ข่าว

ทำความรู้จัก ‘พ.ร.บ.วินัยทหาร พ.ศ. 2476’ กฎเหล็ก 9 ข้อ ที่ห้ามทำผิด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ. 2476 กฎหมายหลักที่ใช้ลงโทษกำลังพล ระบุวินัย 9 ข้อ ที่ห้ามทำผิด ไม่เช่นนั้นจะโดนลงโทษจะสถานเบาไปถึงสถานหนัก

พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ. 2476 หรือ พ.ร.บ.วินัยทหาร 2476 ถูกกลับมาพูดถึงอีกครั้ง หลังจากมีข่าวว่า “พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก” สั่งยกเลิก “ศูนย์ธำรงวินัย” เมื่อ 23 มิ.ย. 2566 แล้วให้กลับไปลงโทษกำลังพลตาม พ.ร.บ.วินัยทหาร 2476 ตามเดิม

 


คมชัดลึก จะพาไปรู้จัก พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร 2476 จากราชกิจจานุเบกษาว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง

 

พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร ฉบับแรกเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2476 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 20 ส.ค. 2476 ซึ่งเป็นพระราชโองการจาก “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ที่มี่ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร 2476 นับเป็นกฎหมายใหม่ในยุคสมัยนั้น เพราะเป็นการยกเลิกกฎหมายเก่าล้าหลังที่เกี่ยวกับการลงโทษกำลังพลฉบับเก่า อาทิ 

 

ยกเลิกกฎว่าด้วยยุทธวินัยและการลงอาญาทหารบกฐานละเมิดยุทธวินัย ลงวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2464 ยกเลิกกฎเสนาบดีว่าด้วยอำนาจลงอาญาทหารเรือ ลงวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2465 และบรรดากฎ ข้อบังคับอื่น ๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้

 

หมวด 2 ว่าด้วยวินัย บัญญัติอยู่ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร 2476 ซึ่งหมวดนี้ จะมีรายละเอียดเกี่ยวกับวินัยทหารที่ห้ามทำผิด ดังนี้ 

 

มาตรา 4  

  • วินัยทหารนั้น คือ การที่ทหารต้องประพฤติตามแบบธรรมเนียมของทหาร

 

มาตรา 5  

  • วินัยเป็นหลักสำคัญที่สุดสำหรับทหาร เพราะฉะนั้นทหารทุกคนจักต้องรักษาโดยเคร่งครัดอยู่เสมอ ผู้ใดฝ่าฝืนท่านให้ถือว่าผู้นั้นกระทำผิด ตัวอย่างการกระทำผิดวินัยทหาร มีดังต่อไปนี้

 

  1.  ดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตน
  2. ไม่รักษาระเบียบการเคารพระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อย
  3. ไม่รักษามรรยาทให้ถูกต้องตามแบบธรรมเนียมของทหาร
  4. ก่อให้แตกความสามัคคีในคณะทหาร
  5. เกียจคร้าน ละทิ้ง หรือเลินเล่อต่อหน้าที่ราชการ
  6. กล่าวคำเท็จ
  7. ใช้กิริยาวาจาไม่สมควร หรือประพฤติไม่สมควร
  8. ไม่ตักเตือนสั่งสอน หรือลงทัณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำผิดตามโทษานุโทษ
  9. เสพเครื่องดองของเมาจนถึงเสียกิริยา 

 

มาตรา 6  

  • ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่จัดการระวังรักษาวินัยทหารที่ตนเป็นผู้บังคับบัญชาอยู่นั้นโดยกวดขัน ถ้าหากว่าในการรักษาวินัยทหารนั้นจำเป็นต้องใช้อาวุธ เพื่อทำการปราบปรามทหารผู้ก่อการกำเริบก็ดี หรือเพื่อบังคับทหารผู้ละทิ้งหน้าที่ให้กลับทำหน้าที่ของตนก็ดี ผู้บังคับบัญชาและผู้ที่ช่วยเหลือในการนั้นจะไม่ต้องรับโทษในการที่ตนได้กระทำไปโดยความจำเป็นนั้นเลย แต่เมื่อมีเหตุดังกล่าวนี้ผู้บังคับบัญชาจักต้องรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาเหนือตน และรายงานต่อไปตามลำดับชั้นจนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยเร็ว

 

มาตรา 7  

  • ทหารผู้ใดกระทำผิดต่อวินัยทหารจักต้องรับทัณฑ์ตามวิธีที่ปรากฏในหมวด 3 แห่งพระราชบัญญัตินี้ และอาจต้องถูกปลดจากประจำการ หรือถูกถอดจากยศทหาร

 

หมวด 3 อำนาจลงทัณฑ์

 

มาตรา 8  

  • ทัณฑ์ที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดต่อวินัยทหารดังกล่าวไว้ในหมวด 2 นั้น ให้มีกำหนดเป็น 5 สถาน คือ
  1. ภาคทัณฑ์
  2. ทัณฑกรรม
  3. กัก
  4. ขัง
  5. จำขัง

 

มาตรา 9  

  • ภาคทัณฑ์ คือ ผู้กระทำผิดมีความผิดอันควรต้องรับทัณฑ์สถานหนึ่งสถานใดดังกล่าวมาแล้ว แต่มีเหตุอันควรปราณี จึงเป็นแต่แสดงความผิดของผู้นั้นให้ปรากฏหรือให้ทำทัณฑ์บนไว้
  • ทัณฑกรรมนั้น ให้กระทำการสุขา การโยธา ฯลฯ เพิ่มจากหน้าที่ประจำซึ่งตนจะต้องปฏิบัติอยู่แล้ว หรือปรับให้อยู่เวรยาม นอกจากหน้าที่ประจำ
  • กัก คือ กักตัวไว้ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งตามแต่จะกำหนดให้
  • ขัง คือ ขังในที่ควบคุมแต่เฉพาะคนเดียวหรือรวมกันหลายคนแล้วแต่จะได้มีคำสั่ง
  • จำขัง คือ ขังโดยส่งไปฝากให้อยู่ในความควบคุมของเรือนจำทหาร
  • นอกจากทัณฑ์ที่กล่าวไว้นี้ ห้ามมิให้คิดขึ้นใหม่ หรือใช้วิธีลงทัณฑ์อย่างอื่นเป็นอันขาด


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น พ.ร.บ.วินัยทหารมีการแก้ไขรวม 4 ครั้งดังนี้ 

  1. พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหารแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2477 วันที่บังคับใช้ 23 กันยายน 2477 
  2. พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหารแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2477 (ฉบับที่ 2) วันที่บังคับใช้7 เมษายน พ.ศ.2478 
  3. พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร (ฉบับที่ 4) พุทธศักราช 2480 วันที่บังคับใช้ 14 มีนาคม พ.ศ.2480 
  4. พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2505 วันที่บังคับใช้ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2505

 

อ่านรายละเอียด >>  พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พุทธศักราช ๒๔๗๖

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ