นายกฯ เศรษฐา ประกาศ ปราบ คอร์รัปชัน ย้ำชัด การซื้อขายตำแหน่งข้าราชการต้องหมด
นายกฯ เศรษฐา ประกาศกลางเวทีต่อต้านคอร์รัปชัน 2566 การซื้อขายตำแหน่งข้าราชการต้องหมดไปในรัฐบาลชุดนี้ เล็งนำเทคโนโลยีตรวจสอบความโปร่งใสของภาครัฐ เปลี่ยนรัฐอุปสรรค ให้เป็นรัฐสนับสนุน ขณะที่องค์ต่อต้านคอร์รัปชัน ยื่น 5 ข้อเสนอให้รัฐบาล แก้ปัญหาการ คอร์รัปชัน
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษในงานวันต่อต้านคอร์รัปชัน 2566 ในหัวข้อ การปราบปรามทุจริตและเรื่องความโปร่งใสของรัฐบาล ว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) เป็นอันดับที่ 101 ของโลก ในด้านของดัชนีการรับรู้การทุจริต เป็นอันดับ 4 ของอาเซียน (ตามหลังสิงคโปร์ มาเลเซีย และ เวียดนาม) ซึ่งหมายความว่าเรามีสิ่งที่จะต้องพัฒนากันอีกมาก ซึ่งปัญหาการ ทุจริต คอร์รัปชัน นั้น นอกจากที่จะทำให้เกิดความเสียหายโดยตรงต่อภาครัฐแล้ว ยังทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ทำให้เศรษกิจไทยถดถอย และมีผลต่อเนื่องไปสู่ปัญหาการขับเคลื่อน GDP ของประเทศอีกด้วย
เพื่อที่จะขจัดปัญหา ทุจริต คอร์รัปชันให้หมดไป ทางรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย นโยบาย ทั้งด้านการใช้หลักนิติธรรม หรือ Rule of Law ที่เข้มแข็ง และนำเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในกระบวนการต่างๆ ของภาครัฐ ทำให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล ซึ่งจะช่วยพี่น้องประชาชนได้ทั้งความโปร่งใส และการให้บริการภาครัฐที่เร็วยิ่งขึ้น หลักนิติธรรมที่มั่นคงแข็งแรงมาจากระบบการเขียนกฎหมาย และการออกกฎหมายที่ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหัวใจสำคัญ และประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเพื่อช่วยกันกำหนดทิศทางและอนาคตของตัวเองและของประเทศ
เรามีแผนที่จะปรับปรุงกฎหมายเพื่อลดกระบวนการและเงื่อนไขต่างๆ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน เปลี่ยน “รัฐอุปสรรค” ให้เป็น “รัฐสนับสนุน” และป้องกันการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่เรียกรับเงินสินบนจากประชาชน นอกจากกฎหมายที่เข้มแข็งแล้ว รัฐบาลของเราจะให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายและการลงโทษที่เฉียบขาดและครอบคลุม เจ้าหน้าที่รัฐในหลายๆ ตำแหน่งจะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และในระดับสูงจะต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อแสดงความโปร่งใส และเปิดให้ประชาชนร่วมตรวจสอบ
การมีกฎหมายที่เข้มแข็ง เน้นประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก และการบังคับใช้กฎหมายที่โปร่งใส ยุติธรรม มีประสิทธิภาพ และตรวจสอบได้นี้ จะส่งเสริมความแข็งแกร่งและสร้างรากฐานของสังคมที่เคารพในกฎหมายร่วมกัน และขจัดการคอร์รัปชันให้หมดไปจากประเทศไทย
นอกจากนิติธรรมที่มั่นคงแข็งแรงแล้ว เราจะนำเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อช่วยให้เราสามารถเกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้ ตัวอย่างนโยบายที่เราจะนำมาใช้ในอนาคตอันใกล้คือ
- ใช้ระบบการจ่ายเงินภาครัฐผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้เงินสด
- เปิดให้ขอใบอนุญาตและการติดต่อราชการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และทำให้ขอได้โดย “ง่าย” เป็น One-stop service (พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565)
- ปรับปรุงระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้ทันสมัยและโปร่งใส เพื่อป้องกันการ ทุจริต และเปิดข้อมูลให้ตรวจสอบได้ตามแนวทาง Open Government
- ปรับเปลี่ยนการบริหารประเทศของรัฐบาลให้เป็น Digital Government และปรับใช้เทคโนโลยีสำหรับระบบการอนุมัติ การอนุญาต การควบคุมตรวจสอบ เพื่อให้มีความโปร่งใส และลดการต้องใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นผู้ติดต่อกับประชาชน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวอีก วันนี้มีการประชุมครม.นัดพิเศษ และยังไม่สามารถสั่งการได้เนื่องจากยังไม่มีการแถลงนโยบาย หนึ่งในหลายเรื่องที่ตัวเองให้ความสำคัญมากที่สุด คือเรื่องการขับเคลื่อนภาคราชการ เพราะภาคราชการเป็นส่วนที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เป็นผู้ปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล เป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล การซื้อขายตำแหน่ง การโยกย้ายไม่เป็นธรรม การให้เกียรติกับข้าราชการทุกตำแหน่ง เป็นภารกิจที่อยากนำเข้ามาในรัฐบาลชุดนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าข้าราชการได้รับความเป็นธรรม ได้รับการสนับสนุนเมื่อเขามีผลงานที่ดี การซื้อขายตำแหน่งในรัฐบาลนี้ต้องหมดไป เรื่องนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนนโยบาย ที่ดีของรัฐบาลนี้ต่อไป เชื่อมั้นว่าถายใต้รัฐบาลนี้ ปัญหาคอรัปชั้นจะลดลงและ ความโปร่งใส และเป็นธรรมจะเพิ่มมากขึ้น ตามมาด้วยความน่าเชื่อถือและการยอมรับจากประชาชน และนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลในทางที่ดีต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนทุกคน
ทั้งนี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้เสนอข้อเรียกร้อง การต่อต้าน คอร์รัปชัน ถึงรัฐบาลใหม่ 5 ข้อ ดังนี้
- กำหนดให้การปราบปรามคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการที่มีตัวแทนทุกภาคส่วน มีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน พร้อมมี War Room เพื่อการทำงานอย่างทันเหตุการณ์
- สนับสนุนให้ ป.ป.ช. สตง. และ ป.ป.ท. ทำหน้าที่ได้อย่างอิสระ เป็นกลาง มีเอกภาพออกจากรัฐบาล
- เร่งรัดการออกกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชันที่ค้างคาอยู่ เช่น กฎหมายข้อมูลสาธารณะในความครอบครองของรัฐ กฎหมายปกป้องผู้เปิดโปงคอร์รัปชัน หรือกฎหมายป้องกันการเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้น
- ทุกหน่วยงานต้องพร้อมเปิดเผยข้อมูล นับจาก TOR ไปจนถึงสัญญาต่างๆ ในรูปแบบที่สามารถเชื่อมโยงกับ ACT Ai ตามมาตรฐานสากลได้อย่างโปร่งใสและถูกต้อง
- แก้ไขกฎระเบียบราชการต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลปัญหาคอร์รัปชัน และเมื่อพบกรณี ทุจริต คอร์รัปชัน ให้ติดตามแก้ไขลงโทษในทันที อย่าประวิงเวลาจนประชาชนลืม