ข่าว

‘ศิริกัญญา’ ชำแหละนโยบาย ‘รัฐบาลเศรฐา 1’ แค่ ‘คำอธิษฐาน’ ไร้เป้าหมาย

11 ก.ย. 2566

‘ศิริกัญญา ตันสกุล’ สส.ระบบบัญชีรายชื่อ ก้าวไกล ชำแหละนโยบาย ‘รัฐบาลเศรฐา 1’ แค่ ‘คำอธิษฐาน’ ไร้เป้าหมาย มาตรฐานต่ำกว่ายุค ‘ประยุทธ์-ยิ่งลักษณ์’ ซัดแหล่งที่มา เงินดิจิทัล งานแรกรัฐบาลทลายกรอบวินัยการเงินการคลัง

ที่ประชุมร่วมรัฐสภา เพื่ออภิปรายนโยบาย ‘รัฐบาลเศรษฐา 1’ เป็นวันแรก  โดยภายหลังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลังแถลงภาพรวมของนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อเวลา 10.40 น. น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ลุกขึ้นอภิปรายฯ ว่าคำแถลงนโยบายที่ดีต้องเหมือนจีพีเอส ที่จะบอกว่าเป้าหมายตลอด 4 ปี คืออะไร รัฐบาลจะเดินไปเส้นทางไหน เหมือนหรือต่างกับผู้ร่วมทางตอนหาเสียงหรือไม่ จะไปถึงเป้าหมายเมื่อไหร่ 

 

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายฯ นโยบายรัฐบาลเศรษฐา 1

“แต่เมื่อนั่งฟังนโยบายรัฐบาลจนจบ พบว่าไม่มีอะไรแตกต่างจากเอกสารที่ออกมาก่อนหน้านี้ ถ้าเปรียบเป็นจีพีเอสเหมือนประเทศกำลังหลงทาง ขาดความชัดเจน และหากเปรียบเทียบกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการกำหนดเป้าหมายไว้ชัดเจนมากกว่า”

 

 

โดยทั้งเป้าหมาย วิธีการ และการกำหนดกรอบเวลา ถือว่ามีความสำคัญเพื่อให้ประชาชนตรวจสอบได้ว่าท่านได้ทำตามสัญญาหรือไม่ สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องบรรจุนโยบายที่หาเสียงไว้เพราะเป็นสัญญาที่เอาไว้แลกกับคะแนนเสียง หากพรรคไหนคิดกลับคำตระบัดสัตย์ไม่บรรจุนโยบายที่หาเสียงไว้ในนโยบายรัฐบาล คงถือว่าพรรคการเมืองนั้นทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน

 

 

“หากตัดเกรดคำแถลงนโยบายของนายเศรษฐา ให้อยู่เกรดเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ และคิดว่าพ ล.อ.ประยุทธ์ แถลงได้ดีกว่าด้วยซ้ำเพราะแถลงยาวกว่า และยังถือว่าพรรคเพื่อไทยมาตรฐานตก เพราะไม่สามารถรักษามาตรฐานได้จากสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่แถลงนโยบายได้อย่างชัดเจน มีนโยบายที่หาเสียงทั้งหมดและมีการกำหนดกรอบเวลา การแถลงนโยบายไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่เป็นรูปธรรม เขียนแบบพูดอีกก็ถูกอีกเหมือนพูดว่าน้ำเป็นของเหลว จึงเท่ากับว่ารัฐบาลนี้ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีการอธิบายรายละเอียดของนโยบาย การเขียนนโยบายต้องไม่ใช่เขียนนโยบายเหมือนเป็นแค่คำอธิษฐาน นโยบายที่หาเสียงไว้ก็หาแทบไม่เจอ แม้จะมีนโยบายของพรรคเพื่อไทยอยู่บ้าง แต่ของพรรคร่วมแทบไม่เห็น” น.ส.ศิริกัญญา ระบุ

 

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า นายกฯ ปัจจุบันมาจากภาคเอกชน เราหวังว่าจะเอาแนวทางบริหารแบบเอกชนมาปรับใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินในบางเรื่อง การแถลงนโยบายครั้งนี้ถ้าท่านคือซีอีโอใหม่ที่กำลังแสดงวิสัยทัศน์กับบอร์ด อยากถามว่าเป็นท่านจะฟังต่อหรือลุกเดินหนี ตอนอยู่เอกชนท่านมีเป้าหมายชัดเจน มีตัวเลขชี้วัด นั่นคือตัวอย่างที่ดี แต่น่าเสียดายที่ท่านยังไม่นำมาใช้ในการแถลงนโยบายครั้งนี้ คำแถลงขาดความทะเยอทะยานที่จะทำให้สังคมก้าวหน้า สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับประเทศ เหมือนท่านหลับตาข้างหนึ่งแล้วก้าวข้ามความขัดแย้งทำเหมือนไม่เคยเกิดขึ้นมาก้อน ความขัดแย้งทางการเมือง ความขัดแย้งทางสามจังหวัดภาคใต้ การลดความเหลื่อมล้ำ ไม่มีการพูดถึง เหมือนท่านไม่กล้าแตะเรื่องยากๆ

 

 

ทั้งนี้ตอนหาเสียงท่านกล้าหาญกว่านี้มาก ตนคิดว่าน่าจะมาจากการที่รัฐบาลกลัวการผูกมัดกลัวทำไม่ได้แบบที่สัญญาเลยไม่กล้าผูกมัดอะไรกับประชาชนเลย แต่ก็ไม่ควรหลอกประชาชนช่วงเลือกตั้งด้วยการหาเสียงแต่แรก และการเป็นรัฐบาลผสมข้ามขั้วเป็นรัฐบาลคนละขั้วหาข้อตกลงกันไม่ได้ จึงต้องเขียนให้ลอยและกว้างเอาไว้ มีความเกรงใจกลุ่มอำนาจเก่า จึงไม่กล้าทำเรื่องยากๆ ที่จะต้องปะทะกับใครเลย

 

 

ส่วนกรอบระยะสั้นหลายเรื่องที่ควรเป็นนโยบายเร่งด่วน กลับไม่มีส่วนกรอบระยะกลาง ระยะยาว หากพิจารณาดูจะพบว่าหายไปหลายเรื่อง เช่น ลดรายจ่าย และลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำที่ถูกลดทอนเหลือแค่เหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ตนเชื่อว่านายกฯ สมัยยังไม่เข้าวงการการเมืองเต็มตัว ท่านเคยแสดงความเห็นเรื่องนี้โดยเห็นว่าความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องสำคัญ วันนี้อยากถามว่าท่านยังคิดแบบเดิมหรือไม่หรือเปลี่ยนความคิดไปแล้ว วันนี้ไม่ใช่แค่นายเศรษฐาที่เปลี่ยนไป แต่พรรคเพื่อไทยก็เปลี่ยนด้วย เพราะคำแถลงของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้ความสำคัญเรื่องลดความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้อย่างมาก วันนี้อุดมการณ์จุดยืนของพรรคเพื่อไทยยังคงเดิมหรือเปลี่ยนไปแล้ว หรือท่านไม่เห็นว่าสำคัญอีกต่อไปเพราะบริบทเปลี่ยนไปแล้ว

 

 

น.ส.ศิริกัญญา อภิปรายถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่จะใช้งบประมาณ 5.6 แสนล้านบาทว่า แหล่งที่มาของงบประมาณจึงเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าใช้งบประมาณแผ่นดินต้องพิจารณาว่างบพอหรือไม่หรือมีเงินสดพอหรือไม่ หรือหากใช้เงินนอกงบประมาณ จะมี 3 วิธีการคือ กู้ยืมเงินจากธนาคารรัฐ กู้ยืมเงินกองทุนหมุนเวียนหรือไม่ และขายกองทุนวายุภักษ์ หากเลือกใช้งบประมาณปี2567 คงไม่เพียงพออย่างแน่นอน เพราะงบที่เหลือจริงๆ ที่จะใช้ได้คือ 4 แสนล้านบาท ท่านได้ถามพรรคร่วมรัฐบาลอื่นหรือยังที่จะเอางบที่เหลือมาลงกับดิจิทัลวอลเล็ต แต่หากเลือกใช้เงินนอกงบประมาณก็ไม่สามารถทำได้ หากไม่แก้กรอบวินัยการเงินการคลัง ซึ่งนายกฯ บอกว่าเคร่งครัดเรื่องวินัยการเงินการคลัง แต่งานแรกจะเริ่มต้นด้วยการทลายกรอบวินัยการเงินการคลังเลยหรือ

 

 

“ดิจิทัลวอลเล็ตกระตุ้นเศรษฐกิจได้แน่นอน แต่ดิจิทัลวอลเล็ต ทำให้เกษตรกรขุดแหล่งน้ำ เพื่อบรรเทาภัยแล้งไม่ได้ , ดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ทำให้เกษตรกร ได้เอกสารสิทธิที่ดินทำกินได้, ดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ช่วยการส่งออกสินค้าได้" น.ส.ศิริกัญญา ระบุ

 

 

น.ส.ศิริกัญญา ระบุอีกว่า ขอให้รัฐบาลจัดลำดับความสำคัญให้ดี การบริหารราชการแผ่นดินไม่ใช่การพนัน จะเทหมดหน้าตักแล้วไปหวังน้ำบ่อหน้าไม่ได้ ข้อดีของการแถลงนโยบายแบบกว้างๆ คือท่านทำอะไรได้มากว่านั้น ท่านยังมีโอกาสอีกครั้งในการแถลงงบประมาณ ถ้าคำแถลงนโยบายคือคำสัญญา 4 ปี คำแถลงงบประมาณก็จะเป็นคำสัญญา 1 ปี ซึ่งยังเฝ้ารอในโอกาสหน้า

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทว่า เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังถดถอย เป็นการเติมเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ ให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย นำไปสู่การจ้างงานสร้างอาชีพ เศรษฐาไม่ได้บอกว่าเงินดิจิทัลจะนำใช้ไปในการแก้ปัญหาภัยแล้ง ที่ทำกัน และการส่งออก

 

‘ศิริกัญญา’ ชำแหละนโยบาย ‘รัฐบาลเศรฐา 1’ แค่ ‘คำอธิษฐาน’ ไร้เป้าหมาย