ข่าว

ย้อนที่มา 'นาฬิการัฐสภา' 10 ปี นาฬิกา หรู เคียงคู่ รัฐสภา ไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ย้อนที่มา 'นาฬิการัฐสภา' 10 ปี นาฬิกา หรู เคียงคู่ รัฐสภา ไทย หลัง ป.ป.ช. สั่งฟัน 'สุวิจักขณ์ นาควัชระชัย' กับพวก 16 ราย จัดซื้อ นาฬิการัฐสภา แพง 15 ล้าน

จากมติ ป.ป.ช. สั่งฟัน ทั้งอาญา และวินัย “สุวิจักขณ์ นาควัชระชัยท์” อดีตเลขาฯ สภา พร้อมพวกรวม 16 ราย ปมจัดซื้อ “นาฬิการัฐสภา” แพง 15 ล้าน หลังจากนาฬิกาแขวนเหล่านี้ ถูกนำมาติดตั้งไว้ทั่วบริเวณรัฐสภา ทั้งภายนอก ภายใน และเกือบจะทุกซอก ของอาคาร ในปี 2556 นับตั้งแต่ “สัปปายะสภาสถาน” กำลังมีการปรับปรุง ย้าย และซ่อมแซม ก่อสร้างใหม่

 

 

 

 

 

คมชัดลึก ย้อนที่มา ดราม่า “นาฬิการัฐสภา” ราคาเรือนละ 75,000 บาท จำนวน 200 เรือน ที่สุดท้าย ป.ป.ช. ก็ชี้มูลคดีทุจริต ลงดาบไปในที่สุด

 

          ย้อนที่มา นาฬิการัฐสภา

ย้อนที่มา “นาฬิการัฐสภา”

 

 

 

1. ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน ประเด็นฉาว “นาฬิการัฐสภา” เริ่มต้นขึ้น ในปี 2556 เมื่อที่ประชุมสภาฯ นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ฝ่ายค้าน ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดซื้อนาฬิกาติดผนังยี่ห้อ Bodet ของอังกฤษ รุ่น Cristalys Date จำนวน 200 เรือน โดยใช้งบประมาณกว่า 15 ล้านบาท หรือคิดเป็นราคาเรือนละ 75,000 บาท

 

 

 

2. หลังจากนั้น เกิดกระแสวิจารณ์ การใช้งบทันที ชาวเน็ตร่วมตรวจสอบราคานาฬิกา จากเว็บไซต์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนพบว่า นาฬิการัฐสภา รุ่นนี้ มีราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 16,800-25,000 บาทเท่านั้น แถมมีการแห่แชร์ เพลง “รัฐแค่อ้างนาฬิกา” ล้อเลียนสภาฯ ที่ซื้อนาฬิกาเรือนละ 75,000 บาท โดยดัดแปลงมาจากเพลง “รักไม่ต้องการเวลา” ของหนูนา หนึ่งธิดา โสภณ

 

 

   ดราม่า นาฬิการัฐสภา

 

 

3. ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย ก็โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ไม่เห็นเหตุผลใดที่จะต้องซื้อนาฬิกาเรือนละ 75,000 บาท เพื่อเอามาแขวนเหนือประตูห้อง ไม่ว่าจะเป็นห้องทำงาน ห้องสูบบุหรี่ หรือห้องน้ำ นาฬิกาไซโก้ ราคา 1,500 บาท ก็ใช้แขวนได้ เดินตรงเวลาและทนทาน

 

 

 

4. ผ่านไปไม่กี่วัน เสียงหัวเราะดังขึ้นมา เมื่อ “นาฬิการัฐสภา” ที่ถูกนำมาแขวนไปทั่ว อาคารรัฐสภา ก็ตายในเวลาไม่กี่วัน 75,000 คุ้มมั้ย เป็นคำถามกระแทกใจจากหลายคนอีกครั้ง

 

            ที่มา นาฬิการัฐสภา

คุณสมบัติ “นาฬิการัฐสภา”

 

 

 

5. ตัวเรือนแสดงยี่ห้อชื่อโบเด็ท นอกจากบอกเวลา ยังบอกวันเดือนปี และอุณหภูมิ ส่วนที่บริเวณเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ อาคารรัฐสภา ที่ติดตั้งไว้ทั้งสิ้น 7 เรือน จะเทียบเวลากับประเทศต่างๆ ด้วย

 

 

 

6. นาฬิกายี่ห้อ โบเด็ท มีคุณสมบัติพิเศษหลายอย่าง เช่น มีเรือนหลัก และเรือนรอง ปรับเวลาเรือนหลักเพียงเรือนเดียว สามารถเชื่อมถึงเรือนอื่นๆ ได้ทั้งหมด ควบคุมโดยใช้ระบบไร้สาย เป็นต้น

 

 

 

7. เว็บไซต์ตัวแทนจำหน่ายนาฬิกาหลายเว็บไซต์ ได้แสดงราคาแตกต่างกัน ซึ่งราคาขายที่แพงที่สุด อยู่ที่ ราคาเรือนละ 499 ยูโร หากเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินไทย 41 บาทในขณะนั้น จะอยู่ที่ราคาเรือนละ 20,459 บาท

 

           นาฬิการัฐสภา

 

 

เริ่มต้นชี้แจงที่มาดราม่า “นาฬิการัฐสภา”

 

 

8. หลังเป็นประเด็นดราม่า นายนุกูล สัญฐิติเสรี รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่โฆษกสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงการจัดซื้อนาฬิกาแขวนผนังจำนวน 200 เรือน มูลค่า 15 ล้านบาท คิดแล้วตกราคาเฉลี่ยเรือนละ 75,000 บาท ว่า เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน โดยงบประมาณ 15 ล้านบาทนี้ ไม่ใช่แค่ค่านาฬิกาเท่านั้น แต่ยังมีค่าอื่นๆ ด้วย

 

 

 

9. การชี้แจงงบประมาณ การจัดซื้อนาฬิกา รัฐสภา แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ค่าจัดซื้อนาฬิกา จำนวน 240 เรือน ราคา 8,000,000 บาท เฉลี่ยแล้วตกเรือนละ 33,333 บาท ส่วนอีก 7,000,000 บาท เป็นค่าระบบสนับสนุนอุปกรณ์ และยืนยันถึงความจำเป็น เหมาะสม ที่ควรจะมี

 

 

 

10. หลังเริ่มมีรายงานความไม่โปร่งใส ในปี 2559 ผู้รับเหมาจากบริษัท อิควิป แมน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทคู่สัญญากับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เข้ามารื้อถอนนาฬิกา ที่ติดตั้ง ทั้งภายใน และภายนอก อาคารรัฐสภา ออกทั้งหมด 240 เรือน เพราะไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ ตั้งแต่กลางปี 2558

 

 

 

11. จากนั้นที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการรัฐสภา (ก.ร.) มีมติให้ทางเลขาธิการสภาฯ “สุวิจักขณ์ นาควัชระชัยท์” ทบทวนผลการตรวจสอบความโปร่งใส ในโครงการจัดซื้อนาฬิกาดังกล่าว เนื่องจากส่งผลกระทบภาพลักษณ์ของสภาฯ

 

 

 

12. ดราม่า “นาฬิการัฐสภา” กินเวลายืดเยื้อมานาน 10 ปี ในที่สุด ป.ป.ช. ก็มีมติชี้มูลความผิด นายวัชระชัยย์ หรือสุวิจักขณ์ นาควัชระชัยท์ หรือ นาควัชระชัย อดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พร้อมพวก 16 ราย กรณีจัดจ้างโครงการปรับปรุงระบบนาฬิการัฐสภา (Clock system) เมื่อปี 2556 โดยมิชอบ จากการไต่สวนพบว่า ติดตั้งโดยจ้างบริษัทเอกชน และมีการแก้ไขคุณสมบัติของนาฬิกา ให้เป็นไปตามที่ต้องการ ซึ่งไม่ตรงกับ TOR

 

 

 

แต่ทั้งนี้ การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ยังไม่ถือเป็นที่สิ้นสุด ผู้ถูกกล่าวหาทุกราย ยังมีสิทธิต่อสู้คดี เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลได้อีก

 

 

 

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ