ข่าว

'ก้าวไกล' (กำลัง) พ่ายใน 'เกมรุก' ทางการเมือง สงครามชิง 'จัดตั้งรัฐบาล' ระทึก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลังเกมชิงเก้าอี้ 'ประธานสภา' ตกเป็นของ 'วันนอร์' และ 'พรรคเพื่อไทย' ได้รองประธานสภาคนที่ 2 ไปครอง ถือเป็นข้อยุติชั่วคราวของเกม "ตบจูบ" ทางการเมืองระหว่าง 'ก้าวไกล' และ 'เพื่อไทย' ในฐานะแกนนำหลักที่จะร่วม 'จัดตั้งรัฐบาล' 8 พรรค ซึ่งเป็นเกมยืดเยื้อที่รอวันแตกหัก

 

เกมแย่งชิงเก้าอี้ 'ประธานสภา' ระหว่างพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ที่ได้ข้อยุติลง เมื่อ 4 ก.ค. 2566 เป็นช่วงเวลาของการ "ตบจูบ" ทางการเมืองของแกนนำหลักในการจัดตั้งรัฐบาล เป็นเกมยื้อหลัง 'ก้าวไกล' ประกาศกร้าวจองเก้าอี้ประธานสภาในฐานะพรรคอันดับหนึ่ง ซึ่งกลายเป็นชนวนความขัดแย้งที่ค่อยๆ ปรากฎร่องรอยให้เห็นเป็นระยะๆ คำถามก็คือทำไมการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลถึงยากเย็น และไม่เป็นไปตามที่ประชาชนส่วนใหญ่อยากจะเห็น 

 

1) ย้อนไปดูการรุกทางการเมืองของ "ก้าวไกล" ค่อยๆ ดีวันดีคืนและเริ่มบ่งชี้ถึงชัยชนะหลังปล่อยแคมเปญเลือกตั้ง "มีเราไม่มีลุง" ซึ่งเสียงตอบรับดีจนเรตติ้งพุ่ง และสามารถดันคะแนนก้าวไกลกระเตื้องมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งสามารถฝ่าคำปรามาสเดินหน้าแซงกระแสแลนด์สไลด์เข้าเส้นชัยมาเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยคะแนน 151 ที่นั่ง

 


2) คำประกาศก้อง "พร้อมเป็นนายกฯ ของทุกคน" ของ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ในระหว่างปราศรัยโค้งสุดท้ายกลายเป็นปรากฎการณ์ที่กล่าวได้ว่า "พิธา" เป็น "ซุปตาร์" ขวัญใจมหาชนชาวด้อมส้ม ทุกจังหวัดที่เขาเดินทางไปขึ้นเวทีได้รับการต้อนรับอย่างล้นหลาม กระแสประชาธิปไตยอาบไปทั่วตัว "พิธา" และผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล 

 

 

3) ฝันของชาวด้อมส้มเห็นแสงที่ปลายอุโมงค์ พวกเขามั่นใจว่าในแคมเปญ "กาก้าวไกลประเทศไทยไม่เหมือนเดิม" จะมีนายกฯ คนที่ 30 ชื่อ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" นโยบายกว่า 300 นโยบายจะได้รับการผลักดันให้เป็นจริง โดยเฉพาะการปฏิรูปโครงสร้างประเทศที่อุ้ยอ้ายให้ไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป

 

 

4) การรุกทางการเมืองจากก่อนการเลือกตั้ง กระทั่งเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลไม่ง่ายอย่างที่คิด เกมสกัด "พิธา" ถูกปล่อยออกมาเป็นระยะ ตั้งแต่การถือหุ้นไอทีวี ทีวีเสรีที่เสมือนตายไปแล้ว ถูกปลุกผีขึ้นมาทวงถาม "คุณสมบัติ" ว่าที่นายกฯ อย่างที่ไม่มีใครคาดคิด และดูเหมือนทำให้เส้นทางนายกฯ ของ "พิธา" เริ่มสะดุด

 

 

5) ตามมาด้วยข้อหา "การเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล" ที่ผู้ร้องหมายมั่นให้นำไปสู่การยุบพรรค ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเมื่อ 26 มิ.ย. ให้สอบถามอัยการสูงสุดว่า มีคำสั่งรับหรือไม่รับดำเนินการคำร้องกรณี "พิธา" และพรรคก้าวไกลหาเสียงด้วยการเสนอให้แก้ไขมาตรา 112 และให้แจ้งต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ

 

 

6) ผลการเลือกตั้งที่โหวตเตอร์เทคะแนนให้ "ก้าวไกล" ชนะ 14 ล้านเสียง กระทั่งสามารถรวบรวม สส.ฝ่ายค้าน 8 พรรคเดิมได้ 312 เสียง ซึ่งเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรจนกลายเป็นผู้กำหนดเกม กลายเป็นว่า "เพื่อไทย" ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลกลับเป็นหอกข้างแคร่ใกล้ตัวที่คอยแซะ และโปรยตะปูเรือใบเกลื่อนถนน สร้างด่านโหดท้าทาย "พิธา" หนักข้อขึ้นทุกวัน

 

 

7) การเดินสายไปพบปะฐานเสียงในหัวเมืองต่างจังหวัดของ "พิธา" ก่อนหน้านี้ ถูกมองว่า "ก้าวไกล" กำลังใช้มวลชนด้อมส้มกดดัน สว. และพรรคร่วมไม่ให้แตกแถว (เลิกแซะ) เพื่อแลกเสียงโหวตนายกฯ 376 คะแนน ซึ่งเป็นเกมรุกของพรรคก้าวไกลที่ทำอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีคำอธิบายว่า เป็นการเดินทางขอบคุณ FC ก่อนจะไม่มีเวลาหลัง "รัฐบาลพิธา 1" ถูกทำคลอดออกมาแล้ว

 

 

8) ทว่าพรรคเพื่อไทยไม่อาจสำรวมเก็บมารยาททางการเมืองอย่างที่ควรจะเป็นไว้ได้ เพราะในฐานะพรรคอันดับ 2 พวกเขาก็แอบหวังสูง เพราะต้องเข้าใจว่าการห่างเหินจากอำนาจมา 8-9 ปีนั้น ไม่ใช่วิสัยของพรรคการเมือง แต่จะกล่าวหากันในที่แจ้งว่าใครจะยอม "อดอยากปากแห้ง" ก็ดูจะให้ร้ายกันเกินไป 

 

 

9) แต่การเมืองก็คือการเมือง จึงเห็นตัวละครเพื่อไทยออกมาตีหน้าคนละบท ฝั่งหนึ่งปากหนุน "พิธา" เป็นนายกฯ และพร้อมส่งกำลังใจให้จัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ ขณะที่ฝั่งแกนนำลายครามในพรรค อาทิ เฉลิม อยู่บำรุง อดิศร เพียงเกษ ฯลฯ ก็ออกมาขย่มขอเก้าอี้ "ประธานสภา" ซึ่งโน้มนำให้เข้าใจได้ว่าเพื่อไทยนั้นเก๋าเกมกว่า และใช้ยุทธวิธี "โดดเดี่ยวทางการเมือง" ก้าวไกลที่มั่นหน้าจนเกินไป

 

 

10) เก้าอี้ "ประธานสภา" ที่ตกเป็นของ "วันนอร์" จากพรรคประชาชาติ เป็นหนึ่งในสมการที่ตอกย้ำความพ่ายแพ้ของ "ก้าวไกล" เพราะต้องเข้าใจว่าสายสัมพันธ์ระหว่างพรรคประชาชาติ และเพื่อไทยนั้นสนิทชิดเชื้อจนแทบจะใช้เงินกระเป๋าเดียวกัน ขณะที่ "ปดิพัทธ์ สันติภาดา" ที่ยอมถอยมารับแค่ตำแหน่งรองประธานสภาคนที่ 1 ก็นับเป็นการพ่ายในเกมรุกของ "ก้าวไกล" อย่างไม่ต้องสงสัย

 

 

11) นับจากนี้ไปจึงไม่มีหลักประกันใดๆ ที่ทำให้ชาวด้อมส้มมั่นใจได้เลยว่า เสียงโหวตนายกฯ คนที่ 30 จะเทมาให้ "พิธา" ก้าวขึ้นเป็นผู้นำประเทศ  แต่อาจเกิดฉากทัศน์เลวร้ายสุดโดย "พรรคก้าวไกล" อาจถูกเขี่ยให้หลุดวงโคจรพรรคร่วมรัฐบาล กระทั่งถอยสุดกระดานไปทำหน้าที่ฝ่ายค้านเสียด้วยซ้ำ นั่นเพราะ "เพื่อไทย" ขาด "ก้าวไกล" ได้ แต่ "ก้าวไกล" ขาด "เพื่อไทย" ไม่ได้

 

 

12) ณ เวลานี้กล่าวได้ว่า "พรรคเพื่อไทย" ที่มีจำนวน สส. เป็นอันดับ 2 และห่างจาก "ก้าวไกล" แค่ 10 เสียง ถือไพ่เหนือกว่า และมีแนวโน้มจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน "ก้าวไกล" อีกด้วย ซึ่งฉากทัศน์นี้จะปรากฎชัดขึ้นเมื่อ "พิธา" ไม่ได้ไปต่อจากที่ประชุมรัฐสภา นั่นหมายถึงโอกาสที่ สว.จะยอมลดราวาศอกด้วยการเทคะแนนให้แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคไทยก็เป็นไปได้สูง 

 

 

13) ขึ้นอยู่กับว่าเกมกดดันและการต่อรองระหว่างสองพรรคใหญ่จะรุนแรงถึงขั้นแตกหักจนเกิดการพลิกขั้ว กระทั่งบีบให้ "ก้าวไกล" จนแต้มและยอมถอยไปเป็นฝ่ายค้านหรือไม่ เกมนี้อยู่ที่ "เพื่อไทย" โดยเฉพาะการส่งสัญญาณจากนายใหญ่อย่าง "ทักษิณ" ว่าจะวางหมากในเกมยาวของ "สงครามการเมือง 66" อย่างไร 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ