ป.ป.ช. รับ 'พิธา'ยื่นบัญชี หุ้นไอทีวี ฉลุย - ส่วนตีความคุณสมบัติขึ้นกับ กกต.
เลขาธิการ "ป.ป.ช." สรุปข้อมูล กรณีการถือหุ้นบริษัทไอทีวี "หุ้นไอทีวี " ของ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ " เป็นการยื่นมาในชื่อของเจ้าตัว ระบุจำนวน 42,000 หุ้น ย้ำภารกิจของ ป.ป.ช. คือตรวจสอบทรัพย์สิน ส่วนทรัพย์สินจะส่งผลให้ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามขึ้นกับ กกต.
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือ เลขาธิการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า การยื่นบัญชีทรัพย์สิน กรณีการถือหุ้นบริษัทไอทีวีจำกัด(มหาชน) หุ้นไอทีวี ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เป็นการยื่นมาในชื่อของนายพิธา โดยระบุจำนวนหุ้น 42,000 หุ้น ไม่มั่นใจว่ายื่นมาในฐานะอะไร ต้องรอการตรวจสอบก่อน ส่วนหุ้นที่ยื่นมาเป็นหุ้นของสื่อมวลชนหรือไม่นั้น ภารกิจกิจของ ป.ป.ช.มีหน้าที่อย่างเดียว คือการตรวจสอบความถูกต้องการมีอยู่จริงของทรัพย์สิน เรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามไม่ใช่หน้าที่ของ ป.ป.ช.
ดังนั้นเมื่อมีอยู่แล้วยื่นไม่ได้ปกปิดก็ถือว่าเรียบร้อย แต่ถ้าไม่ยื่นทั้ง ๆ ที่เป็นของตัวเอง อันนี้จะเข้าข่ายจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สิน ส่วนทรัพย์สินนั้นจะส่งผลให้ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างไร ไม่ใช่หน้าที่ป.ป.ช. แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถขอข้อมูลมาเป็นหลักฐาน ประกอบการพิจารณาได้ เอกสารที่ยื่นมาเป็นใบหุ้น "หุ้นไอทีวี" ซึ่งระบุประเภทกิจการอยู่แล้ว แต่ไม่มั่นใจในเรื่องของวัตถุประสงค์ ของบริษัทที่ถือหุ้นว่าได้ระบุไว้หรือไม่ ซึ่งกกต.สามารถขอเอกสารมาเป็นหลักฐานในการพิจารณา จาก "ป.ป.ช." ได้
นายนิวัติไชย กล่าวว่า การยื่นบัญชีทรัพย์สินเพิ่มเติมเข้ามาภายหลังรับตำแหน่ง ต้องดูข้อเท็จจริง ว่ามีเจตนาอย่างไร ยังไม่สามารถตอบได้ว่า การไม่ยื่นช่วงรับตำแหน่งมีความผิดหรือไม่ แต่กรณีพ้นจากสส.ล่าสุดได้ยื่นแล้ว และยืนยันว่า กรณีที่นายพิธายื่นเพิ่มเติม เข้ามา เป็นการเกิดขึ้นก่อน ไม่ได้มายื่นในช่วงที่มีประเด็น " การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน นายพิธา กรณีพ้นจากตำแหน่งสส.เมื่อวันที่ 20 มี.ค.ขณะนี้อยู่ระหว่างการทยอยเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน ของสส.ที่พ้นจากตำแหน่ง คาดว่าจะมีการเปิดเผยได้เร็ว ๆ นี้ "
เขา กล่าวว่า ที่มีกระแสข่าวว่า นายพิธา ได้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินภายในบริษัทของธุรกิจในครอบครัว กว่า 117 ล้านบาท ว่า ยังไม่แน่ใจว่านายพิธาได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินในส่วนนี้มาหรือไม่ แต่พบว่ามี 1 รายการ เป็นเรื่องของการค้ำประกันเงินกู้ ขอเวลาไปตรวจสอบก่อนว่าเป็นตัวเดียวกันหรือไม่ ทั้งนี้หากมีการค้ำประกันเงินกู้ แล้วไม่ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินหรือหนี้สินจะมีผลทางกฎหมายหรือไม่
ขอชี้แจงว่าการค้ำประกันไม่ถือเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจริง เป็นเพียงสิทธิที่ลูกหนี้หากผิดนัดเจ้าหนี้ก็จะไปเรียกร้องกับผู้ค้ำประกัน ซึ่งอาจจะเกิดหนี้ในตอนนั้น และผู้ค้ำประกันจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งตอนนี้เป็นเพียงแค่การค้ำประกัน โดยในกรณีนี้ต้องพิจารณาว่าการค้ำประกัน เป็นประเด็นที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินหรือไม่ ซึ่งกรณีการค้ำประกันที่ยื่นเข้ามานี้ อาจจะเป็นกรณี ยื่นเมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่ง แต่ต้องขอเวลาไปตรวจสอบอีกครั้ง
ส่วนจะต้องเชิญนายพิธา มาชี้แจงหรือไม่ เรื่องนี้เป็นเรื่อง การตรวจสอบบัญชีตามปกติที่ยื่นเข้ามา ซึ่งป.ป.ช.มีการตรวจสอบอยู่แล้ว และที่สำคัญขนาดนี้ยังไม่เห็นคำร้องที่ยื่นมาให้ตรวจสอบ บัญชีทรัพย์สินหนี้สินของนายพิธา
.
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก พรรคก้าวไกล