ข่าว

รวมพล สว.หนุน ‘เศรษฐา’ นั่ง ‘นายกคนที่30’ คาใจทำไม ว่าที่รัฐบาล จ่อ แก้รธน.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รวมพล สว.โหวตหนุน ‘เศรษฐา’ นั่ง ‘นายกคนที่30’ ตามเสียงข้างมาก มี 'ก้าวไกล' เป็นฝ่ายค้านเข้มแข้ง ตรวจสอบรัฐบาลได้ดี ชี้ไทยอยู่ในภาวะประชาธิปไตยปกติแล้ว ไม่ใช่ต่ออายุยุคยึดอำนาจ ข้องใจทำไม ‘ว่าที่รัฐบาลใหม่’ จ่อแก้รธน. หวั่นกลไก ขจัดนักการเมืองทุจริตจะหายไป

วันที่ 22 ส.ค. 2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภา วาระการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยพรรคเพื่อไทยเสนอนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย หรือ เป็น “นายกคนที่30” ของประเทศไทยนั้น

 

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สว.

สว.คาใจว่าที่รัฐบาลใหม่จ่อแก้รธน.

ช่วงเที่ยง ในการประชุมรัฐสภา เพื่อ “โหวตนายกรอบ3” ปรากฏว่า พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สว. อภิปรายว่า พรรคเพื่อไทยมีแนวคิดแก้รัฐธรรมนูญทันทีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)นัดแรก อยากถามว่า รัฐธรรมนูญปี2560 มีปัญหาอะไรให้เร่งแก้ไข เป็นเพราะรัฐธรรมนูญนี้มีกลไกป้องกันนักการเมืองทุจริตเข้มงวด อาทิ ตัดสิทธิเลือกตั้งตลอดชีวิต การให้คดีทุจริตไม่มีอายุความ กลไกเหล่านี้ ทำให้พรรคเพื่อไทยที่มักมีปัญหาทุจริต คนสำคัญบางคนต้องหลบหนีคดี เพราะไม่มีอายุความ จำเป็นต้องเดินทางกลับประเทศไทยมารับโทษตามกระบวนการยุติธรรม

ดังนั้นหากมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ กลไกขจัดนักการเมืองทุจริตจะหายไป สอดคล้องความต้องการบางพรรคการเมืองที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญหมวดสถาบัน การแย่งแยกราชอาณาจักร การทำประชามติรัฐธรรมนูญใหม่จะยิ่งสร้างความขัดแย้งในสังคมมากขึ้น เพราะการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างอำนาจองค์กรอิสระ ลบล้างความผิดให้นักการเมืองทุจริต เพิ่มประเด็นความขัดแย้งมากขึ้น จะกระทบความมั่นคงชาติร้ายแรงมากกว่าการแก้มาตรา 112

 

 

ดังนั้นจะสนับสนุนนายกฯพรรคเพื่อไทยได้อย่างไร แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยจะเสียสัตย์ ให้ประเทศสงบ ยืนยันจะไม่เสนอแก้รัฐธรรมนูญทันที แต่จะเสนอในห้วงเวลาที่เหมาะสม เมื่อสังคมสงบสุข การเสียสัตย์ครั้งนี้จะได้รับคำสรรเสริญทำเพื่อประเทศ ถ้าทำเช่นนี้ จะสนับสนุนนายกฯเพื่อไทย

 

 

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา

สว.คำนูญ คาใจ จ่อแก้รธน.60 ร้ายแรงกว่าแก้ม.112

ถึงคิว นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา(สว.) อภิปรายฯ ว่า ถ้าเป็นกรณีทั่วไปตามปกติเห็นควรให้ความเห็นชอบ ตามเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเป็นหลัก เพื่อสะท้อนผลการเลือกตั้งทั่วไป เพราะการบริหารราชการแผ่นดินหลังได้นายกฯ ต้องอาศัยเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร์ทั้งสิ้น แต่ไม่ใช่ว่า สว.จะต้องให้ความเห็นชอบตามเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเสมอไปทุกกรณี เพราะไม่เช่นนั้นก็ไม่จำเป็นจะต้องมีบทบัญญัติพิเศษ มาตรา272

 

สว.ย่อมสามารถใช้วิจารณญาณตัดสินใจ ความเห็นชอบบุคคลทั้งสมควรได้รับเป็นการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี แตกต่างไปจากเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรได้แต่จำกัดเฉพาะในกรณีที่เห็นว่าสำคัญที่สุดจริงๆไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เท่านั้น โดยเฉพาะที่เห็นว่าอาจเป็นภยันตราย อันใหญ่หลวง ต่อรัฐธรรมนูญและต่อระบอบการปกครองของประเทศ เสมือนเป็นการใช้สิทธิยับยั้งในฐานะสภาที่2

 

 

การตัดสินใจไม่ให้ความเห็นชอบแคนดิเดต นายกรัฐมนตรีจาก พรรคที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในครั้งแรกนั้น เพราะแคนดิเดตคนนั้นและพรรคต้นสังกัด ยังคงมีนโยบายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงเห็นว่านี่เป็นภยันตรายต่อบ้านเมือง และแคนดิเดตคนนั้นก็ไม่ได้ถอยในเรื่องนี้ แม้ว่าจะมีเสียงอภิปรายคัดค้าน

 

 

แต่ในการให้ความเห็นชอบบุคคลที่เป็นแคนดิเดตสมควรที่จะได้รับการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีในวันนี้ เพราะแคนดิเดต นายกรัฐมนตรี ที่ได้รับการเสนอชื่อไม่ได้มีนโยบายที่อาจจะเป็นภยันตรายต่อ รัฐธรรมนูญและระบบการปกครอง รวมทั้งไม่ได้มีพรรคการเมืองเจ้าของนโยบายแก้ไขมาตรา 112 เข้าร่วมในการจัเตั้งรัฐบาล ตนจึงตัดสินใจลงมติให้เป็นไปตามเสียงข้างมาก ของสภาผู้แทนราษฎร

 

 

อย่างไรก็ตาม ก็มีคำถามอีกว่า นโยบายที่ จะให้คณะรัฐมนตรีมีมติในการประชุมวาระแรก ให้มีการออกเสียงประชามติสอบถามประชาชนว่า ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่นั้น ถือเป็น ภยันตรายต่อรัฐธรรมนูญและระบอบการปกครองหรือไม่ ซึ่งบางคนบอกว่าเรื่องนี้ร้ายแรงกว่าการแก้ไขมาตรา 112

 

 

ซึ่งตนไม่เห็นว่าการแก้ไขรายมาตราสามารถทำได้ แต่นโยบายนี้เป็นนโยบาย เกือบทุกพรรคการเมืองที่เราต้องยอมรับ แต่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องใช้เวลาอีกตั้ง 2 ปี ผ่านการพิจารณาในรัฐสภาแห่งนี้อีก 1-2 ครั้ง และผ่านการออกเสียงประชามติ 3 ครั้ง ดังนั้นจึงให้ความสำคัญเรื่องคำถามในประชามติควรจะต้องตรง และไม่เกินไปจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐมนตรีจะส่งเข้าสู่สภาควรจะรับฟังความคิดเห็นจากทุกพรรคการเมืองและสมาชิกวุฒิสภาให้มากที่สุด และควรจะคำนึงถึงสาระสำคัญคือรูปแบบของส.ส.ร. และเมื่อส.ส.ร.ร่างเสร็จแล้วจำเป็นต้องผ่าน ที่ประชุมรัฐสภาเป็นครั้งสุดท้าย

 

 

ยินดีอดีตนายกฯ ทักษิณกลับไทย

จากนั้นนายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ สว. อภิปรายฯว่า ผู้นำพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งสูงสุด ไม่ใช่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีเสมอไป วันนี้สมาชิกอาจให้ความเห็นชอบคดีเด็ดนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองที่ประสบความสำเร็จในการบริหารประเทศสูงสุดมาแล้วครั้งหนึ่ง รัฐบาลที่เกินขึ้นในอนาคตจะเรียกว่ารัฐบาลสลายขั้วหรืออะไรก็แล้วแต่ เคยเกิดขึ้นแล้วเสมอในสังคมไทย แต่ตนห่วงว่า คำพูดของนักการเมือง ทั้งในการหาเสียงเลือกตั้งและระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลได้ทำลาย ความเชื่อถือต่อคำพูดของนักการเมืองจนประชาชนหมดศรัทธาอย่างรุนแรง ดังนั้นนายกรัฐมนตรีที่จะเกิดขึ้นต่อไปนี้ จะแก้ไขเรื่องนี้ได้อย่างไร ก็ต้องนำนโยบายต่างๆที่จะแก้ไขปัญหาให้กับประเทศชาติและประชาชน ทำให้สำเร็จให้ได้ ความศรัทธาความเชื่อถือก็จะกลับมา

 

 

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก่อปัญหาให้เกิดวิกฤตที่ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรี ได้ภายหลังจากการเลือกตั้ง ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขโดยด่วน จึงเห็นด้วยกับพรรคที่เป็นแกนนำที่จะมีการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทันที โดยแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญยึดถือการปฏิรูปการเมืองปี 2539 คือได้ส.ส.ร.มาดำเนินการแก้ไข จึงจะได้รัฐธรรมนูญโดยประชาชนเพื่อประชาชน

 

 

นายกรัฐมนตรีต้องรู้บริบทพลวัตรในการเปลี่ยนแปลง ที่จะเกิดขึ้นแน่นอน สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแน่ ต้องคำนึงอยู่เสมอว่าจะประสบกับผู้นำหรือตัวแทนที่จะมากำกับควบคุมดูแลภายในสภาที่เข้มแข็ง และประโยชน์ทั้งหมดก็จะตกอยู่ที่ประเทศชาติและประชาชน

 

 

ดังนั้น วันนี้ยินดีกับอดีตผู้นำที่กลับประเทศ และจะยินดีสูงสุด ถ้าโลกแห่งความขัดแย้งในประเทศจะสิ้นสุดสักที ก้าวเข้าสู่ยุคโลกแห่งความฝันที่เราปรารถนาสูงสุด ประเทศเจริญ รุ่งเรือง สันติ สงบสุขนิรันดร์กาล

 

สว.มณเฑียร ยันยกมือโหวตนายกคนที่30

ถึงคิว นายมณเฑียร บุญตัน สว. ลุกขึ้นอภิปรายฯ ว่า ตนจะยกมือโหวตให้แบบเดียวกับวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา เพราะระบบการปกครองประเทศไทยเป็นระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเกิดจากการรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แต่กรณีที่เราอยู่ในห้วงเวลาพิเศษนี้ รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาทำหน้าที่ร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อลงมติเห็นชอบ เพราะฉะนั้นแเราก็จำเป็นต้องทำหน้าที่

 

 

เพียงแต่ตนเห็นแล้วว่าการทำหน้าที่ในครั้งนี้เป็นการทำหน้าที่ในสถานการณ์การเมืองที่เป็นประชาธิปไตยที่ปกติแล้ว เราไม่ได้อยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลรักษาการหลังการยึดอำนาจไปสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เราอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งชุดหนึ่งไปยังอีกชุหนึ่ง

 

 

ดังนั้น ตนจึงเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่ สว.จะทำหน้าที่วินิจฉัยผิดแผกแตกต่างไปจากเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร จึงเป็นหลักการเดิมที่ตนใช้

 

 

นายมณเฑียร ระบุว่า ตนขอเรียนว่าตนไม่ค่อยสบายใจเท่าไหร่นัก ต่อเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นข้อกล่าวหาต่างๆนานา การเปลี่ยนขั้วเปลี่ยนฝ่าย สลายขั้วจริงๆ โดยหลักการก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่เสียหายอะไร เพราะในระบบรัฐสภาในประเทศไหนก็มีการจับคู่ เปลี่ยนขั้ว สลายขั้ว ระหว่างซ้ายกับขวา กลางกับขวา กลางกับซ้ายอยู่ตลอดเวลา

 

 

เพียงแต่ว่าของไทยเราเพิ่งจะมีวิวัฒนาการหมาดๆ ประชาชนมีความคาดหวังสูงว่าพรรคการเมืองที่จับกลุ่มกัน ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง มาจนถึงการเลือกตั้งเสร็จ ก็ถูกเข้าใจแล้วว่าได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ อุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกันไปแล้ว

 

 

เมื่อสะดุดหยุดลงถึงขั้นต้องมีการเปลี่ยนก็ต้องทำให้เกิดความผิดหวังเป็นธรรมดา แต่แม้จะมีความไม่สบายใจขนาดไหนก็ตาม และแม้จะมีข้อกล่าวหาใดๆ ต่อบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อในขนาดไหนก็ตาม ก็ไม่อาจลบล้างหลักการได้ ว่าสมาชิกวุฒิสภาในสถานการณ์การเมืองที่เป็นปกติเหมือนเช่นปัจจุบันนี้ ไม่ควรเป็นอุปสรรคต่อการจัดตั้งรัฐบาล เพราะฉะนั้น จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะใช้ความไม่สบายใจ หรือความรู้สึกนึกคิดหรือความเข้าใจต่อพรรคการเมืองต่อจุดยืนทางการเมืองของพรรคเหล่านั้น หรือต่อทัศนะที่มีต่อบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อแต่ประการใด

 

 

นายมณเฑียร กล่าวต่อว่า ประการต่อมา แม้ว่าตนจะได้ใช้สิทธิ์ในฐานะประชาชนในวันที่ 14 พ.ค. 2566 ซึ่งตนก็เป็นคนหนึ่งที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง ต้องการเห็นการปรับปรุงโครงสร้าง การบริหารราชการแผ่นดิน ถ้าเป็นความเห็นโดยสุจริตและตนทำหน้าที่ของประชาชนไปแล้ว พูดอย่างตรงไปตรงมาว่าผมไม่ได้เลือกพรรคใดเลยที่ร่วมกับการจัดตั้งรัฐบาลในวันนี้ แต่ความรู้สึกนึกคิดไม่อาจลบล้างหลักการได้ ว่าในสถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นปกติ ไม่ใช่หน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาที่จะไปวินิจฉัยว่าใครสมควรเป็นนายกรัฐมนตรี

 

 

ทั้งนี้ แม้ว่าก็ได้ตัดสินใจไปแล้ว แต่ก็เหมือนกับสมาชิกหลายท่าน พี่น้องประชาชนหลายท่าน ที่ใครอยากจะรับฟังคำชี้แจงการแสดงจุดยืนบางประการของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ หรือตัวแทนผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ ในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแก้ไขหรือปรับปรุงยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่” นายมณเฑียร กล่าว

 

 

ห่วงแก้รธน.นำไปสู่ความขัดแย้ง

นายมณเฑียร ย้ำว่า ในสภาวะที่สังคมไทยไม่มีฉันทามติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เรื่องนี้อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง แต่ตนก็พร้อมที่จะยกมือให้ และยกมือให้มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ไม่ว่าจะเป็นแก้รัฐธรรมนูญ 272 ตัดอำนาจ สว. เลือกนายกรัฐมนตรี

 

 

พร้อมกล่าวว่า "ผมก็ยกมือให้มาโดยตลอด แต่ผมก็อยากจะฟังคำชี้แจงว่าท่านจะใช้ศิลปะ ใช้เทคนิควิธีการใด ที่จะเสนอให้มีการลงประชามติ อันจะนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยปราศจากความขัดแย้ง พาสังคมไทยไปสู่สังคมที่มีสันติสุข มีสันติภาพ มีความสร้างสรรค์ต่อไป”

 

 

นายมณเฑียร ระบุว่า อีกเรื่องที่อยากจะทราบ คือเรื่องนโยบายเงินดิจิทัล ไม่แน่ใจว่าเงินที่ได้มาเป็นเงินตราที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทยหรือไม่ มันเป็นเวอร์ชั่นดิจิทัลของเงินบาทที่มีอยู่แล้วหรือเป็นเงินดิจิทัลโดยกำเนิด ถ้ามันเป็นดิจิทัลโดยกำเนิด ถ้าจะใช้ จะใช้บล็อกเชนในการเก็บรักษา จะกำกับควบคุมการใช้เงินอย่างไร เพราะย้อนแย้งกฎระเบียบ

 

 

สว.วันชัย เชื่อรัฐบาลก้าวข้ามความขัดแย้ง-ชม ก้าวไกล เป็นฝ่ายค้านเข้มแข้ง

นายวันชัย สอนศิริ สว. อภิปรายฯ ว่า ยืนยันจุดยืนที่ประกาศไว้ตั้งแต่ก่อนจนหลังเลือกตั้งว่าจะสนับสนุนพรรคการเมืองที่รวมเสียงข้างมากได้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย เพราะเสียงข้างมากถือว่าเป็นไปตามความต้องการของประชาชนทั่วทั้งประเทศ และยังเป็นการลดความขัดแย้งของสังคม

 

 

“การตัดสินจะให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี อยู่ที่เสียงชี้ขาดสมาชิกรัฐสภา 750 คน ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งกล่าวอ้างว่า คนนั้นไม่ดี ไม่มีคุณสมบัติ แล้วคนทั้ง 750 คน ต้องเชื่อคนนั้นที่ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภาหรือ นี่คือหลักการที่ผมถือเป็นแนวปฏิบัติ” นายวันชัยกล่าว

 

 

นายวันชัย มองว่า รัฐบาล 314 เสียง จาก 11 พรรคการเมือง เป็นรัฐบาลที่ก้าวข้ามความขัดแย้ง และสามารถนำมาซึ่งความปรองดองสมานฉันท์ได้จริงๆ ความขัดแย้งเป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศมานาน ทำให้เกิดความสูญเสีย สังคมเข้าประหัตประหาร จนถึงขั้นปฏิวัติรัฐประหารกัน

 

 

“พอเห็นรัฐบาล 314 เสียง จาก 11 พรรคการเมือง เป็นเรื่องที่บรรจงลงตัวเหมาะเจาะพอดี สลายสี สลายบุคคล เรามีทั้งเหลืองแดงอยู่ในนั้น มีทั้ง กปปส. และ นปช. มีทั้งพรรคการเมืองที่เป็นผู้นำ เป็นทหารก็ดี ร่วมกันเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ เป็นการสมานฉันท์ปรองดองอย่างเป็นรูปธรรม” นายวันชัยกล่าว

 

 

ทั้งนี้ ถ้าทุกพรรคการเมืองได้เป็นรัฐบาลจริงๆ จะได้ผลยิ่งกว่าแผนปฏิรูปใดๆ ที่เราเคยเสียเงินเสียทองกันมาทั้งสิ้น หากรัฐบาลนี้ลดความขัดแย้งแบ่งแยก เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง การโหวตนายกฯ วันนี้จะเป็นการนับหนึ่งของการปรองดอง และจะดีหรือไม่ดี ผลงานจะเป็นเครื่องพิสูจน์รัฐบาล

 

 

ขณะที่พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน จะเป็นฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง ขณะที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่มีข้อกล่าวหา แต่ในเมื่อยังไม่มีองค์กรหน่วยงานใดตรวจสอบตัดสิน ก็ถือว่าบุคคลนั้นยังบริสุทธิ์ และเมื่อเป็นรัฐบาลแล้ว ก็จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเพื่อตรวจสอบต่อไป ตนเอง วันชัย สอนศิริ จึงขอสนับสนุน เพื่อให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้

 

นายวันชัย สอนศิริ สว.

“พูดถึงคำว่าความรัก ความสามัคคี ที่จะเกิดขึ้น ก็ชื่นใจแล้วนะครับ หวังว่าจะเกิดขึ้นได้ในรัฐบาลนี้” นายวันชัยกล่าว

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมรัฐสภา อภิปรายฯโหวตนายกรอบ3 เริ่มให้สมาชิกรัฐสภา โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่30 ของประเทศไทย ตั้งแต่เวลา 15.00น.คาดว่าจะเสร็จสิ้นประมาณ 17.00 น.

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ