ข่าว

'พรรคไทยสร้างไทย' ดัน 7 นโยบายเพศเท่าเทียม ชี้กฎหมายยังล้าหลัง

'พรรคไทยสร้างไทย' ดัน 7 นโยบายเพศเท่าเทียม ชี้กฎหมายยังล้าหลัง

03 มิ.ย. 2566

'พรรคไทยสร้างไทย' เตรียมผลักดัน 7 นโยบายเพศเท่าเทียม เผยประเทศไทยสวรรค์กลุ่มLGBTQ+ แต่กฎหมายยังล้าหลัง พร้อมเชิญชวนร่วมงาน 'บางกอกไพรด์ 2023' แสดงจุดยืนหนุนความหลากหลายทางเพศแ หยุดเเลือกปฏิบัติ

พรรคไทยสร้างไทยสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ นำโดยทวีชัย วงศ์ไพโรจน์กุล รองโฆษกพรรคและคณะทำงานด้านความหลากหลายทางเพศ มุ่งมั่นต่อสู้เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม

 

 

ตามหลักการใหญ่ของพรรคที่ว่าด้วยการ Liberate & Empower เพื่อไม่ให้ Pride Month ในสังคมไทยเป็นเพียงอุตสาหกรรมสีรุ้งที่ไร้การเหลียวแลอย่างจริงจังต่อไป คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย มีแนวคิดที่จะผลักดันงานไพรด์ให้ไปสู่งานระดับโลก World Pride  

สำหรับนโยบายพรรคไทยสร้างไทย ประกอบด้วย 

1.พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม 

2.พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศ

3.พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล 

4.สวัสดิการด้านฮอร์โมน เพิ่มวันลาและสิทธิการผ่าตัดข้ามเพศ 

5.ปรับหลักสูตรการศึกษาให้เป็น Gender inclusive เด็กและเยาวชนเข้าถึงการศึกษาเรื่องเพศที่สนับสนุนความเท่าเทียม และเสริมความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศที่ถูกต้อง สร้างความเข้าใจในครอบครัว ลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นกับ LGBT ในครอบครัว 

6.Sex toy ถูกกฎหมาย

7.Sex Worker ไม่ผิดกฎหมาย เป็นแรงงานที่ได้รับความคุ้มครองตามสิทธิ 

ทวีชัย เชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกเพศทุกวัยที่รักความเท่าเทียม รักสิทธิเสรีภาพ สนับสนุนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ร่วมกับพรรคไทยสร้างไทย ในกิจกรรม "บางกอกไพรด์2023" ที่จะจัดขึ้น วันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน 2566 โดยขบวนของพรรค จะเริ่มตั้งที่ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) เพื่อแสดงจุดยืนว่า เราเคารพและสนับสนุนผู้มีความหลากหลายทางเพศ และขอรณรงค์ให้ยุติความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติจากเพศสภาพ เพื่อให้สังคมได้กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยต่อทุกคนอย่างแท้จริง 

 

 

ทวีชัย กล่าวว่า ทุกวันนี้ แม้สังคมจะแง้มประตูโอบรับความแตกต่างหลากหลายบ้าง แต่ยังคงไม่มากพอที่จะโอบรับในทุกมิติ ตามที่หลายคนเรียกประเทศไทยของเราว่า เป็น สวรรค์ของชาว LGBTQ+ หลายองค์กรหลายหน่วยงานหันมาโบกสะบัดธงรุ้งในเดือนแห่งความภาคภูมิใจนี้ แต่ในตัวบทกฎหมายสำคัญหลายมาตรา ยังไม่ก้าวหน้าไปไหน และยังไม่ได้ยอมรับความเท่าเทียมอย่างแท้จริง เช่น สมรสเท่าเทียมยังคงต้องถูกพิจารณาในวาระถัดไป