ข่าว

'จุลพันธ์' เผย ครม.เห็นชอบปรับลด น้ำมันดีเซล-ค่าไฟฟ้า ขยาย VAT 7 %ต่ออีก 1 ปี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'จุลพันธ์' เผย ครม.เห็นชอบปรับลดน้ำมันดีเซล 2.50 บาท ค่าไฟฟ้าเหลือ 4.10 บาท ขยาย VAT 7 % ต่ออีก 1 ปี พร้อมเร่งอนุมัตินโยบายพักหนี้เกษตรกร

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง เปิดเผยถึงการพิจารณาปรับลดน้ำมันดีเซลว่า ล่าสุด ครม. เห็นชอบ ปรับลดราคาน้ำมันดีเซลลงอีก 2.50 บาท เหลือประมาณ 30 บาทต่อลิตร โดยต้องรอราชกิจจานุเบกษาประกาศและมีผลบังคับใช้ครั้งแรกวันที่ 20 ก.ย. 

 

โดยในส่วนของค่าไฟฟ้า จะมีการปรับลดเหลือ 4.10 บาทต่อหน่วย จากเดิมอยู่ที่ 4.45 บาท และยืนยันจะใช้ทันรอบบิลเดือนกันยายน

ทั้งนี้ ครม. ได้เห็นชอบปรับมูลค่าภาษี VAT 7% ไปจนถึง 30 ก.ย. ปี 67 ซึ่งเป็นเรื่องภาษีปีต่อปี ครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งหนึ่ง เพราะภาระของประชาชน ค่าใช้จ่ายต่างๆยังสูงอยู่ ทาง ครม.ก็เห็นชอบการปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ไปอีก 1 ปี

 

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ทั้งหมดนี้มีโอกาสปรับลดได้อีก โดยเฉพาะในเรื่องค่าไฟฟ้า เบื้องต้นนายกรัฐมนตรีสั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานนำเรื่องนี้ไปพิจารณาต่อ มั่นใจว่าจะหากลไก เข้ามาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนต่อไป 

 

ส่วนนโยบายเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท หรือ Digital wallet นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อหารือและวางกรอบระยะเวลาให้เหมาะสม ยืนยันการใช้เงินจะต้องไม่ให้เป็นภาระหนี้สาธารณะ เลือกใช้เงินงบประมาณเป็นหลักและจะไม่มีการกู้เงินเพิ่ม

ส่วนเรื่องการพักหนี้เกษตรกรมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ทั้งเรื่องเกษตรกร ธุรกิจ SME ซึ่งตรงนี้ นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ตนเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งได้ทำงานไปเยอะแล้ว แต่ในเรื่องของกลไกที่จะต้องใช้ ต้องเริ่มด้วย มติครม.ในวันนี้ จึงจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นไปดำเนินการกับหน่วยงานต่างๆ รวมถึงต้องผ่านบอร์ดรัฐวิสาหกิจที่มีความเกี่ยวข้องและส่งเรื่องกลับมายังกระทรวงการคลัง เพื่อส่งเข้าที่ประชุม ครม.อนุมัติ โดยนายกรัฐมนตรีให้กรอบระยะเวลาดำเนินการ 2 สัปดาห์ โดยตนจะเร่งให้เร็วที่สุด แต่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเข้า ครม.อีกครั้งเมื่อไร แต่ถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ   

 

ขณะที่นโยบายเกษตรกรให้ความเห็นชอบพักหนี้ทั้งต้นและดอก เป็นหน้าที่และภาระของรัฐบาลที่ต้องเข้าไปสนับสนุน เบื้องต้นอยู่ระหว่างหารือกับ ธกส. แต่การพักหนี้แล้ว ต้องนึกถึงเรื่องความสภาพความเป็นอยู่ เพราะขณะนี้เข้าไปถึงแหล่งเงินทุนไม่ได้ ทำให้ต่อยอดไม่ได้ เบื้องต้นจะมีนโยบายประกอบกับการพักหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้สินต่างๆเพื่อให้มีช่วงพักหนี้ ทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น นำไปหักลบเงินต้นและดอกเบี้ย หลังจากผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้แล้ว จะทำให้มีหนี้สินลดน้อยลง และมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อจะประกอบอาชีพต่อไป 

 

 

ส่วนนโยบายอื่นๆ อย่างภาคการเกษตร ที่กระทรวงอื่นรับผิดชอบ ก็จะเข้ามาสนับสนุนในเรื่องการเพิ่มมูลค่าต่อไร่และดูแลเรื่องการขายสินค้า เชื่อว่า จะทำให้ชีวิตของพี่น้องเกษตรกรดีขึ้นอย่างแน่นอน 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ