุนไม่ปล่อยให้ผู้กระทำผิดเป็นใหญ่ พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคดี รวมทั้ง แก้ปัญหายาเสพติด ซึ่งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนในรอบ 50 ปี เพราะมีประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ ทั้งเรื่อง ป้องกัน ปราบปราม ฟื้นฟู ยึดทรัพย์เครือข่ายยาเสพติด เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ตอนนี้อยู่ในการดูแลคุมประพฤติ 2 แสนคน และอยู่นอกระบบกว่า 1.9 ล้านคน เพื่อป้องกันไม่ให้ไปก่อเหตุซ้ำ 

 

อีกนโยบายเรื่องของคุ้มครองสิทธิผู้ด้อยโอกาส คนไม่มีปากเสียง เช่น บุคคลไร้สัญชาติที่เกิดในประเทศไทย ซึ่งเป็นปัญหาคนไม่สามารถเข้าศึกษาได้ ที่ผ่านมาดีเอสไอกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์เข้าช่วยเหลือได้เพียงปีละหลักพันคนจ จากที่มีอยยู่หลักล้านคน ซึ่งต้องพิสูจน์สัญชาติเพราะมีบุคคลตกสำรวจ ไม่มีสถานะตามบัตรประชาชน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ