ข่าว

ย้อนที่มา 'นายกคนนอก' ในหน้า ประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ย้อนที่มา 'นายกคนนอก' ในหน้า ประวัติศาสตร์การเมืองไทย

18 ก.ค. 2566

ย้อนที่มา 'นายกคนนอก' ในหน้า ประวัติศาสตร์การเมืองไทย กลไกสืบทอดอำนาจ รัฐประหาร? 'นายกคนที่ 30' ใช่ พิธา หรือไม่

การ “โหวตเลือกนายกฯ” ที่ทำให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” วืดเก้าอี้ “นายกคนที่ 30” มาตรา 272 ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง และทำให้พรรคก้าวไกล เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ปลดล็อก มาตรา 272 ทันที เพื่อปิดสวิตซ์ สว. ไม่ให้มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี  

 

 

 

 

 

ซึ่งหลักการตามมาตรา 272 นั้น เป็นการเปิดโอกาสให้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี นอกเหนือจากรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ก่อนการเลือกตั้งได้ ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้มี “นายกคนนอก” ที่ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งได้โดยตรง โดยหากรัฐสภา ซึ่งประกอบไปด้วย สส. และ สว. ลงมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 หรือ 500 คน จาก 750 คน ก็จะสามารถเชิญใครมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้

 

ที่มา “นายกคนนอก”

 

 

 

หลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ทำให้เกิดกระแสกล่าวถึง “นายกคนนอก” ขึ้นมา เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่มีการบัญญัติให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น สส. อีกทั้ง ยังมีการกำหนดให้ สว. สามารถลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ

 

 

 

ดังนั้น “มาตรา 272 บทเฉพาะกาล” บัญญัติที่มาของนายกรัฐมนตรีไว้แล้ว 2 ทาง ทางหนึ่งคือเลือกจากบัญชีพรรคการเมือง “คนใน” ทางหนึ่งเลือกจากบุคคล “นอกรัฐสภา” โดยสมาชิกวุฒิสภามีส่วน “ได้-เสีย”

 

 

 

ความหมายของคำว่า “นายกคนนอก”

 

 

 

จากข้อมูลของสถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า “นายกคนนอก” หมายถึง นายกรัฐมนตรี ที่มีที่มานอกเหนือไปจากการเลือกตั้ง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้เป็น สส. เนื่องจากในระบบรัฐสภานั้น ฝ่ายบริหารจะต้องมาจากการได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติ กล่าวคือ สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จะต้องเป็นผู้ลงมติเลือกบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงเกิดกระแสที่เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น สส. เพื่อสะท้อนให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีได้รับการยอมรับจากประชาชน จึงได้รับเลือกตั้งมาเป็น สส.

 

 

 

แต่ขณะเดียวกัน ก็มีอีกกระแสที่ระบุว่า นายกรัฐมนตรี ไม่จำเป็นต้องเป็น สส. ก็ได้ เพียงแต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรก็เพียงพอแล้ว ซึ่งกระแส “นายกคนนอก” นั้น ได้รับการกล่าวถึงบ่อยครั้ง นับตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 จนกระทั่งถึงช่วงที่มีการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 24 มี.ค. 2562 เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ไม่ได้ระบุคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี ว่าต้องเป็น สส. ด้วย ทำให้เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์และถกเถียงกันในวงกว้าง ถึงความเหมาะสมของคุณสมบัติดังกล่าว รวมถึงความกังวลว่าจะเกิดการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้วย

ย้อน “นายกคนนอก” ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย

 

 

  1. คนแรกในประวัติศาสตร์ คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง โดยมติสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 17 ก.ย. 2488 ถือว่าเป็น “นายกคนนอก” คนแรก ที่ไม่ได้เป็น สส. ทั้งประเภทเลือกตั้ง และประเภทแต่งตั้ง ต่อจากนายทวี บุณยเกตุ สส.ประเภท 2 ที่ได้รับเลือกให้เป็นนายกฯ ชั่วคราว เพียง 17 วัน
  2. นายสัญญา ธรรมศักดิ์ คือนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น “นายกคนนอก” หลังเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 แล้ว จอมพลถนอม กิตติขจร ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเดินทางออกนอกประเทศ พร้อม พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร และครอบครัว
  3. พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ขณะยังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ด้วยการ “หยั่งเสียง” ของสภาผู้แทนราษฎร หลังจาก พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ลาออก พล.อ. เปรม อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องถึง 3 สมัย 8 ปี โดยพรรคการเมืองเสียงข้างมาก เชิญให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 4 แต่ พล.อ.เปรม ปฎิเสธเทียบเชิญ ด้วยประโยคว่า “ผมพอแล้ว”
  4. พล.อ. สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ถือเป็น “นายกคนนอก” ที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วย “อุบัติเหตุ” ทางการเมือง และลั่นวาจา “เสียสัตย์เพื่อชาติ” หลังนายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ชนะการเลือกตั้ง แต่สะดุดเก้าอี้เพราะบัญชีดำ ไม่มี “วีซ่า” เข้าประเทศสหรัฐฯ ทำให้ พล.อ. สุจินดา ซึ่งดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. และเป็นหนึ่งในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่ยึดอำนาจจาก พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
  5. นายอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี หลังคณะ รสช. ยึดอำนาจ 2 สมัย ในสมัยแรก นายอานันท์ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี โดย พล.อ. สุจินดา คราประยูร แกนนำคณะปฏิวัติยุค รสช.

 

 

 

นายกรัฐมนตรีจากการรัฐประหาร

 

 

ตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย. 2475 ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 29 คน มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร 11 คน ดังนี้

 

 

  1. พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีหลังปฏิวัติสยาม 24 มิ.ย. 2475
  2. พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ฉายา “เชษฐบุรุษประชาธิปไตย” รัฐประหาร 20 มิ.ย. 2476
  3. จอมพล ป. พิบูลสงคราม หลัง “คณะทหารเเห่งชาติ” รัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 เเละ 6 เม.ย. 2491
  4. นายพจน์ สารสิน นายกรัฐมนตรี หลังรัฐประหาร 16 ก.ย. 2500
  5. จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังรัฐประหาร 20 ต.ค. 2501
  6. จอมพลถนอม กิตติขจร หลังรัฐประหาร 17 พ.ย. 2514
  7. นายธานินทร์ กรัยวิเชียร หลังรัฐประหาร 6 ต.ค. 2519
  8. พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ หลังรัฐประหาร 20 ต.ค. 2520
  9. นายอานันท์ ปันยารชุน รัฐประหาร 23 ก.พ. 2534
  10. พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549
  11. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557

 

 

 

อย่างไรก็ตาม ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี รอบสอง วันที่ 19 ก.ค. 2566 จึงต้องมาลุ้นกันว่า “นายกรัฐมนตรีคนที่ 30” ของประเทศไทย จะมาจาก “นายกคนนอก” หรือ “นายกคนใน”

 

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูล : สถาบันพระปกเกล้า, thaipublica