ข่าว

ทางออกวินวินนายกฯ มาจาก 'เพื่อไทย' พรรคก้าวไกลได้แค่เก้าอี้ 'ประธานสภา'

ชนชั้นนำไทยไม่เอา 'พรรคก้าวไกล' ทำให้โอกาส 'พิธา' ในฐานะนายกฯ คนที่ 30 หริบหรี่ลงทุกที สัญญาณนี้สะท้อนผ่านท่าทีของ สว. ซึ่งเป็นทายาทคณะรัฐประหาร ปี 2557 ทางออก 'การจัดตั้งรัฐบาล' ที่น่าจะประนีประนอมมากที่สุด นายกฯ มาจากเพื่อไทย ก้าวไกลได้ประธานสภาฯ

 

ชนชั้นนำไทย (Elite) ซึ่งมีอิทธิพลและบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองไทยไม่เอาพรรคก้าวไกล ทำให้โอกาส 'พิธา' หรือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ คนที่ 30 หริบหรี่ลงทุกที สัญญาณนี้สะท้อนผ่าน สว. ซึ่งเป็นทายาทคณะรัฐประหาร เมื่อ 22 พ.ค. 2557 ทางออกที่พอจะประนีประนอมมากที่สุดก็คือนายกฯ ตกเป็นแคนดิเดตจากเพื่อไทย ด้าน ก้าวไกลได้ตำแหน่งประธานสภาฯ สูตรนี้ไม่มีม็อบ ชนชั้นนำแฮปปี้

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นำ สส.พรรคก้าวไกล 150 คน เดินทางด้วยรถบัสมารายงานตัวที่อาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 27 ม.ย. 2566 โดย สส.ทุกคนสวมเสื้อยืดสกีนคำว่า “เราคือผู้แทนราษฎร เรามาจากประชาชน”

 

 

"คมชัดลึก" วิเคราะห์ความเป็นได้และฉากทัศน์โฉมหน้ารัฐบาลใหม่กับ รศ. ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งพอสรุปได้ว่าทางออกการจัดตั้งรัฐบาลหลังจากนี้น่าจะมีความเป็นไปได้อยู่ 3 ทางออก เป็นอย่างน้อย นั่นก็คือ 

 

 

 

1) กลุ่มบุคคลโดยเฉพาะชนชั้นนำไม่ต้องการให้พรรคก้าวไกล และการนำของ "พิธา" ในฐานะว่าที่ผู้นำประเทศร้อนแรงไปมากกว่านี้ จึงมีกระบวนการขัดขวางในหลายรูปแบบ ฉะนั้นแม้สมาชิกรัฐสภาจาก 8 พรรคร่วมจะโหวตให้ แต่ขาดเสียงสนับสนุนจาก สว. โอกาสที่ "พิธา" จากก้าวไกลจะได้คะแนนโหวต 376 จึงมีน้อย (ยกเว้นเกิดเงื่อนไขใหม่ขึ้น) 

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โบกมือทักทายแฟนคลับระหว่างนำ สส.ของพรรคทั้งหมด 150 คนเข้ารายงานตัวที่อาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2566

 

 

2) เมื่อ "พิธา" ไม่ได้ไปต่อ ทางออกที่เหลือก็จะเป็นโอกาสของพรรคอันดับสองคือเพื่อไทย ซึ่งอาจารย์ประจักษ์มองว่า เมื่อความพยายามสกัด "พิธา" ไม่ให้เป็นผู้นำประเทศบรรลุผลแล้ว ไม่มีเหตุผลที่ สว.จะไม่โหวตแคนดิเดตนายกฯ จากเพื่อไทยอีก เพราะไม่เช่นนั้น สว. จะตกเป็นจำเลยสังคม หรือไม่ก็ต้องมีคำอธิบายว่าทำไมจึงไม่สนับสนุนนายกฯ ที่ได้เสียงสนับสนุนมาจากประชาชนตามข้อเสนอของสองพรรค

 

 

 

3) ประจักษ์ทวิตข้อความสั้นๆ ในทวิตเตอร์ว่า หากสมมติบังเอิญด้วยอภินิหารทางกฎหมาย/การเมือง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้เป็นนายกฯ จริงก็จะเป็นนายกฯ ที่ต้องถูกบันทึกว่ามีคะแนนเสียงสนับสนุนจากประชาชนน้อยที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งขยายความไว้ด้วยว่า พรรคพลังประชารัฐได้ปาร์ตี้ลิสต์ 537,625 เสียง หรือเท่ากับ 1.43% ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง (น้อยกว่าพรรคประชาชาติ)

 

 

 

4) นักวิชาการประวัติศาสตร์ค่ายท่าพระจันทร์ อธิบายโดยมองข้ามไปอีกช็อตว่า เป็นไปไม่ได้ที่ สว.จะไม่สนับสนุนการโหวตนายกฯ หรือการจัดตั้งรัฐบาลจากทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย โดยการไปโหวตเลือกนายกฯ จากขั้วอำนาจเดิม หรือรัฐบาลเดิม เพราะนั่นเท่ากับ สว.สนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย [พลังประชารัฐ (40)+ภูมิใจไทย (71)+ประชาธิปัตย์ (25) รวมไทยสร้างชาติ (36) ชาติไทยพัฒนา (10) = 182 เสียง] (ยกเว้นมีการซื้องูเห่ามาเติมตามที่เป็นข่าว)

 

 

 

5) อีกสูตรความเป็นไปได้ นั่นคือ ก้าวไกลและเพื่อไทยเกิดรอยร้าวหนัก หรือตกลงเรื่องตำแหน่งประธานสภาฯ กันไม่ได้ และเป็นเหตุให้ "พิธา" ไม่ได้ไปต่อ โอกาสที่พรรคก้าวไกลจะออกไปทำหน้าที่ฝ่ายค้านสูง หากการเมืองถูกบีบมาถึงจุดนี้ ทางเพื่อไทยก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากหันไปดึงขั้วเดิมมาร่วมจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งสูตรนี้เพื่อไทยจะได้เสียงสนับสนุนจาก สว.ในการโหวตนายกฯ แน่ แต่จะเป็นเกมเสี่ยงว่า ใครจะเป็นนายกฯ ระหว่าง "อุ๊งอิ๊ง" "ลุงป้อม" หรือ "อนุทิน" 

 

 

 

6) การที่เพื่อไทยเลือกฉีก MOU ไปจับมือกับขั้ว "ลุง" จะขาดความชอบธรรม และทำให้ภาพลักษณ์พรรคเสียหาย อีกทั้งจะต้องอธิบายกับสังคม ซึ่งเพื่อไทยคงไม่ลืมว่าช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ประโยคที่ว่า "มีเราไม่มีลุง" ยังก้องกังวานหูและทรงอิทธิพลต่อโหวตเตอร์คนรุ่นใหม่จนกระทั่งเวลานี้  ฉะนั้นไม่ใช่ทางเลือกที่เพื่อไทยควรจะเลือก เนื่องจากไม่เป็นคุณต่อพรรคในระยะยาว ก้าวไกลเองก็ใช่ว่าจะแฮปปี้ ทั้งยังมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความวุ่นวายหรือเกิดม็อบตามมา ซึ่งชนชั้นนำก็คงไม่พึงพอใจกับทางเลือกนี้

 

 

 

7) นอกจากนั้นต้องไม่ลืมว่าโหวตเตอร์ซึ่งเป็นฐานเสียงของฝ่ายประชาธิปไตย โดยเฉพาะก้าวไกลและเพื่อไทยได้ลุกขึ้นแสดงตนและก้าวย่างอยู่บนกระแสประชาธิปไตยที่แน่วแน่ ขึ้นอยู่กับว่าพรรคไหนจะแสดงจุดยืนได้ชัดเจนมากกว่ากัน หากปล่อยให้พรรคก้าวไกลไปทำการเมืองในบทบาทฝ่ายค้าน โดยที่เพื่อไทยย่ำอยู่กับการเมืองรูปแบบเดิม โอกาสถูกตรวจสอบอย่างหนักหน่วง ซึ่งบทบาทประธานสภาฯ จึงมีความสำคัญมาก

 

 

 

8) ทางออกที่ประนีประนอมมากที่สุด และเป็นที่ยอมรับสำหรับทุกฝ่ายก็คือ ประธานสภาฯ มาจากพรรคก้าวไกล แต่เมื่อ "พิธา" ไม่ได้ไปต่อ ก็เปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาโหวตแคนดิเดตนายกฯ จากเพื่อไทย ซึ่งอาจารจารย์ประจักษ์เชื่อว่า สว.จะยอมโหวตให้ และทั้งสองพรรคจะยังร่วมรัฐบาลในนาม 8 พรรคร่วมต่อไป ซึ่งทางออกนี้โอกาสจะเกิดความวุ่นวายมีน้อย ที่สำคัญชนชั้นนำน่าจะยอมรับได้มากที่สุด

 

 

 

9) คำถามก็คือว่าการที่ก้าวไกลเป็นแค่พรรคร่วมหรือเป็นรองเพื่อไทยในรัฐบาลจะมีผลดีอย่างไร ในมุมมองชนชั้นนำ อย่างน้อยก็เป็นการสกัดก้าวไกลไม่ให้โตเร็วไปกว่านี้ และหยุดความร้อนแรงของ "พิธา" ที่จะก้าวขึ้นตำแหน่งนายกฯ เพราะต้องไม่ลืมว่าการเป็นผู้นำประเทศนั้นมีทั้งอำนาจและการเป็นตัวแทนประเทศ ซึ่งจะเป็นภาพจำของผู้คน หาก "พิธา" ได้เป็นนายกฯ กระแสจะยิ่งพุ่งทะยานจนฉุดไม่อยู่ 

 

 

 

10) เมื่อชนชั้นนำและคนจำนวนไม่น้อยไม่ต้องการเห็นม็อบลงถนน โอกาสจึงไปตกอยู่กับเพื่อไทยในการเป็นแกนนำการจัดตั้งรัฐบาล ขึ้นอยู่ที่ว่าทั้งสองพรรคจะทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นหรือไม่ และว่าที่นายกฯ คนที่ 30 ซึ่งไม่ได้มาจากพรรคก้าวไกลที่ได้คะแนนอันดับ 1 จะเป็นผู้นำที่สามารถสร้างการยอมรับได้มากน้อยแค่ไหน 

 

ข่าวยอดนิยม