
ปูมหลัง 3 ประธานสภา 'วันนอร์' หมออ๋อง พิเชษฐ์ นักสร้างตำนานในสนามการเมือง
เปิดปูมหลัง 3 ประธานสภา 'วันนอร์' -หมออ๋อง-พิเชษฐ์ ที่ไปที่มาไม่ธรรมดา เป็นนักสร้างตำนานในสนามการเมืองทุกคน ยึดมั่น ยืนหยัด ฝ่ายประชาธิปไตย
จบไปแล้วกับการเปิด ประชุมสภา เพื่อเลือก ประธานสภา ที่จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ และเป็นไปตามที่คาดการณ์สำหรับ 3 คนที่จะเข้ามานั่งทำหน้าที่คุมบัลลังก์ในสภาสัปปายะสภาสถานตลอดเวลา 4 ปีหลังจากนี้ โดยประธานสภาตกเป็นของ "วันนอร์" หรือ วันมูหะมัดนอร์ มะทา จากพรรคประชาชาติ ซึ่งเป็นผู้ที่ถูกเสนอเชื่อเพียงหนึ่งเดียว ส่วนเก้าอี้รองประธานสภาคนที่ 1 ตกเป็นของ "หมออ๋อง" ปดิพัทธ์ สันติภาดา จากพรรคก้าวไกล และ พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน จากพรรคเพื่อไทย เป็นประธานสภาคนที่ 2 ทั้ง 3 คนนี้มีบทบาทสำคัญสำหรับทิศทางการเมืองหลังจากนี้อย่างเข้มข้น "คมชัดลึก" สรุปมาให้
1. "วันนอร์" หรือ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาคนล่าสุด จากพรรคประชาชาติ เข้าสู่การเมืองตั้งแต่ปี 2522 ผ่านการเป็นรัฐมนตรี 2 กระทรวงคือคมนาคมและมหาดไทย รวมไปถึงเคยรับตำแหน่งประธานสภาในปี 2539
ก่อนที่จะเปลี่ยนเข้าสู่เส้นทางการเมือง "วันนอร์" เคยรับราชการครูในพื้นที่จังหวัดภาคใต้มาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็น ตำแหน่งเป็นครูใหญ่ อาจารย์ประจำวิทยาลัย และ รองอธิการบดี วิทยาลัยครูสงขลา หลังจากนั้นในปี 2522 เริ่มทำงานการเมือง โดยเริ่มในสังกัดพรรคกิจสังคม เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและแกนนำกลุ่มวาดะห์
วันมูหะมัดนอร์ มะทา หรือ "วันนอร์" เคยดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีในสมัยที่ นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2547 ก่อนถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี จากคำวินิจฉัยในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 แต่ยังคงมีบทบาทให้คำแนะนำ ส.ส.กลุ่มวาดะห์
ตลอดระยะเวลา 40 ในเส้นทางการเมือง วันมูหะมัดนอร์ มะทา แสดงจุดยืนในการสนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยและต่อต้านระบบเผด็จการมาโดยตลอด ที่ผ่านมา "วันนอร์" ไม่เคยเห็นด้วยกับการมีอยู่ของ กอ.รมน. และการใช้กฏอัยการศึกในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใตเ โดยเขาเคยระบุว่า "กอ.รมน. ควรถูกยกเลิกไปนานแล้ว แต่มันมีการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ในช่วงรัฐประหาร 2549 เมื่อก่อนที่ไทยยังมีภัยคอมมิวนิสต์"
อย่างไรก็ตามในปี 2562 "วันนอร์" เคยถูกฝ่ายความมั่นคงฟ้องในข้อหายุยง ปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง เนื่องจากจัดเวทีเสวนา "พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่" โดยเข้าได้บอกเพียงว่าติดคุกเพราะทำเพื่อประชาชน ดีกว่าติดคุกเพราะโกงประชาชน
2. หมออ๋อง ปดิพัทธ์ สันติภาดา อายุ 42 ปี จากสัตวแพทย์ สู่สนามการเมือง คู่ปรับ หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม หลังขึ้นเวทีดีเบตดุเดือดโชว์วิสัยทัศน์ก่อนเลือกตั้ง 2566 พบเคยดวลชิงชัยสนามเลือกตั้ง สส.เขต 1 พิษณุโลก เมื่อปี 2562 มาแล้ว พร้อมกับคว้าอันดับ 1 ล้ม นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม จากพรรคประชาธิปัตย์ อดีต สส. 3 สมัย
สำหรับ หมออ๋อง ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาเรียกได้ว่าเป็นนักการเมืองปฏิบัติหน้าที่ฝ่านค้านที่โดดเด่น โดยเฉพาะการอภิปรายในสภา เกี่ยวกับการการชุมนุมเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เมื่อ 27 ต.ค. 2563 โดยหมออ๋องได้อภิปรายว่า
"การพูดคุยเรื่องข้อเรียกร้องจากการชุมนุมนั้น รัฐสภาต้องเป็นคำตอบเพื่อให้การพูดคุยเรื่องนี้ปลอดภัยและตรงตามเจตนารมณ์ที่สุด นี่เป็นคำถามแห่งยุคสมัย ปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า จากบทสนทนาที่เราคุยกันในโต๊ะอาหาร วงเหล้า หรือในกลุ่มเพื่อนสนิท ตอนนี้กลับมาเป็นประเด็นทางสาธารณะ มันหมายความว่านี่คือคำถามแห่งยุคสมัย แทนที่ผู้ใหญ่จะใช้วิธีปิดปากปิดตา ปิดหู ทำไมเราไม่ทำหน้าที่ในการตอบ ในการถามกลับ หรือการทำให้ผู้ชุมนุมที่เป็นเยาวชนมีโอกาสได้พูดมากขึ้น เรื่องนี้ถ้ารัฐสภาของเราไม่ตัดสินใจให้ดี เราอาจจะเสียใจในภายในหลัง เพราะความรุนแรงรออยู่ที่ถนน"
แต่ประเด็นที่ทำให้ หมออ๋อง กลายเป็นดาวเด่นในสภา และถูกจับตามองจากสังคมมากที่สุด คือการอภิปรายเปิดโปงการทุจริตกองทัพ เส้นทางหักหัวคิวกู้บ้านพักทหาร ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เชื่อมโยงมาจากเหตุกราดยิงโคราช โดยเขาระบุว่าพบเงิน ไหลเวียนในบัญชี "เสธ." จำนวนกว่า 181 ล้านบาท ภายในเวลาแค่ 38 วัน
3. พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน สส. เชียงราย พรรคเพื่อไทย ดีกรี สส. 5 สมัย กับลีลาการอภิปรายในสภาที่มีมีปฏิภาณไหวพริบตลอดเวลา โดยช่วงที่สร้างความฮือฮามากที่สุด คือการอภิปรายในสภาช่วงปี 2565 โดยนายพิเชษฐ์ ได้มีการสาปแช่งคนโกงกินในสภา กลังอภิปรายในประเด็นผูกขาดกิจการพลังงาน ซึ่งเขาได้อภิปรายว่า "ผมขอสาปแช่งใครกินคำโต ฉลาดแยลยล ขอให้ 7 ชั่วโคตรมีอันเป็นไปมนทางที่เสื่อมเสียเลวร้าย หากคิดในทางที่ไม่มีต่อแผ่นดิน"
ปัจจุบัน พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน อายุ 60 ปี การทำงานที่ผ่านมาเคน นายกองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทยภาคเหนือ และมีบทบาทในการนำผู้ชุมนุมเข้ากรุงเทพ เพื่อออกมาต้าน นายสนธิ ลิ้มทองกุล
ส่วนผลงานด้านการเมือง พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน เคยดำรงตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 2 สมัย และเคยเป็นที่ปรึกษา รมช. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นอกจากนี้คุณพิเชษฐ์ยังเคยดำรงตำแหน่งกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน